หมอธีระวัฒน์ แชร์ประสบการณ์ติดโอมิครอน BA.4/5 เตือนประชาชนระวังตัว หลังโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มต้น มีการออกแพ็กเกจให้ซื้อยาต้านไวรัสเอง

วันที่ 11 ก.ค. 2565 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเล่าประสบการณ์การติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.4/5 ผ่านเฟซบุ๊ก "ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" โดยระบุว่า หมอเองติดไปแล้วตั้งแต่ 10 มิถุนายน และเช่นเดียวกับอีกหลายคน ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน แม้ว่าหลายคนจะฉีดเข็มที่สี่หรือห้าหรือหกไปแล้ว

พิสูจน์ว่า วัคซีนกัน “การติด” โอมิครอนไม่ดี โดยเฉพาะสายย่อยนี้ แต่อานิสงส์ของการฉีดวัคซีน “สามเข็ม โดยเข็มสุดท้ายเป็น mRNA” จะลดความเสี่ยงอาการหนักได้ แต่ถ้าอาการมากขึ้นอย่านิ่งนอนใจ

ถ้าฉีดเชื้อตายให้เริ่มนับใหม่ ถ้าฉีด AZ ต้องตามด้วย mRNA และถ้าจะให้หลีกเลี่ยงผลข้างเคียงของวัคซีนให้ได้มากที่สุดควรต้องฉีด "ชั้นผิวหนัง" 

สรุป บทเรียนจากเดือน มิ.ย.นี้ จากตัวเอง และรอบข้างที่ติด

1. อย่าเชื่อ ATK ถ้ายังขีดเดียว และมีอาการไม่สบายให้รีบแยกตัว

เริ่มฟ้าทะลายโจร อย่ากินตามฉลาก ให้เทียบว่ายี่ห้อนั้นมี แอนโดรกราโฟไลท์ เท่าไหร่ ให้ทาน = 60 มก. เช้า กลางวัน เย็น 5 วัน (ในเด็กทาน 10 มก. เช้า กลางวันเย็น 5 วัน เช่นกัน)
สังเกตตนเอง ถ้าเริ่มแย่ลง เอาไม่อยู่ให้เรียกเพื่อน ส่ง รพ. (ตลอดเดือน ก.ค. ถึงวันที่ 10 ก.ค.นี้ รพ. มักเต็ม รอคิวเพียบ!!)

2. ฟาวิพิราเวียร์อาจได้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยได้ อย่าชะล่าใจ

ตามที่คณะของเราได้เคยรายงานไปแล้วว่าเริ่มดื้อมานานพอควรแล้ว ทั้งนี้ แม้ว่ารักษาทันที ตั้งแต่วันแรก ใช้ยาถูกขนาด แต่รหัสพันธุกรรมตั้งแต่สมัยอัลฟา และเดลตา ผันแปรไปจากเดิมเยอะมาก และเมื่อรักษาไปครบห้าวันกลับไม่ได้ผล

อาการปอดบวมมากขึ้น โดยมีรหัสพันธุกรรมเปลี่ยนแปลงไปอีกมากและต้องทำการเปลี่ยนยาใช้ยาฉีด remdesivir

3. ห้ามชะล่าใจเด็ดขาด เมื่อไม่สบาย และคิดว่าอาการไม่หนัก ทั้งนี้คงจำกันได้ โควิดทำให้ออกซิเจนต่ำโดยไม่รู้ตัว (happy hypoxemia)

หมอเอง ต้องเดิน 6 นาที ความอิ่มตัวของออกซิเจนเริ่ม <96% และเหนื่อยล้ามาก จนต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาด้วยยาฉีด เพราะชะล่าใจว่าไม่น่าติด และทำงานได้มีแต่ fatique บ้าง จนอาการยกระดับขึ้นมากมาย

4. ติดสายย่อยทันสมัยนี้ไปแล้ว อย่าทะนงตัวว่ามีภูมิคุ้มกันทั้งสองแบบ คือจากวัคซีนที่เคยฉีดแล้วมีติดเชื้อตามธรรมชาติ เพราะโอมิครอนสายย่อยนี้ วัคซีนที่เคยฉีด รวมทั้งที่เคยติดโควิดมาก่อน เมื่อเจอกับโอมิครอนสายทันสมัยนี้ ภูมิคุ้มกันจะไปต่อสู้กับสายเดิมตั้งแต่อู่ฮั่น อังกฤษ เดลตา ภูมิต่อโอไมครอนขึ้นน้อยมาก จนถูกขนานนามว่า สามารถทำให้เกิด hybrid immune damp คือ "ภูมิเดี้ยงไปเลย"

5. “อาจ” สบายใจได้ประมาณ 2-3 เดือน (ถ้าโชคดี) และเตรียมตัวติดใหม่ได้ คนที่ติดโอมิครอน BA.1/2 ไปหยกๆ อาจติด 4/5 ได้เลย ไม่ต้องรอ 2-3 เดือน

6. รายงานจากต่างประเทศจะว่าลองโควิดจากโอมิครอนน่าจะน้อยกว่าโควิดก่อนหน้า แต่ทั้งนี้เป็นโอมิครอนสมัยแรก และสายย่อยใหม่นี้ ถ้าติดซ้ำซ้อนหลายครั้งจะเกิดอะไรขึ้นกับลองโควิด

7. ประมาณกันว่าภายในเดือนกันยายนตุลาคมนี้โควิดน่าจะปรับเปลี่ยน ทั้งนี้เป็นโอมิครอนสายย่อยใหม่ หรือเป็นสายใหม่ หรือเรียกง่ายๆ แล้วกันว่า สายทันสมัยกว่า

สรุปว่า : ถ้าไม่ติดได้จะเป็นดี หรือถ้า “ซวย” ติดไปแล้ว หัวใจสำคัญ รักษาเร็วที่สุดให้หายเร็วที่สุดเพื่อกันลองโควิด

ข้อสังเกต: ยาต้านไวรัส molnupiravir ยังใช้กันได้ paxlovid ในบางราย ระวัง rebound ดูหายแลัว ไวรัสปะทุใหม่ และติดคนอื่นต่อได้

ยาต้าน ในเดือนกรกฎาคมนี้ หลาย รพ.ไม่ให้เบิก เป็นขายแล้ว molnupiravir ชุดละเป็นหมื่น

นอกจากนี้ หมอธีระวัฒน์ ยังได้โพสต์ด้วยว่า ตอนนี้โรงพยาบาลหลายแห่งออกแพ็กเกจมาให้ซื้อยาต้านไวรัสเอง เพราะเหมือนต้องรับผิดชอบตัวเอง ซึ่งถ้าติดแล้วอาจจะไม่ง่าย ไม่เบาอย่างที่คิดเสมอไป ทั้งความหนักหนาของโรค ไปจนถึงการหาโรงพยาบาล หากมีอาการมากขึ้น 

...

และว่า ควรหาฟ้าทะลายโจรติดตัวไว้ อย่างน้อยหยิบฉวยได้ทันที เมื่อมีอาการไม่สบาย อย่ารอให้ 2 ขีดขึ้น.

ที่มาจาก เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha