- เปิดที่มา "โรคขี้เต็มท้อง" หรือเรียกอาการเหล่านี้ว่า "ภาวะท้องผูก"
- สาเหตุ "ท้องผูก" สามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัยหลัก
- บางคนสงสัย "ขับถ่ายทุกวัน แต่ทำไมหมอถึงยังบอกว่าท้องผูก"
กลายเป็นประเด็นที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เมื่อนักร้องสาวเสียงดี "ตุ๊กตา จมาพร" ที่แจ้งเกิดจากเวทีเดอะวอยซ์ซีซั่น 2 ออกมาแชร์ประสบการณ์ "ไม่ได้อ้วน แต่ป่วยเป็นโรคขี้เต็มท้อง" โดยเกิดขึ้นกับตัวเองโดยตรง จนมีอาการคลื่นไส้, เวียนหัว, กินข้าวไม่ค่อยได้, อาเจียนทุกวัน, หายใจติดขัด, มีลมออกเยอะ และอาการคล้ายคนแพ้ท้องแต่ไม่ได้ท้อง จนตัดสินใจไปพบแพทย์เฉพาะทาง ก็พบว่ามีอุจจาระอยู่เต็มท้อง
สำหรับประเด็นดังกล่าว มีคนสนใจอย่างมาก เนื่องจากลักษณะการป่วยที่เล่ามานั้น สามารถพบได้ทั่วไป แต่หลายคนกลับไม่คุ้นเคยกับชื่อ "โรคขี้เต็มท้อง"
นพ.สรวิชญ์ วิจิตรพรกุล ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดส่องกล้อง ได้อธิบายถึงประเด็นนี้ว่า จริงๆ เป็นโรคธรรมชาติ สมัยก่อนเราเรียกอาการเหล่านี้ว่า "ภาวะท้องผูก" หรือ "โรคท้องผูก" ปกติในลำไส้ใหญ่มนุษย์ทุกคน จะมีอุจจาระ หรือกากอาหารอยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกขับถ่ายออกทุกวัน บางคนถ่ายวันละครั้ง 2 ครั้ง หรือถ่าย 2 วันครั้ง ซึ่งตราบใดก็ตาม ที่การถ่ายอุจจาระออกมาไม่เป็นเรื่องยากลำบาก ก็จะเรียกว่าขับถ่ายเป็นปกติ
...
แต่พอมีอุจจาระที่คั่งค้างอยู่ในลำไส้นาน มันจะถูกดูดซึมน้ำออกไปตามธรรมชาติ ฉะนั้นเมื่อเก็บหมักหมมมานาน แล้วไม่ได้ถ่าย ก้อนอุจจาระที่ถูกดูดน้ำออกไปทุกวันก็จะแห้งหรือแข็งขึ้น พอแข็งขึ้นปัญหาคือ ทางเดินของมันปกติมีส่วนการหล่อลื่น ที่ช่วยการกระตุ้น พอมีกากอาหารเยอะในระดับหนึ่ง มันก็กระตุ้นให้เราอยากเข้าห้องน้ำเพื่อระบายออก แต่พอเราไม่ได้ระบายออกด้วยเหตุอะไรก็ตาม ก็จะทำให้ถ่ายยาก แล้วก็จะคั่งค้างอยู่ในท้องจนที่เรียกกันว่า "ขี้เต็มลำไส้"
แต่จริงๆ อุจจาระเต็มลำไส้นั้นเป็นทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าทุกวันสามารถระบายออก และรับของใหม่จากการกินได้ แต่พออัดแน่นมากๆ ก็จะมีอาการเหมือนประตูเขื่อนมันเต็มแล้วน้ำอัดอยู่ข้างใน คือ คลื่นไส้, พะอืดพะอม, กินไม่ลง และเบื่ออาหาร
