กรมควบคุมโรคเปิดข้อมูลหลังกระจายวัคซีน “ซิโนแวค” ไป 13 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังหลังฉีด 30 นาทีแล้วให้ติดตามต่ออีก 30 วัน รวมฉีดไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นคน มีอาการไม่พึงประสงค์ 828 คน ด้าน “หมอยง” ระบุหากจะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ไทยต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 50 ล้านคน ใช้วัคซีนร่วม 100 ล้านโดสต้องจัดหาเพิ่มอีกเพียบ ขณะที่บริษัทยามะกันเปิดผลวิจัยยารักษาโรคโควิด-19 “โมลนูพิราเวียร์” ได้ผลดี รอผลระยะสองเดือน พ.ค.นี้
หลังจากไทยจัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) “ซิโนแวค” จากประเทศจีน มาครบ 1 สัปดาห์ พบผู้มีอาการแพ้ประปราย ขณะเดียวกันก็ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศต่อเนื่อง
“ประยุทธ์” ย้ำไม่ปิดกั้นวัคซีน
เมื่อวันที่ 6 มี.ค.เวลา 08.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวในรายการ PM PODCAST นายกรัฐมนตรีเล่าเรื่องวัคซีนโควิด-19 ว่าเราถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้รับวัคซีนจากจีนคือซิโนแวค เป็นในเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่การบริจาค ส่วนอีก 8 แสนโดสและ 1 ล้านโดส จะทยอยเข้ามาในเดือนต่อๆไป เราได้ฉีดเข็มแรกแล้ว และกระจายวัคซีนไปยังเป้าหมาย 13 จังหวัด ประมาณ 116,000 โดส ทยอยฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 3,000 คน ในกลุ่มนี้พบมีอาการข้างเคียงหลังฉีดเล็กน้อยแก้ไขได้ ส่วนแผนการจัดหาวัคซีนระยะต่อไปได้จองกับแอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส และล่าสุด ครม.อนุมัติงบประมาณกว่า 6,300 ล้านบาท เพื่อจัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส ให้ครอบคลุมคนไทยครึ่งหนึ่ง อย่างน้อยภายในปี 2564 ส่วนภาคเอกชนที่ต้องการนำเข้าวัคซีน กระทรวงสาธารณสุข รัฐบาล ไม่ปิดกั้น แต่ต้องขออนุญาตนำเข้าและขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) เพราะอนุญาตให้ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น มีผู้ยื่นขอขึ้นทะเบียนแล้ว 4 รายคือ 1.บริษัท แอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด 2.องค์การเภสัชกรรม นำเข้าวัคซีนของซิโนแวค 3.บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก วัคซีน และ 4.บริษัทไบโอจีนีเทค จำกัด โดยวัคซีนของซิโนแวคและแอสตราเซเนกา ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว
...
ยันไม่มีวีไอพีลัดคิว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ประเด็นว่ามีการฉีดให้วีไอพีที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขการได้รับวัคซีนกลุ่มแรกที่ จ.เชียงใหม่นั้นยืนยันว่าไม่มีใครเป็นวีไอพี หน่วยงานแจ้งมาแล้วทุกคนที่ฉีดเป็นไปตามเกณฑ์ของทีมแพทย์ และเป็นรายชื่อที่ระบุให้มาฉีดตามนัด โดยเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เช่น ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ประธานสื่อมวลชน นายกสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สมาคมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เชียงใหม่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ขอให้ทุกคนสบายใจได้เดี๋ยววัคซีนลอตต่อไปจะเข้ามาอีก จะขยายไปให้ถึงประชาชนกลุ่มต่างๆ และพื้นที่การท่องเที่ยวด้วย โดยสรุปวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามานั้นจะช่วยให้สถานการณ์ ดีขึ้นตามลำดับควบคู่กับการควบคุมโรคของทีมแพทย์ ที่ตัวเลขน้อยลงถือว่าคลี่คลายไปตามลำดับ รวมถึงเรื่องการดูแลเศรษฐกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้กลับมาทำมาหากินโดยเร็ว และผมมีแผนจะออกไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนบ่อยๆ หลังจากสถานการณ์ ดีขึ้น เพื่อดูแลช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด
