- ตั้งท้อง ไม่มีเงิน ใช้สิทธิฝากครรภ์-คลอดบุตร ฟรีได้หรือไม่
- เทียบสิทธิประกันสังคม vs บัตรทอง เลือกแบบไหนดี
- ท้องไม่พร้อม ดูแลไม่ได้ ต้องขอความช่วยเหลือจากใคร
"ตั้งท้อง แต่ไม่มีเงิน" ปัญหาหนักใจของว่าที่คุณแม่ เพราะค่าใช้จ่ายระหว่างฝากครรภ์ ไปจนถึงคลอดลูก ไม่ใช่จำนวนเงินน้อยๆ ซ้ำความเครียด ยังอาจส่งผลเสียต่อลูกในท้องอีกด้วย
แต่รู้ไหมว่า...คนท้องสามารถใช้สิทธิ ฝากท้อง-คลอดลูก โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้แล้ว คือ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง นั่นเอง
"คนท้อง" ฝากครรภ์-คลอดลูกฟรี จริงหรือ?
สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ "การตรวจสอบสิทธิ การเข้ารับการรักษาพยาบาล" แต่ต้องตรวจสอบก่อนว่า มีสิทธิการรักษาที่ไหนและให้ไปใช้สิทธิที่สถานพยาบาลนั้นๆ รวมไปถึงรายละเอียด หลักเกณฑ์ต่างๆ ของสิทธิประกันสังคม และบัตรทอง ดังนี้
สิทธิประกันสังคม (เช็กสิทธิ คลิกที่นี่)
...
ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ทำงานกับนายจ้าง) มาตรา 39 (ประกันตนเอง) จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์
ผู้ประกันตนตามมาตรา 38 (เคยทำงานในบริษัทและเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 มาก่อน) และมาตรา 41 (เคยเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 มาก่อน) จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนรับบริการทางการแพทย์ และได้รับสิทธิคุ้มครองภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณี ฝากครรภ์ตามเกณฑ์คุณภาพมี ดังนี้
1. อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท
2. อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายไม่เกิน 300 บาท
3. อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท
สำหรับแนวทางการขอรับประโยชน์ทดแทน จะต้องมีหลักฐานการเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลที่ไปใช้บริการฝากครรภ์ในแต่ละครั้ง และสามารถยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในส่วนค่าตรวจและรับฝากครรภ์เพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องรอให้มีการคลอดบุตร ได้ที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ
ในส่วนของ "เอกสารในการยื่นเบิกค่าฝากครรภ์" สามารถใช้เอกสารแบบเดียวกันกับ "ค่าคลอดบุตร" แต่เปลี่ยนเอกสารจาก ใบสูติบัตร เป็นใบเสร็จค่าฝากครรภ์ ที่มีการระบุวันที่ฝากครรภ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป
หลักเกณฑ์การ "คลอดบุตร" ของผู้ประกันตนฝ่ายหญิง ชาวไทย/ต่างด้าว
1. เงินค่าคลอดบุตร เหมาจ่าย 13,000 บาท/ครั้ง โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
2. เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร เหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน โดยใช้สิทธิได้ 2 ครั้ง
มาตรา 33 และมาตรา 38 เฉลี่ยจากค่าจ้างจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตามกฎหมายประกันสังคม
มาตรา 39 และ มาตรา 41 คิดจากฐานค่าจ้างผู้ประกันตน ม.39 (4,800 บาท)
ในกรณีที่ใช้สิทธิผู้ประกันตนฝ่ายชาย ชาวไทย/ต่างด้าว จะได้เงินค่าคลอดบุตร เหมาจ่าย 13,000 บาท/ครั้ง โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
อย่างไรก็ตาม การเข้ารับการรักษาพยาบาลนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนอก หรือผู้ป่วยใน หากเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ คุณแม่ตั้งท้องซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ยกเว้นกรณีร้องขอสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง จะต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนต่างเอง
สิทธิบัตรทอง หรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
คุณสมบัติ หรือ (เช็กสิทธิ ที่นี่)
- เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย
- มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
- ไม่มีสิทธิประกันสุขภาพอื่นที่ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณของรัฐ ได้แก่ สิทธิตามกฎหมายประกันสังคม สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ / พนักงานท้องถิ่น หรือสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ข้าราชการเมือง
- หากไม่ทราบสิทธิ สามารถสอบถามโทรสายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชม.
บริการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- ทดสอบการตั้งครรภ์
- ตรวจครรภ์และประเมินความเสี่ยง
- ตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวนด์
- ตรวจคัดกรองภาวะซีด ซิฟิลิส เอชไอวี ตับอักเสบบี ธาลัสซีเมีย และดาวน์
- ตรวจปัสสาวะ
- ฉีดวัคซีน คอตีบ บาดทะยัก และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้ยาบำรุงเสริมธาตุเหล็ก โฟลิก และไอโอดีน การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก
- ตรวจช่องปากและฟัน ขัดและทำความสะอาดฟัน รวมถึงการขูดหินน้ำลาย
- ประเมินสุขภาพจิตตรวจหลังคลอดและคุมกำเนิด ส่งเสริมการเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่
- สมุดบันทึกสุขภาพ
สิทธิบัตรทอง คลอดธรรมชาติ-ผ่าคลอด
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่คลอดปกติ จะได้รับการคุ้มครองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนในกรณีการผ่าคลอดจะต้องเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์หากเห็นว่าคลอดธรรมชาติแล้วจะเกิดอันตราย แต่ถ้าเป็นความต้องการของคนไข้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเอง รวมไปถึงราคาห้องพิเศษด้วย
หลังจากคลอดบุตรแล้ว ยังได้รับสวัสดิการจากรัฐอีกไหม
- เด็กจะได้รับสิทธิบัตรทอง
- เด็กได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ที่เด็กควรได้รับถึง 6 ขวบ
- เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 600 บาท/เดือน ถึง 6 ขวบ
ท้องไม่พร้อม ไม่สามารถดูแลเด็ก ใครช่วยได้บ้าง
ในกรณีที่ท้องไม่พร้อม หรือไม่สามารถดูแลเด็กที่กำลังจะคลอดได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำแท้งเถื่อน การนำเด็กไปทิ้ง แต่ทุกวันนี้มีหลายหน่วยงานพร้อมให้ความช่วยเหลือ ใครที่กำลังเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ สามารถติดต่อไปยัง บ้านพักเด็กและครอบครัว 77 จังหวัด, สถานสงเคราะห์สังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน และสายด่วน 1300 ตลอด 24 ชม.