โรคขี้เต็มท้อง = ภาวะท้องผูก
โรคขี้เต็มท้อง ก็คือ ภาวะท้องผูก ปกติแล้วลำไส้ของคนก็อุดมและอัดแน่นไปด้วยอุจจาระอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนถ้าเอกซเรย์ก็จะเห็นอุจจาระอยู่ในท้อง เพียงแต่บางคนมีมากจนอัดแน่น ระบายออกมาไม่ได้ กินของใหม่เข้าไปไม่ได้ อึดอัด, แน่น ก็คืออาการท้องผูก ไม่ได้เอาออกในช่วงเวลาที่ควรจะเอาออกนั้นเอง
สำหรับ "ลำไส้" จะอยู่บริเวณท้อง ซึ่งในช่องท้องของจะประกอบด้วยหลายอวัยวะ แต่อวัยวะที่อยู่เกือบเต็มพื้นที่ในช่องท้องเลย คือ "ลำไส้เล็ก" และ "ลำไส้ใหญ่" โดยลำไส้ใหญ่จะอยู่ชายขอบตั้งแต่ขอบข้างท้องมาถึงแถวใต้ชายโครง เป็นลำไส้ส่วนขวาง และลงไปยังขอบลำไส้ทางซ้ายของช่องท้อง จนมุดลงไปในอุ้งเชิงกรานที่เรียกว่า "ลำไส้ตรง" ที่เป็นแหล่งพักกากอาหาร และคอยกระตุ้นเส้นประสาทบริเวณนี้ให้รู้สึกอยากขับถ่าย ซึ่งเป็นที่มาของการอยากเข้าห้องน้ำ
ความรุนแรง "ภาวะท้องผูก" มีอาการยังไงบ้าง
มนุษย์เราทุกคนต้องกิน ต้องดื่ม บางคนกินมื้อเดียว บางคนกินสามมื้อ บางคนกินมากกว่าห้ามื้อต่อวัน แต่ทุกๆ ครั้งที่อาหารลงไป มันจะต้องมีทางออก เมื่อกินเข้าไปแล้วจะมีการดูดซึม การย่อยสุดท้ายก็จะออกมาเป็นกาก โดยผ่านกระเพาะอาหาร ลงมาที่ลำไส้เล็ก ดูดซึมสารอาหารที่เป็นประโยชน์กลับไปหมดแล้ว ปลายทางของกากอาหารทั้งหมดก็จะเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ อันนี้แหละก็คือกากอาหารที่จะค่อยๆ ลำเลียงผ่านไปคล้ายๆ กับหนอนรถด่วน ค่อยดันไปเรื่อยทีละนิดๆ จนสุดทางไปอยู่ที่ไส้ตรง พอไปค้างอยู่ตรงไส้ตรงเยอะๆ ก็ส่งกระแสประสาทไปกระตุ้นให้มีความรู้สึกว่า ต้องขับถ่ายระบายออกแล้ว แล้วก็ไปนั่งเข้าห้องน้ำ มันก็จะระบายออกมาเป็นก้อนๆ อาจจะเป็นก้อนเหลวหรือก้อนแข็ง ก็ขึ้นอยู่กับว่าน้ำถูกดูดซึมไปเยอะไหม เราเก็บค้างไว้นานไหม
แต่คนท้องเสียเมื่อกินอาหารเป็นพิษ จะถ่ายออกมาเหลว เพราะอาหารมีเชื้อโรค ถ้าอาหารมีเชื้อโรค มันจะผ่านลำไส้ ผ่านการบีบตัวอย่างรวดเร็ว โดยที่ยังไม่ทันได้ดูดซึมน้ำเก็บสักเท่าไร เมื่อมีเชื้อโรคอยู่ ร่างกายก็พยายามกำจัดเชื้อโรคให้เร็วที่สุด ด้วยการบีบให้อาเจียน นี่ คือเหตุว่า ทำไมลำไส้ยังไม่ทำหน้าที่ดูดซึมอะไรมากมาย ฉะนั้นอุจจาระที่ออกมาก็จะมีน้ำมากเป็นส่วนใหญ่