วัคซีนยังไม่พอต้องหาเพิ่ม
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงจำนวนผู้ฉีดวัคซีนเท่าไหร่ จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันกลุ่มว่าขึ้นอยู่กับว่าโรคนั้นติดต่อง่ายหรือยาก โควิด-19 มีอัตราการติดต่อปานกลาง เมื่อคำนวณภูมิคุ้มกันกลุ่มที่ต้องการจะพบว่าอยู่ประมาณร้อยละ 60 การให้วัคซีนโควิดประสิทธิภาพในการสร้างภูมิต้านทานไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ถ้าสมมติว่าวัคซีนโควิดมีการสร้างภูมิต้านทานป้องกันโรคได้ร้อยละ 80 จำนวนผู้ที่จะต้องฉีดวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันกลุ่มจะมากกว่าร้อยละ 60 ขึ้นไปอีก อยู่ที่กว่าร้อยละ 70 ดังนั้นการให้วัคซีนในประชากรไทยเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันกลุ่ม ในอนาคตจะต้องรวมเด็กด้วยและชาวต่างชาติทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทย คิดยอดรวมประมาณ 70 ล้านคน ภูมิต้านทานไม่ว่าจะจากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีนที่เกิดขึ้นต้องเกือบ 50 ล้านคน ดังนั้นความต้องการในการฉีดวัคซีนทั้งประเทศ ถ้าคนละ 2 เข็ม วัคซีนที่จะต้องใช้ร่วม 100 ล้านโดส ถ้าขณะนี้ยังไม่นับเด็ก จะต้องใช้ถึง 85 ล้านโดส ประเทศไทยเตรียมวัคซีนไว้ประมาณ 63 ล้านโดส จึงยังไม่เพียงพอ ยังต้องมีการหาเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก
พบอาการไม่พึงประสงค์
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กระจายวัคซีนไปยังพื้นที่เสี่ยงใน 13 จังหวัดแล้ว และฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องมาประมาณหนึ่งสัปดาห์ ได้รับรายงานอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนประปรายในบางพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีนจะมีความปลอดภัย แต่อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องเฝ้าระวังอาการหลังฉีด 30 นาที โดยหลังรับวัคซีนจะมีการสังเกตอาการเพื่อดูว่ามีการแพ้วัคซีนหรือไม่ ซึ่งปกติจะสังเกตอาการ 15 นาที แต่ระบบของประเทศไทยเพื่อความปลอดภัยจะให้อยู่สังเกตอาการในสถานที่นั้นๆ เป็นเวลา 30 นาที ตามโปรแกรมการฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้เพื่อความปลอดภัยอย่างรอบคอบ และเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอาการใดๆ ก่อนจะอนุญาตให้กลับบ้านและนัดให้มาฉีดเข็มที่สองต่อไป รวมถึงให้คำแนะนำแผ่นพับในการเฝ้าระวังอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ และเบอร์ติดต่อกับโรงพยาบาลที่ให้บริการ
แนะสังเกตอาการ 30 วัน
นพ.โอภาสกล่าวด้วยว่า สำหรับการเฝ้าระวัง สังเกตและติดตามอาการหลังรับวัคซีน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการดังนี้ สังเกตและถามอาการหลังฉีดทันที, เฝ้าระวังและสังเกตอาการในสถานที่รับวัคซีน 30 นาที จากนั้นจะมีการติดตามอาการอีกในวันที่ 1, 7 และ 30 ผ่านทางไลน์หมอพร้อม หรือมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล, รพ.สต. หรือ อสม. เป็นผู้ติดตามอาการ ทั้งนี้ ผู้ที่รับวัคซีนควรสังเกตอาการต่อไปจนครบ 30 วันตามโปรแกรมที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้เพื่อความปลอดภัย สำหรับอาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ 1.อาการไม่รุนแรง ได้แก่ มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และปวดบริเวณที่ฉีด หากมีอาการเหล่านี้หลังฉีดขอให้รายงานในระบบไลน์หมอพร้อม ซึ่งอาการเพียงเล็กน้อยเหล่านี้จะหายได้ภายใน 1-2 วัน และ 2.อาการรุนแรง ได้แก่ไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีจุดเลือดออกจำนวนมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ชัก และหมดสติ ถ้ามีอาการขณะเฝ้าระวังอาการหลังฉีด 30 นาที ขอให้รีบแจ้งแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ที่สังเกตอาการทันที แต่หากกลับบ้านแล้วเกิดอาการดังกล่าว ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว หรือโทร.สายด่วน 1669 เพื่อแจ้งรถพยาบาลมารับหรือถ้าหมดสติให้ญาติรีบพาไปโรงพยาบาลทันที
