หมอธีระ เผยผลวิจัย ผู้ป่วยลองโควิด มีปัญหาเรื่องการนอนหลับกว่า 50% ย้ำแยกตัว 5 วันไม่เพียงพอ ควรกักอย่างน้อย 7-10 วัน ก่อนกลับมาใช้ชีวิตปกติ ต้องไม่มีอาการ ตรวจ ATK ผลเป็นลบ

วันที่ 22 สิงหาคม 2565 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความอัปเดตเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุข้อความว่า 22 สิงหาคม 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 546,617 คน ตายเพิ่ม 860 คน รวมแล้วติดไป 600,799,656 คน เสียชีวิตรวม 6,471,687 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ไต้หวัน และอิตาลี เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.78 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.81

ขณะที่ สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค. จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

พร้อมอัปเดตแนวโน้มการระบาด ว่า ข้อมูลจาก Prof.Tom Wenseleers ประเทศเบลเยียม วิเคราะห์แนวโน้มการระบาดของหลายประเทศทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่า Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 น่าจะเบียด BA.5 ที่ครองการระบาดขณะนี้ได้ในช่วงหลายเดือนถัดจากนี้ไป ในขณะที่สายพันธุ์ย่อยที่เป็นลูกของ BA.5 อย่าง BA.5.2.1.7 นั้นพบมากขึ้นในบางประเทศ แต่ยังไม่เป็นที่น่ากังวล

Long COVID ในประเทศลักเซมเบิร์ก Fischer A และคณะจากลักเซมเบิร์ก ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อ Open Forum Infectious Diseases เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยทำการสำรวจเพื่อประเมินภาวะ Long COVID และผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ณ 12 เดือนหลังจากติดเชื้อ
สาระสำคัญ พบว่า โดยรวมแล้วพบว่ามีคนที่ประสบอาการผิดปกติอย่างน้อย 1 อาการ สูงถึงเกือบ 60% ทั้งนี้หากเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการ พบว่าประสบปัญหาราวหนึ่งในสาม แต่กลุ่มที่ติดเชื้อแล้วป่วยปานกลางหรือรุนแรงจะมีโอกาสเกิดปัญหามากกว่า

...

ที่น่าสนใจคือ ปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ (Poor sleep) นั้นพบบ่อยถึง 54.2% โดยพบได้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อทุกกลุ่มอาการ ไม่ว่าจะไม่มีอาการ (38.6%) อาการน้อย (54.1%) อาการปานกลาง หรืออาการมาก (63.8%) แม้กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาอาจไม่มากนัก แต่เป็นข้อมูลที่ย้ำเตือนให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

นอกจากนี้ ยังให้ความรู้เรื่องจำนวนวันในการแยกกักตัว กับเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยย้ำว่า ความรู้ทางการแพทย์พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่าการแยกตัว 5 วันนั้นไม่เพียงพอ มีงานวิจัยทั้งจากสหรัฐอเมริกา และจากสหราชอาณาจักร ที่ยืนยันให้เห็นชัดเจน 5 วัน มีความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อจะยังคงมีเชื้ออยู่และสามารถแพร่ให้คนรอบข้างได้นั้นสูงถึง 50-75% 7 วัน ความเสี่ยงยังคงสูงถึง 25-35% 10 วัน จะมีความเสี่ยงราว 10% และ หลัง 14 วันจะปลอดภัย

แต่การปฏิบัติตัวในชีวิตจริงนั้น แนวทางที่ยืดหยุ่นและเป็นไปได้สำหรับประชาชนคือ หากติดเชื้อหรือมีอาการ ควรแยกตัวอย่างน้อย 7-10 วัน และเมื่อครบ 7-10 วันแล้ว ก่อนออกมาใช้ชีวิต ทำงาน หรือศึกษาเล่าเรียน จำเป็นต้องแน่ใจว่าผ่าน 2 ข้อต่อไปนี้คือ ไม่มีอาการแล้ว ตรวจ ATK แล้วได้ผลเป็นลบ และควรป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องไปจนครบสองสัปดาห์

นี่คือสิ่งที่คนที่มีความรู้เท่าทันควรนำไปพิจารณา และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยรับรู้ถึงความเสี่ยงแต่ละระดับที่จะเกิดขึ้น และวางแผนเผชิญเหตุเมื่อเกิดปัญหา ขอให้ทบทวนบทเรียนในช่วงปีกว่าที่ผ่านมาให้ดีว่าเกิดอะไรขึ้น และเพราะเหตุใด

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat