ตามที่คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) มีมติยกเลิกการกำหนดระยะเวลาการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาในแต่ละระดับปริญญา กรณีกำหนดให้สำเร็จการศึกษาได้ไม่เกินกี่ปีการศึกษา โดยให้ยกเลิกการรีไทร์หรือถูกให้ออกจากมหาวิทยาลัย ตามนโยบายของ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยให้อำนาจสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งทั้งของรัฐและเอกชน สามารถกำหนดเกณฑ์ระยะเวลาได้เอง ให้สอดคล้องกับนโยบายและแนวทางของแต่ละมหาวิทยาลัยนั้น
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การยกเลิกเกณฑ์ดังกล่าว มีข้อดีคือ ทำให้หลายคนที่อยากทำงานหาประสบการณ์กลับมาได้ทุกเมื่อ ถือเป็นการเรียนต่อเนื่องที่ไร้ขีดจำกัดจริงๆ เช่น อยากเรียน ป.เอก ระหว่างเรียนก็อยากทำงานหาประสบการณ์เพื่อเก็บข้อมูลให้ตกผลึกจริงๆ ก็สามารถทำได้ โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งการเรียนแบบไร้ขีดจำกัด เรื่องเวลาก็เป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยอาจประสบปัญหาเรื่องการจัดหลักสูตร และการจัดสรรทรัพยากร โดยเฉพาะทรัพยากรด้านอาจารย์ผู้สอน จะมีความยากลำบากและท้าทายมหาวิทยาลัยมากขึ้น แม้การปลดล็อกเรื่องเวลาเรียนจะเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการกำหนดช่วงเวลาเรียนที่เหมาะสมจะดีกว่า เพราะเราจะไม่รู้เลยว่า ผู้เรียนมีจริงๆในชั้นเรียนกี่คน แม้ว่าจะมีคนลงทะเบียนเรียนเต็มจำนวน เช่น ลงทะเบียน 100 คน แต่เข้าชั้นเรียนอาจมี 20 คน แต่ที่เหลืออีก 80 คน ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ซึ่งต้องคำนึงถึงภาพการเรียนการสอนในห้องเรียนจริงด้วย เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยก็ต้องคิดให้ถี่ถ้วน.
...