• "เศร้า" ภาวะทางอารมณ์ ที่เกิดได้กับทุกคน ซึ่งไม่ใช่อาการป่วย "โรคซึมเศร้า"
  • ช่วงวัยที่พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากที่สุดคือ วัยรุ่น และวัยทำงาน ขณะที่คนในช่วงวัยอื่นๆ มีภาวะเสี่ยงที่จะเป็น “ซึมเศร้า” ได้เช่นกัน อาทิ ผู้ป่วยสูงอายุ, ผู้ป่วยเรื้อรัง และ ผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์
  • ประเมินตัวเองเบื้องต้น ก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยอาการ ส่งตรวจเพิ่มเติม เพื่อยืนยันการวินิจฉัยที่แน่นอน

“เศร้า” เป็นภาวะทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน ที่ผิดหวัง ไม่ประสบความสำเร็จ หรือแม้แต่ถูกดูดให้อินไปกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เมื่ออาการเศร้านั้นเกิดต่อเนื่อง และมีอาการอื่นร่วมได้ อาจต้องวินิจฉัยว่า จะเข้าเกณฑ์เป็น “โรคซึมเศร้า” หรือไม่ ซึ่ง “โรคซึมเศร้า” ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคทางจิตเวช ที่พบได้ทุกวัย ไม่ว่าจะเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน หรือคนชรา

จากสถิติพบว่า มีคนไทย ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ราว 2.2% หรือ ราว 1.5 ล้านคน ของประชากรทั้งหมด และข้อมูลที่น่าตกใจคือ มีคนที่ป่วยโรคซึมเศร้า มีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเองสำเร็จถึง 4,000 คนต่อปี ซึ่งบางครั้งเราอาจจะเคยได้ยินจากข่าวมาบ้างว่า คนเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษา หรือไม่ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง

...

พญ.กนกกาญจน์ วิโรจน์อุไรเรือง จิตแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จ.อุบลราชธานี เผยถึงปัจจัยที่ทำให้เกิด “โรคซึมเศร้า” ว่า สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ คือ สารสื่อประสาทในสมอง ที่ชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) หลั่งผิดปกติ, สภาพจิตใจ การกระตุ้นทางสังคม ความเครียดในการทำงาน ครอบครัว และ กรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นเพียงตัวพยากรณ์เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า คนที่มีกรรมพันธุ์เป็นโรคทางจิตเวช หรือโรคซึมเศร้า แล้วลูกหลานจะต้องป่วยเป็นโรคจิตเวช หรือโรคซึมเศร้าทุกคน เพียงแต่อยู่ในความเสี่ยง เหมือนเบาหวาน ความดัน ฯลฯ

ทั้งนี้ ช่วงวัยที่พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากที่สุดคือ วัยรุ่น และวัยทำงาน ขณะที่คนในช่วงวัยอื่นๆ ก็มีภาวะเสี่ยงที่จะเป็น “ซึมเศร้า” ได้เช่นกัน อาทิ ผู้ป่วยสูงอายุ, ผู้ป่วยเรื้อรัง และ ผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์

สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ภาวะซึมเศร้าอาจเกิดจากการที่หมดความภาคภูมิใจในตัวเอง หรือความมั่นใจในตัวเองน้อยลง จากคนที่เคยทำงานได้ ไปใช้ชีวิตนอกบ้าน แต่แล้ววันหนึ่งกลับพบว่าความสามารถในการพึ่งพาตัวเองน้อยลง รวมถึงความรู้สึกเป็น “ภาระ” จากที่เคยทำงานหาเงินได้ กลับต้องรอลูกหลานเลี้ยงดู และหากเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง ที่มีอาการแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็น นอนไม่หลับ ปวดตัว ปวดกระดูก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีระวิทยาในผู้สูงอายุ ก็ส่งผลต่อทางด้านอารมณ์ของผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน

แค่เศร้า หรือป่วยซึมเศร้า

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราแค่ “เศร้า” หรือเป็น “โรคซึมเศร้า” พญ.กนกกาญจน์ เผยว่า ทุกคนสามารถประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นของตัวเองได้ง่ายๆ ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า แบบทดสอบภาวะซึมเศร้า PHQ-9 ที่ออกแบบโดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ส่วนการวินิจฉัยนั้นจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อซักประวัติ รวมถึงส่งตรวจเพิ่มเติม เพื่อยืนยันการวินิจฉัยที่แน่นอน

โดยในแบบทดสอบภาวะซึมเศร้านี้ จะมีคำถามทั้งหมด 9 ข้อ เกี่ยวกับอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนี้