ติดเชื้อในประเทศ 54 คน
วันเดียวกัน ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในไทย ประจำวันที่ 6 มี.ค. เวลา 11.00 น. พบผู้ป่วยรายใหม่ 64 คน แยกเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 54 คน จำแนกตามพื้นที่ใน กทม.6 คน สมุทรสาคร 41 คน ปทุมธานี 4 คน ตาก 2 คน และนนทบุรี 1 คน มาจากต่างประเทศ 10 คน ได้แก่มาจากโครเอเชีย 2 คน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 คน อินโดนีเซีย บังกลาเทศ เมียนมาสหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์และเยอรมนี ประเทศละ 1 คน ทำให้ขณะนี้ไทยมีผู้ป่วยโควิด-19 สะสม 26,305 คน รักษาหายป่วยเพิ่ม 45 คน รวมหายป่วย 25,686 คน เสียชีวิตสะสม 85 คน
6 วันฉีดวัคซีนกว่า 2.5 หมื่นคน–แพ้ 828
ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่เริ่มฉีดมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานความก้าวหน้าการให้บริการฉีดวัคซีนฯ ระบุข้อมูลจนถึงเวลา 18.00 น. วันที่ 5 มี.ค.มีผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคแล้ว 25,864 คน มีรายงานผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน 828 คน คิดเป็นร้อยละ 3.2 ของผู้รับวัคซีนทั้งหมด
เร่งช่วย นศ.ไทยไปเรียนต่อจีน
วันเดียวกัน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนักศึกษาไทยในประเทศจีน ยังไม่สามารถกลับไปศึกษาต่อได้ เป็นเวลาเกือบ 1 ปี ว่า รัฐบาลห่วงใยและเข้าใจความกังวลของนักศึกษา นายกฯติดตามความคืบหน้าการประสานพาเด็กไทยกลับจีน โดยนายดอน ปรมัตถ์ วินัย รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง พูดคุยกับฝ่ายจีนตั้งแต่ปีที่แล้ว และหารือกับ รมว.ต่างประเทศจีนเมื่อครั้งมาเยือนไทย ซึ่งทางการจีนรับไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นฤดูหนาวที่เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายได้ดี ทางการจีนประเมินว่ายังมีความเสี่ยงของการแพร่ระบาด จึงยังไม่อนุญาตให้นักศึกษาต่างประเทศกลับเข้าไปเรียนต่อได้ อย่างไรก็ตาม อุปทูตจีนประจำประเทศไทย เชิญนักศึกษาไทย
ตามรายชื่อที่กระทรวงการต่างประเทศได้รับจากกลุ่มตัวแทนนักศึกษาที่มีกว่า 700 คน ไปหารือและแจ้งเหตุผลดังกล่าวแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ได้หยิบยกเรื่องนี้ ขึ้นหารือกับผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศจีนอีกครั้ง และทราบว่าฝ่ายจีนผลักดันประเด็นนี้มาโดยตลอด แต่ยังมีความกังวลต่อความเสี่ยง แต่จะผลักดันต่อไป และเห็นว่าเมื่อจีนมีมาตรการผ่อนกลาย นักศึกษาไทยควรเป็นกลุ่มแรกที่ได้กลับไปยังจีน
โวยปิดถนนทำคนไม่มาตลาด
ส่วนที่ จ.สมุทรสาคร ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ อีก 41 คน เป็นคนไทย 19 คน ต่างด้าว 22 คน ทำให้มียอดผู้ป่วย สะสมจำนวน 16,540 คน ขณะที่เวลาประมาณ 09.00 น. วันที่ 6 มี.ค. ที่บริเวณทางเข้าตลาดมหาชัย ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร บรรดาพ่อค้าแม่ค้าตลาดมหาชัยและตลาดแม่พ่วง ประมาณ 50 คนรวมตัวถือป้ายประท้วงและเรียกร้องให้เปิดถนนเทศบาลฯ เนื่องจากผู้ค้าด้านในตลาดแม่พ่วงได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ถ้ารถเข้าไม่ได้ผู้คนก็ไม่เข้ามาจับจ่ายซื้อของในตลาด จากการสอบถาม นายชัยวัฒน์ นวมเจิญ พ่อค้าตลาดแม่พ่วง กล่าวว่า ปิดถนนแบบนี้ทำให้เดือดร้อนมาก คนไม่มี ทุกวันนี้ค้าขายไม่ได้ เดือดร้อน กราบเรียนท่านผู้ว่าฯและผู้มีอำนาจช่วยพิจารณาให้ด้วย ต่อมานายชิงชัย บุญประคอง ปลัดเทศบาลนครสมุทรสาคร เดินทางมารับเรื่อง พร้อมกล่าวว่า ขอให้ตัวแทนไปพูดคุยที่จังหวัด เพราะว่าต้องเข้ารูปของคณะกรรมการ ตน ไม่สามารถตัดสินใจได้ ส่วนตัวไม่อยากเห็นภาพแบบนี้ จะทำให้เกิดมีปัญหามากกว่า ขอให้ตัวแทน 10 คน นำข้อเรียกร้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ในวันที่ 9 มี.ค. ถ้ามีมติอย่างไรออกมา ก็ให้เคารพตามมติ
