น.ส.วันเพ็ญ พูลวงษ์ ผอ.สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ สำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีใน ประเทศไทย หรือ MICS (Multiple Indicators Cluster Survey) ครั้งที่ 6 ในระดับนานาชาติ และเป็นครั้งที่ 4 ของประเทศไทย มีการจัดเก็บข้อมูลเด็กและสตรีในด้านต่างๆ เช่น สุขภาพ พัฒนาการ การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก จาก 40,660 ครัวเรือนทั่วประเทศ ระหว่างเดือน พ.ค.-พ.ย.2562 ผลสำรวจพบว่า
อัตราการมีบุตรของวัยรุ่นในประเทศไทยลดลงอย่างมากจาก 51 คนต่อ 1,000 คนในปี 2558 เหลือเพียง 23 คนต่อ 1,000 คนในปี 2562 ขณะที่อัตราของเด็กอายุ 1-14 ปีที่เคยถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรงที่บ้านก็ลดลงเช่นกัน จากร้อยละ 75 ในปี 2558 เหลือร้อยละ 58 ในปี 2562 และยังเห็นถึงความก้าวหน้าด้านอื่นๆ เช่น อัตราการได้รับภูมิคุ้มกันครบถ้วนของเด็กอายุ 12-23 เดือนร้อยละ 82 การบริโภคเกลือเสริมไอโอดีน ร้อยละ 85 และอัตราการเข้าเรียนหลักสูตรปฐมวัย ร้อยละ 86 แต่แนวโน้มที่น่ากังวลคือด้านภาวะโภชนาการของเด็กไทย พบว่าเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีร้อยละ 13 มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ร้อยละ 8 มีภาวะผอมแห้ง และร้อยละ 9 มีน้ำหนักเกิน โดยกรุงเทพฯ มีเด็กที่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นและน้ำหนักเกินมากกว่าภาคอื่นคิดเป็นร้อยละ 17 นอกจากนี้ มีทารกอายุไม่เกิน 6 เดือนเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว
น.ส.วันเพ็ญกล่าวว่า ผลสำรวจยังสะท้อนความไม่เท่าเทียมด้านการศึกษา โดยอัตราการเข้าเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายลดลงอย่างชัดเจนในกลุ่มครัวเรือนยากจนมาก ภาคใต้มีอัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายต่ำกว่าภาคอื่น ขณะที่ทักษะขั้นพื้นฐานด้านการอ่านและการคำนวณ พบมีเด็กที่กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และ 3 ไม่ถึง 6 ใน 10 คน มีทักษะการอ่านขั้นพื้นฐาน
...
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า สถิติข้อมูลทำให้เห็นถึงสถานการณ์เด็กและสตรีในภาพรวม นำไปสู่การกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศ สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขคือ ภาวะทุพโภชนาการซ้ำซ้อนในเด็กเล็กทั้งภาวะเตี้ยแคระแกร็นและน้ำหนักเกิน การออกจากโรงเรียนกลางคันในระดับมัธยมต้นและปลายโดยเฉพาะเด็กยากจน รวมถึงคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก ป.2 และ ป.3 ด้านการอ่านและการคำนวณ รวมถึงยังพบเด็กถึง 3 ล้านคนที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่.