ตรงกันข้ามกับคนที่ท้องผูก เลเวลน้อยๆ อาจจะแค่ถ่าย 2-3 วันครั้ง พอรู้สึกอึดอัด ก็จะกินได้น้อย เวลาถ่ายก็อุจจาระจะแข็ง จนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ลำบากหรือสร้างความกังวล ทำให้ต้องนั่งนาน เวลาถ่ายเสร็จก็เจ็บก้น ถ้าเป็นมากกว่านั้น ก็จะนำไปสู่โรคริดสีดวงทวาร เช่น ถ่ายอุจจาระออกมามีเลือดปน, ถ่ายอุจจาระออกมามีก้อนยื่นอยู่แถวๆ บริเวณรอบรูทวารหนัก ทำให้ถ่ายออกมามีลักษณะอาการปวด หรือบางคนถ้าอุจจาระแข็งมาก ถ่ายออกมาก็จะไปบาด จนเป็นบาดแผลบริเวณรอบก้นเรียกว่า แผลบริเวณรอบรูทวารหนัก ก็เป็นปัญหาที่ตามติดมาจากอุจจาระแข็ง ถ่ายยาก หรือท้องผูก
ขณะที่บางคน อุจจาระแข็งมาก แข็งเป็นหิน เนื่องจากเก็บเอาไว้นาน จนน้ำมันดูดซึมไปหมด ทำให้เกิด อุจจาระไปอุดกั้นปลายทาง เสมือนว่าอาหารใหม่ก็ไม่สามารถทะลวงออกไปได้ คนที่เป็นมากก็อาจถึงขั้นลำไส้แตกทะลุได้ ถ้าหากโป่งพองมาก เหมือนมีอะไรไปอุดกั้นอยู่ส่วนปลาย แล้วส่วนต้นก็ไปทับถมลงไปเรื่อยๆ จนมันป่องออกๆ สุดท้ายก็ทำให้ลำไส้แตกได้ ซึ่งเป็นอันตราย อันนี้ถือเป็นอาการที่รุนแรงที่สุด แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่เกิดในคนธรรมดาทั่วไป อาจจะเกิดในคนที่อายุมาก เนื่องจากเรื่องของระบบประสาท การบีบตัว การเตือนมันน้อยลง
ขับถ่ายทุกวัน แต่ทำไมหมอถึงบอกว่าท้องผูก
บางคนบอกถ่ายทุกวัน แต่ทำไมหมอถึงบอกว่าท้องผูก สำหรับการจะบอกว่าท้องผูกหรือไม่นั้น จะดูที่ลักษณะของอุจจาระเป็นหลัก คำว่า ท้องผูก ทางการแพทย์เรียกว่า Constipation คือมีความยากลำบากในการขับถ่าย ซึ่งจริงๆ การขับถ่ายไม่ควรจะยาก เมื่อปวดท้องไปเข้าห้องน้ำ นั่งสักพักนึงก็ควรจะปล่อยออกมา แต่อะไรที่ต้องออกแรงเบ่ง เค้นจนหน้าดำหน้าแดง คือทุกครั้งที่ถ่ายต้องมีความทุกข์ยาก ถ่ายเสร็จแล้วเจ็บมาก กว่าจะเบ่งออกมาได้อุจจาระแข็งมาก อันนี้ถึงเรียกว่า ถ่ายแบบท้องผูก
ซึ่งใครๆ ก็เป็นได้ แต่อย่างบางคนถ่าย 2 วันครั้ง แต่ถ้าถ่ายอุจจาระนุ่มเป็นปกติ ก็แสดงว่าท้องไม่ผูก รวมทั้งการที่เราถ่ายทุกวัน ไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้ท้องผูก ตราบใดที่เราไม่มีปัญหาจากการถ่าย อุจจาระนั้นไม่สร้างปัญหา ไม่แข็ง หรือไม่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้เราถ่ายยาก อันนั้นเรียกว่าไม่ใช่ท้องผูก
สาเหตุท้องผูกเกิดได้ 2 ปัจจัยหลัก
