คุณหมอ เผย RSV ระบาดต่อเนื่องในเด็ก ล่าสุดพบเสียชีวิตแล้ว 1 ราย ห่วงเด็กเล็ก-มีโรคประจำตัว เนื่องจากไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน พร้อมแนะนำวิธีการดูแลเบื้องต้น



วันที่ 13 กันยายน 2565 นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า สุดยื้อ RSV เสียชีวิตแล้ว 1 คน เป็นการเปิดเกมในฤดูระบาดในเมืองโคราชที่โหดมาก กลุ่มที่มีโรคประจำตัวอย่างเช่นเคสนี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะอาการรุนแรงมาก ถ้าไม่หยุดการระบาดนี้ เคสที่ 2, 3, 4 ตามมาแน่นอน เพราะเรามีเด็กที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง รักษาอยู่เป็นจำนวนมาก และกลุ่มนี้ก็ได้รับผลกระทบโดยตรง

ใครบ้างที่เสี่ยงเจออาการรุนแรง

  • อายุน้อยกว่า 1 ปี
  • โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง
  • โรคหัวใจแต่กำเนิด
  • โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ
  • โรคระบบประสาทผิดปกติ
  • โรคความผิดปกติ ทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม

สำหรับเด็กโตที่ไปโรงเรียน อาจไม่มีปัญหาเป็นเพียงแค่หวัดเล็กน้อย หรือ ไอ มีเสมหะมาก แต่หากเด็กเหล่านี้นำเชื้อกลับไปติดเด็กในกลุ่มดังกล่าว คงไม่ต้องบรรยายต่อเลย ส่วนคุณผู้ปกครองท่านใดที่ลูกเคยป่วยด้วยเชื้อนี้แล้ว คงจะทราบดีว่า เด็กจะได้รับความทุกข์ทรมานมากขนาดไหน หากอาการรุนแรง ตอนช่วงยุคโควิดระบาด เรายังไม่เจอเด็กที่เสียชีวิต หรือได้รับความเจ็บป่วยอย่างทุกข์ทรมาน จากระบบหายใจล้มเหลวบ่อยเท่าช่วงนี้

โควิดจางลงไปแล้ว ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเราละเลยการป้องกัน แล้วปล่อยให้เชื้อไวรัสในระบบหายใจ อย่างเช่น RSV ระบาดแบบนี้ เด็กในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว รวมถึงผู้สูงอายุ ก็มีความเสี่ยงที่จะป่วยอาการรุนแรง และเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน

...

ปัจจุบันเชื้อตัวนี้ อยู่กับเรามาหลายสิบปี ยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการประคับประคองล้วนๆ ส่วนการป้องกันก็แบบเดิมนี่แหละครับ สวมหน้ากากล้างมือ ไม่ปล่อยให้เด็กที่ป่วยมีไข้ไม่สบาย เข้าไปในเนอสเซอรี่ ส่วนเด็กโตที่ป่วยหรือไม่สบาย คนสวมหน้ากากล้างมือ และไม่ไปสัมผัสเด็กเล็กหรือเด็กที่มีความเสี่ยง ต่อการติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง

ขอให้ทุกท่านช่วยกัน เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการระบาดเขาเริ่มขยับแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ประชาชนแบบพวกเราทุกคนที่ต้องตระหนักเรื่องนี้ หากโพสต์นี้สร้างความกลัวให้กับใครก็ตาม ต้องขออภัยด้วย แต่คิดว่านี่คือความจริงที่ต้องตีแผ่และควรได้รับรู้ เพื่อให้ทุกคนตระหนัก จะช่วยกันสำหรับสถานการณ์นี้ ขอให้ทุกๆ ท่านโชคดีรอดพ้น ช่วงเวลาของการระบาดนี้

ทั้งนี้ นพ.จิรรุจน์ ชมเชย ยังได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลบุตรหลาน โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 2 ปี หากสงสัยว่าติดเชื้อ RSV ดังนี้

1. พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดน้ำมูกทุกชนิด เพราะยาจะทำให้น้ำมูกเหนียวและเสมหะเหนียว หากมีการติดเชื้อในหลอดลม เสมหะจะมีปริมาณมากและเหนียว ทำให้ไอออกยากมากขึ้น และอาจเป็นสาเหตุให้ต้องไปนอนโรงพยาบาลพ่นยาและดูดเสมหะ

2. ในเด็กเล็กที่ป่วยและมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย RSV ชัดเจน หากอาการหลักอยู่ที่จมูกและคอหอย เช่น น้ำมูกมาก อาการไอส่วนใหญ่ จะเป็นจากน้ำมูกไหลลงคอ หากยังไม่หายใจหอบ ควรหลีกเลี่ยงการพ่นยาละอองฝอยโดยไม่จำเป็น เพราะละอองฝอยขนาดเล็กนี้ อาจเป็นเหตุนำพาเชื้อ จากโพรงจมูกส่วนบน ลงไปยังจมูกส่วนล่าง ผ่านการพ่นยา ยิ่งถ้าเด็กไม่ให้ความร่วมมือในการพ่น ร้องหรือสำลักระหว่างพ่นยา ก็ยิ่งมีโอกาสพาเชื้อลงสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง เว้นแต่มีอาการของหลอดลมหดเกร็ง หายใจมีเสียงวี้ด จากการตรวจร่างกาย อันนี้ก็อาจจำเป็นจะต้องใช้ยาพ่นละอองฝอย ซึ่งขอให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ผู้ดูแล ณ จุดนั้น สิ่งสำคัญนั่นคือ ควรเน้นเรื่องการเคลียร์น้ำมูกในโพรงจมูก

3. ในช่วงที่มีการติดเชื้อ อย่าให้ขาดน้ำเป็นเด็ดขาด พยายามดื่มน้ำหรือจิบน้ำให้บ่อยๆ เพราะภาวะขาดน้ำ จะยิ่งทำให้เสมหะแห้งและเหนียว ทำให้การไอเอาเสมหะออกมาทำได้ยาก อาจเป็นเหตุให้เด็กต้องไปรับการรักษาในโรงพยาบาล

4. จัดการกับภาวะไข้สูงอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่ของเด็กที่ติดเชื้อ RSV จุดเริ่มต้นมักมีอาการไข้สูง ซึ่งไข้ที่สูงจะเป็นเหตุให้มีกระบวนการเมตาบอลิซึมที่สูงขึ้น มีการเพิ่มขึ้นของ คาร์บอนไดออกไซด์ หากการหายใจได้ไม่ดี อันเนื่องมาจากทางเดินหายใจ อักเสบบวมเสมหะมากจากการติดเชื้อ การระบายก๊าซดังกล่าวจะทำได้แย่ลง และอาจทำให้อาการเด็กทรุดหนัก การลดไข้จึงเป็นสิ่งสำคัญ และควรรีบทำโดยเร็ว วิธีการก็คือพื้นฐานเลยครับ การเช็ดตัว การใช้ยาลดไข้ พาราเซตามอล ในขณะที่เหมาะสม จะสามารถบรรเทาอาการไข้ ช่วยลดความรุนแรงของตัวโรคลงได้

สำหรับ 4 ข้อนี้ เป็นหลักการพื้นฐานในการดูแลที่แนะนำผู้ป่วยและใช้มาตลอด ในระยะเวลานับ 10 ปี หากทำได้ทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้น มีอาการหายใจหอบมากขึ้น หายใจอกบุ๋ม กินได้น้อย ไม่ยอมกินโดยเฉพาะน้ำและนม แนะนำว่าควรไปพบแพทย์โดยด่วน.

ขอบคุณเฟซบุ๊ก Jiraruj Praise