ยังพบผู้ติดเชื้อประปราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดวันบางจังหวัดทยอย แจ้งข้อมูลพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มอีก อาทิ จ.ปทุมธานี พบผู้ป่วยรายใหม่ 4 คน เป็นคนไทย 1 คน ต่างด้าว 3 คน ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 607 คน ส่วน จ.สมุทรสงคราม ยืนยันพบผู้ป่วยโควิด-19 อีก 1 คน เป็นชายชาวเมียนมา อายุ 37 ปี ลักลอบเข้าไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 28 ก.พ.64 และเดินทางมาถึง ต.แม่กลอง อ.เมืองสมุทรสงคราม เข้าพักที่เรือ จอดหน้าบ้านหลังหนึ่ง ก่อนย้ายมาพักที่ห้องเช่า มีอาการป่วยและเข้ารับการตรวจเชื้อที่ รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ทำให้ขณะนี้จังหวัดมียอดผู้ป่วยสะสม 72 คน
มุ่งวิจัยยารักษาโควิด
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน ณ วันที่ 6 มี.ค. มีผู้ติดเชื้อ รวมกว่า 116.2 ล้านคน เสียชีวิตสะสมกว่า 2.5 ล้านคน แต่ในขณะที่บริษัทเวชภัณฑ์ทั่วโลกกำลังแข่งกันผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 แต่บริษัทผู้ผลิตยาของสหรัฐฯ เมิร์ก แอนด์ โค อิงก์ แถลงว่ายาต้านไวรัสโมลนูพิราเวียร์ สำหรับใช้รักษาโควิด-19 ซึ่งบริษัทพัฒนาร่วมกับริดจ์แบค ไบโอ แสดงให้เห็นถึงการติดเชื้อไวรัสที่ลดลงได้อย่างรวดเร็ว ในการศึกษาระยะ 2 เอ จากกลุ่มผู้เข้าร่วมการทดลองที่ติดเชื้อโควิด-19 ในระยะแรก ขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดสอบในระยะที่ 2/3 ซึ่งมีกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ เมิร์กตัดสินใจมุ่งเน้นไปที่การวิจัยวิธีรักษาโควิด-19 แทน หลังจากที่วัคซีนทั้ง 2 ชนิดของบริษัทด้อยประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันในการทดสอบขั้นแรกๆ ทำให้ต้องยกเลิกโครงการไปในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา
มะกันเตรียมเปิดสวนสนุก
ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของแคลิฟอร์เนียได้ปรับเปลี่ยนกฎใหม่ที่อนุญาตให้ดิสนีย์แลนด์ สวนสนุก สนามกีฬา และสถานบันเทิงกลางแจ้งอื่นๆ สามารถเปิดให้บริการได้เร็วที่สุดในวันที่ 1 เม.ย.นี้ หลังจากต้องปิดไปเกือบ 1 ปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ สวนสนุกธีมพาร์กต่างๆจะกลับมาเปิดให้บริการได้ก็ต่อเมื่อเขตที่สถานที่นั้นๆ ตั้งอยู่ถูกลบออกจากระดับ “สีม่วง” ที่เป็นรหัสสีของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่ง เป็นการจัดประเภทที่เข้มงวดที่สุดในการรับมือกับโควิด-19 ขณะที่ยังคงต้องใส่หน้ากากอนามัยและใช้มาตรการด้านความปลอดภัยอื่นๆ ส่วนสวนสาธารณะในเบื้องต้นจะเปิดให้เฉพาะผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เท่านั้น และจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการเพียงร้อยละ 15-35 ของ ความจุปกติ ส่วนสนามกีฬากลางแจ้ง และสนามแข่งขัน หรือจัดการแสดง จะได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมต่างๆ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. โดยใช้มาตรการควบคุมโรค และจำกัดจำนวนผู้ชมเช่นกัน โดยในวันที่ 1 เม.ย.ซึ่งเป็นวันเปิดการแข่งขันเบสบอลเมเจอร์ลีกจะอนุญาตให้มีผู้ชมไม่เกิน 100 คน เนื่องจากอยู่ในพื้นที่สีม่วง ส่วนสนามแข่งขันกีฬาที่อยู่ในเขตสีอื่นๆ จะจำกัดผู้ชมร้อยละ 20 ของความจุปกติ