1. ท้องผูกที่เกิดจาก มีการอุดกลั้นทางเดินอาหาร เช่น ในคนสูงอายุที่มีก้อนมะเร็ง หรือ ก้อนเนื้องอกที่อยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย พวกนั้นเขาก็จะถ่ายยากอยู่ตลอด เบ่งก็ยาก จะไม่ออก ออกก็นิดเดียว อันนี้เรียกว่า มีพยาธิสภาพในลำไส้ แล้วทำให้เกิดอาการท้องผูก หมายถึงมีอะไรที่ผิดปกติในส่วนของลำไส้ จนเป็นเหตุทำให้ถ่ายยาก เป็นต้น รวมไปถึงลักษณะของมุมลำไส้ใหญ่ที่แกว่งอยู่ในช่องท้องด้วย เช่น บางคนมุมมันแคบเกินไป มีพังผืดรัดจากการผ่าตัดครั้งเก่าก่อน ก็ทำให้เหมือนกับมันลงไม่สะดวก มุมมันเบียดไม่สะดวก ทำให้เกิดการถ่ายยาก เวลาเบ่งแล้วปวดท้อง
2. ท้องผูกจากลักษณะพฤติกรรม ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีพฤติกรรมหลายอย่าง อาทิ บ้านไหนนิยมทานเนื้อ ก็จะพบว่าคนในครอบครัวส่วนใหญ่ก็มักจะมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายเกือบทั้งบ้านเช่นกัน เนื่องจากทานกากอาหารน้อย เช่น ผักใบ, นม, ผลไม้ และจะสังเกตว่าบางครอบครัวก็จะทานแต่แป้ง คือ ข้าว ซึ่งมันก็จะเป็นตัวกระตุ้นทำให้มีแนวโน้มเกิดอาการท้องผูกได้ง่าย นอกจากอาหารที่ทานแล้ว ยังมีเรื่องพฤติกรรม เช่น ทานน้ำน้อย พอทานน้อยปัญหาคือน้ำถูกดูดซึมน้อย อุจจาระแห้งแข็งได้ง่ายขึ้น และพฤติกรรมบางอย่างที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้ถ่ายยาก ถ่ายแข็ง นอกจากผักใบ ผลไม้ ก็คือ อาหารแห้งๆ หรือทานเผ็ดๆ ของพวกนี้ไปสะสมก็จะเคลื่อนผ่านไปในลำไส้ได้ยาก มีแนวโน้มที่ทำให้เกิดปัญหาง่ายขึ้น
ปัจจุบันพบผู้ป่วยท้องผูกอยู่เรื่อยๆ แต่ต้องยอมรับว่า คนที่ปวดท้องน้อยๆ ท้องผูกไม่มาก มักจะไม่มาหาหมอ ทางเลือกพวกเขาใช้มักจะค้นหาข้อมูลเอง แล้วหาทางแก้เบื้องต้น จากนั้นก็ลองขอซื้อยาระบายอ่อนๆ ตามร้านขายยาทั่วไป ซึ่งคนกลุ่มใหญ่มักจะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยคนที่มาหาหมอมักมีอาการเยอะๆ แล้วหาทางแก้เองไม่ได้ ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มาหมอเร็วหน่อย คือเจอผลเสียที่เกิดขึ้นจากภาวะท้องผูก เช่น ถ่ายยากจนมีแผล, เจ็บที่ก้น, ถ่ายแล้วมีเลือด หรือบางคนถ่ายแล้วมีก้อนยื่นออกมา ก็จะมาหาเราเร็วขึ้น
แนะนำวิธีการรักษา
