• โรคลมร้อน หรือฮีตสโตรก (Heat Stroke) เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้
  • อาการของ "ฮีตสโตรก" หากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลกระทบที่รุนแรง
  • วิธีการปฐมพยาบาลผู้ป่วย "โรคลมร้อน" 

ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ได้ก้าวเข้าสู่ "ฤดูร้อน" อย่างเต็มตัวแล้ว โดยในปีนี้ "กรมอุตุนิยมวิทยา" คาดว่า อุณหภูมิสูงสุดในช่วงฤดูร้อนของปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 40-43 องศาเซลเซียส รวมทั้งมีประเด็นใหญ่ที่ทำให้ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เมื่อมีคนป่วยแล้วเสียชีวิตด้วย โรคลมร้อน หรือฮีตสโตรก (Heat Stroke)

นพ.กิตติภูมิฐ์ กวินโชติไพศาล แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ศูนย์บริการผู้ป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ (Emergency Room) โรงพยาบาลนวเวช เผยว่า ฮีตสโตรกเป็นภาวะวิกฤติที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก

...

ทั้งนี้ หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการ หรือร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อซึ่งหากได้รับการรักษาที่ล่าช้า ก็มีอันตรายถึงชีวิตได้

อาการของโรคลมร้อน

  • ไข้สูง 40 องศาเซลเซียส
  • ปวดศีรษะ หน้ามืด อ่อนเพลีย
  • อาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ชักเกร็งกระตุก เพ้อ เดินเซ พูดจาสับสน หมดสติ
  • อาการผิดปกติทางระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้ความดันโลหิตต่ำ หายใจเร็ว มีการคั่งของของเหลวในปอด หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • อาการผิดปกติทางผิวหนัง ไม่สามารถระบายความร้อนได้ ไม่มีเหงื่อออก
  • อาการผิดปกติทางระบบขับถ่าย อาจพบปัสสาวะสีเข้มเนื่องจากภาวะกล้ามเนื้อสลายตัว ทำให้เกิดภาวะไตวายตามมาได้ 

สาเหตุของ "โรคลมร้อน"

1. Classical Heat Stroke เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่มีมากเกินไป โดยมักเกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน อยู่ในบ้านที่ปิดมิดไม่มีที่ระบายอากาศ พบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากและมีโรคเรื้อรัง ไม่สามารถระบายความร้อนได้ด้วยตัวเอง เช่น ไม่สามารถไปในพื้นที่ที่เย็น หรือไม่สามารถหาน้ำดื่มเพื่อระบายความร้อนได้ อาการที่สำคัญ คือ อุณหภูมิร่างกายสูง ไม่มีเหงื่อ

2. Exertional Heat Stroke เกิดจากการออกกำลังที่หักโหมเกินไป มักจะเกิดในหน้าร้อนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานและนักกรีฑา อาการคล้ายกับ Classical Heat Stroke โดยที่กลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเหงื่อออกมากต่อมาเหงื่อจะหยุดออก

นอกจากนี้ ยังพบการเกิดการสลายเซลล์กล้ามเนื้อลาย โดยจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และพบไมโอโกลบินในปัสสาวะ เกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน หมดสติ ชักเกร็งกระตุก

วิธีการปฐมพยาบาล

หากผู้ป่วยหมดสติ เรียกแล้วไม่ตอบสนอง ไม่หายใจ ให้ทำการโทรเรียกรถพยาบาลและทำการนวดหัวใจ (CPR) หากผู้ป่วยที่ยังรู้สึกตัวที่ปกติอยู่ ให้นำผู้ป่วยเข้ามาในที่ร่ม ดื่มน้ำให้เยอะๆ รีบลดอุณหภูมิร่างกาย ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ เปิดพัดลมเพื่อระบายอากาศ ร่วมกับการใช้การพ่นละอองน้ำเพื่อระบายความร้อน

การป้องกันโรคลมร้อน

  • ในสภาพอากาศที่ร้อน ควรเตรียมออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายปรับสภาพให้เคยชินกับสภาพอากาศที่ร้อน โดยควรออกกำลังกายกลางแจ้ง อย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง 4 วันต่อสัปดาห์
  • ควรดื่มน้ำบ่อยๆ วันละ 6-8 แก้วเป็นอย่างน้อย หากต้องทำงานอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน หรือออกกำลังกายในสภาพที่ร้อน ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 1 ลิตรต่อชั่วโมง
  • หากจำเป็นต้องอยู่ในอาคารที่ร้อน ควรเปิดหน้าต่าง ประตู เพื่อระบายอากาศ เปิดพัดลม อย่าอยู่ในที่อับหรือห้องที่ปิด
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน บาง น้ำหนักเบา เพื่อทำให้สามารถระบายความร้อนได้ดี
  • หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดหรือออกกำลังกายกลางแจ้งในวันที่มีอากาศร้อนจัด
  • หลีกเลี่ยงทานยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก เนื่องจากทำใหร่างกายขับเหงื่อได้น้อยลง
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และยาเสพติดทุกชนิด
  • เด็กเล็กและผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองไม่ จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องอาศัย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ระบายอากาศได้ดี ไม่ปล่อยให้อยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง

สุดท้ายนี้ ประชาชนควรปรับเวลา หรือลดเวลาการมีกิจกรรมทางกายกลางแจ้งในช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัด เช่น ทำกิจกรรมทางกายในช่วงเช้าและช่วงเย็น หรือเลือกทำกิจกรรมในอาคารหรือในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และควรสวมชุดที่ระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออีกด้วย.

ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ

กราฟิก : CHONTICHA PINIJROB