- เบื่อ ทำอะไรๆ ก็ไม่เพลิดเพลิน
- ไม่สบายใจ ซึมเศร้า หรือท้อแท้
- หลับยาก หรือหลับๆ ตื่นๆ หรือหลับมากไป
- เหนื่อยง่าย ไม่ค่อยมีแรง
- เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป
- รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดว่าตัวเองล้มเหลว หรือเป็นคนทำให้ตัวเอง หรือครอบครัวผิดหวัง
- สมาธิไม่ดีเวลาทำอะไร เช่น ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือทำงานที่ต้องใช้ความตั้งใจ
- พูดหรือทำอะไรช้าจนคนอื่นมองเห็น หรือกระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่งเหมือนเคย
- คิดทำร้ายตนเอง หรือคิดว่า ถ้าตายๆ ไปเสียคงจะดี

สามารถทดลองทำแบบทดสอบได้ ที่นี่


“ผู้ชาย” กับภาวะซึมเศร้า

ข้อมูลจาก www.thaidepression.com เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “โรคซึมเศร้า” ที่พัฒนาโดยโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต จ.อุบลราชธานี ร่วมกับ สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น เผยข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในผู้ชายว่า เพราะผู้ชายมีความเชื่อที่ว่า เป็นเพศที่เข้มแข็ง อ่อนแอไม่ได้ ทำให้ผู้ชายปฏิเสธที่จะยอมรับว่า ตัวเองเกิดภาวะซึมเศร้า จากนั้นก็จะหันไปพึ่งพาแอลกอฮอล์ ทำอะไรวู่วาม ระเบิดอารมณ์จากตัวเองเกิดการสูญเสีย และนำไปสู่การปลิดชีพตัวเอง ซึ่งผู้ชายมีโอกาสทำร้ายตัวเองสำเร็จมากกว่าผู้หญิงประมาณ 3-4 เท่า

ซึ่งหากแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างผู้ชาย และผู้หญิงเมื่อเกิดภาวะซึมเศร้านั้น ผู้ชายมักมีความรู้สึกโกรธ หงุดหงิด ระเบิดอารมณ์ ระแวง พักผ่อนน้อย ยากที่จะยอมรับหรือพูดถึงความสูญเสีย ความผิดหวัง หรือความอ่อนแอ ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเยียวยาตัวเอง และมีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเองสำเร็จ ฯลฯ

ขณะที่ผู้หญิงที่มีภาวะซึมเศร้า มีแนวโน้มที่จะปลิดชีพตัวเอง มากกว่าผู้ชาย 4 เท่า เศร้า โทษตัวเอง วิตกกังวล ตื่นกลัว หลีกเลี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้ง ทำอะไรช้าลง พูดถึงการสูญเสีย ความอ่อนแอได้ง่าย 


ผู้ป่วยซึมเศร้า มักทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น?

พญ.กนกกาญจน์ เผยว่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอบไม่ได้ เพราะส่วนมาก คนไข้ซึมเศร้า มักโทษตัวเอง ว่า ไม่ดี ไร้ค่า หมดหวังกับชีวิต และมักจะทำร้ายตัวเอง แต่บางคน อาจมีการทำร้ายคนอื่น ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับความเครียดที่ผู้ป่วยเผชิญ เหมือนที่เราเห็นจากหลายๆ ข่าวว่า พ่อหรือแม่เครียดจากปัญหาต่างๆ ทำร้ายคนอื่นในบ้าน สุดท้ายก็ทำร้ายตัวเอง เพราะไม่อยากให้ใครต้องมาแบกรับปัญหาแทนตัวเอง ซึ่งมันก็เป็นไปได้

จริงๆ หมอก็อยากฝากในเรื่องของการอธิบายรายละเอียดในการก่อเหตุรุนแรงบางครั้งเป็นเหมือนดาบสองคม ในแง่ดี เราสื่อสารให้สังคมได้รับทราบว่า เกิดอะไรขึ้น เพื่อให้ระวัง และดูแลตัวเอง แต่อีกมุมกลับสร้างพฤติกรรมเลียนแบบให้กับบางคน ซึ่งจริงๆ แล้ว การที่เขาทำร้ายตัวเอง อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเลยก็ได้ แต่แค่ต้องการระบายความเครียด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยซึมเศร้านั้น สามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการวินิจฉัยที่รวดเร็ว ซึ่งแพทย์จะทำการวินิจฉัยจากการสอบถามอาการ การใช้ชีวิตประจำวัน ผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยจะประเมินร่วมกับบุคลิกภาพที่สังเกตได้ และการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา ซึ่งหลังการประเมินโดยแพทย์ จะบอกได้ว่า ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยแนวทางใด.

ผู้เขียน : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun,Chonticha Pinijrob