สิ่งที่จะแนะนำคนไข้ เนื่องจากส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากพฤติกรรม สิ่งที่เราจะให้คำแนะนำคือแก้ที่พฤติกรรม เพราะเป็นการแก้ที่ยั่งยืนที่สุด ฉะนั้นสิ่งที่จะแนะนำคือควานหาความเสี่ยง หรือพฤติกรรมที่สร้างปัญหาของเขา เช่น เป็นคนกินน้ำน้อย, รีบทำงาน, กินแต่ฟาสต์ฟู้ด, ชอบทานเนื้อ แต่เคี้ยวไม่ละเอียด ก็ทำให้ย่อยยาก กากอาหารก็จะเป็นชิ้นใหญ่, บางคนมีพฤติกรรมชอบอั้น ปวดท้องแต่ไม่ถ่าย ซึ่งการอั้นบ่อยๆ นั้น ลำไส้และร่างกายจะเกิดการเรียนรู้จนเคยชิน เป็นต้น นอกจากให้คำแนะนำแล้วก็ต้องให้ยา ซึ่งเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยการให้ยาระบายอ่อนๆ แต่เป็นวิจารณญาณของคุณหมอแต่ละท่าน ว่าจะให้ตัวยาชนิดไหน ตามความรุนแรงของท้องผูก เป็นต้น
อันนี้ถ้าแนะนำได้ จะเป็นประโยชน์ที่ให้คนไม่รู้ได้ระมัดระวังตัว เรื่องท้องผูกจากการสงสัยว่ามีก้อนเนื้อ อันนั้นเป็นเหตุที่มาว่าทำไมท้องผูกแล้ว ถ้าไม่ได้เป็นครั้งสองครั้งหายก็ควรจะไปพบแพทย์ ต้องไปตรวจหาสาเหตุและไปแก้ไข สำหรับความเข้าใจถือเป็นเรื่องสำคัญ ในอดีตหลายคนจะถูกสั่งสอนมาตลอดว่า กินข้าวแล้วกินน้ำเยอะๆ กินอาหารต้องครบห้าหมู่ หรือแม้แต่เรื่องของการขับถ่าย ปวดท้องก็ต้องไปเข้าห้องน้ำ แต่เนื่องจากไลฟ์สไตล์สังคมมันเปลี่ยนไป ทำให้เรื่องพวกนี้อาจจะไม่ได้รับความสนใจ หรือใส่ใจมากนัก เนื่องจากการทำงานเป็นปัจจัยสำคัญ
ดังนั้น คุณหมอขอแนะนำว่า สมมติหนึ่งวันเราทานอาหาร 3 มื้อ มื้อเช้ากินฟาสต์ฟู้ด มื้ออื่นก็ควรหาผักหรือผลไม้กินสักหน่อย หรือถ้าวันไหนยุ่งมากๆ สิ่งที่พอช่วยเรื่องขับถ่ายได้ก็คือ นม, โยเกิร์ต เพราะมีจุลินทรีย์ รวมทั้งทานน้ำให้เพิ่มมากขึ้น ส่วนสุขลักษณะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด "การเข้าห้องน้ำ" ย้ำอยู่เสมอว่าถ้าปวดก็ไปเข้า เพราะเวลาเป็นโรค เวลาไม่สบายตัวจะมีปัญหาตามมาเยอะ ต้องเสียเวลารักษาตัวไปหาหมอ ขับรถเพื่อไปนัด ซึ่งเป็นเรื่องที่เสียเวลากว่า และเสียอารมณ์ด้วย ฉะนั้นง่ายสุดแก้ที่ต้นทาง ถ้าปวดก็ไปเข้าก็จบ มันดีต่อสุขภาพด้วย เพราะอุจจาระที่ถูกระบายออก เราต้องถือว่าเป็นของเสีย การที่ของเสียคั่งค้างร่างกายอยู่มากๆ มันก็เกิดพิษ ทิ้งนานๆ อาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคต.
ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun