• ฝุ่น PM2.5 ปัญหาที่คนไทยต้องเจอทุกปี
  • เตรียมรับมือวิกฤติฝุ่น PM2.5 กลับมาอีกครั้งปลายปี 2563-ต้นปี 2564
  • กรมควบคุมมลพิษ เตรียมพร้อม แต่เชื่อว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จะเบาบางกว่าปีก่อน

    ฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากอะไร

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า กระบวนการเกิดฝุ่นละอองละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในประเทศไทยค่อนข้างซับซ้อน แต่สามารถอธิบายง่ายๆ จาก 4 ส่วน ได้แก่

1. ส่วนที่ปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดโดยตรง เช่น รถยนต์ควันดำ การเผาขยะ การเผาป่า เผาพื้นที่เกษตร และกิจกรรมใดก็ตามที่ก่อให้เกิดควัน แม้แต่การจุดธูป เผากระดาษเงินกระดาษทอง ก็ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่นเดียวกัน

2. ส่วนที่มาจากการทำปฏิกิริยาของมลพิษประเภทก๊าซในบรรยากาศ โดยก๊าซแอมโมเนียจากภาคการเกษตร รวมกับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากภาคขนส่งและอุตสาหกรรม

3. ส่วนที่มาจากธรรมชาติ เช่น เมื่อคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง ละอองน้ำทะเลกระจายออกสู่บรรยากาศ เมื่อส่วนที่เป็นน้ำระเหยไป ก็จะเหลือแต่ละอองเกลือซึ่งมีขนาดเล็กมาก เป็นส่วนประกอบหนึ่งของ PM2.5 เช่นเดียวกัน

4. ส่วนที่มาจากต่างประเทศ เนื่องจากฝุ่นละออง PM2.5 มีขนาดเล็ก จึงลอยขึ้นสู่บรรยากาศได้สูงและสามารถถูกกระแสลมพัดพาไปเป็นระยะทางไกล เรียกกระบวนการนี้ว่า "มลพิษข้ามแดน"

...

ในประเทศไทย แต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ มีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองที่แตกต่างกันไป 4 ส่วนที่กล่าวมานี้ อาจจะมีส่วนใดมากหรือน้อยแตกต่างกันไป ดั้งนั้นการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ จึงเริ่มจากการศึกษาแหล่งกำเนิดในแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะทำให้การบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้มีความเข้มข้นและตรงจุด แล้วจึงมีการรวมศูนย์เพื่ออำนวยความสะดวกของการบริหารจัดการ เป็นระดับภาค และระดับประเทศต่อไป

วัฏจักรฝุ่น PM2.5 ของประเทศไทย มาช่วงใด พีคสุดตอนไหน

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีทั้งในเมืองและนอกเมือง เร่ิมตั้งแต่เข้าสู่ฤดูหนาว ประมาณเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนมีนาคม 

สำหรับในตัวเมืองกรุงเทพฯ สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 จะมาจากควันรถเครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่ได้มาตรฐาน ขณะที่เมืองเชียงใหม่ สาเหตุจะมาจากปัญหาการจราจรในเมือง ผสมกับควันจากการเผาป่าเพื่อเตรียมทำพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นในหน้าแล้งประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน และจะหนักมากช่วงเดือนธันวาคมยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ขณะที่ภาคใต้ จะเกิดจากไฟป่า

แต่ปัจจัยด้านอุตุนิยมวิทยาสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็คือ การจราจร และสภาพอากาศ ในเมื่อมีปริมาณรถมีเท่าเดิมทุกฤดูกาล แต่กลับมีฝุ่น PM2.5 สูงในหน้าหนาว เนื่องจากช่วงปลายปีเริ่มตั้งแต่ประมาณปลายเดือนตุลาคม จนถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ จะเกิดสภาพอากาศปิด ลมสงบ และชั้นบรรยากาศผกผัน (inversion) ส่งผลให้มลพิษอากาศโดยเฉพาะมลพิษฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศไม่มีการกระจายตัว จึงทำให้ปริมาณฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่มีความเข้มข้นสูง

เทียบค่าฝุ่น PM2.5 ปี 2563 กับปีก่อนๆ

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ปี 2563 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - วันที่ 30 กันยายน 2563 มีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจวัดได้เท่ากับ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบม.) อยู่ในช่วงค่า 8-85 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐาน 50 มคก./ลบม.) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 พบว่าปี 2563 ผลจากการที่หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติฯ อย่างเคร่งครัด และต่อเนื่อง และเน้นการบังคับใช้กฎหมาย ส่งผลให้สถานการณ์ปัญหา PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลดีขึ้น (เปรียบเทียบผลในช่วงเวลาเดียวกัน)

โดยพบว่า ช่วงเดือนตุลาคม 2562-กันยายน 2563 ดีขึ้นกว่าช่วงเดือนตุลาคม 2561-กันยายน 2562 กล่าวคือ ปี 2562 พบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM2.5 ตรวจวัดได้เท่ากับ 24 มคก./ลบม. อยู่ในช่วงค่า 9-87 มคก./ลบ.ม.

PM2.5 ระลอกใหม่ จะ "สาหัส" หรือ "เบาบาง" กว่าปีก่อนๆ

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2562 ที่เกิดปัญหาอย่างหนัก ทำให้ประชาชนค่อนข้างให้ความสนใจมากขึ้น จนเกิดเป็นแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เรื่อง "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ซึ่งเป็นการบูรณาการแก้ไขปัญหาสิ่งที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ในทุกๆ เรื่อง

อย่างเช่น รถยนต์ที่ออกใหม่อย่างน้อยต้องได้มาตรฐาน "ยูโร 5" ขึ้นไป (มาตรฐานควบคุมการปล่อยมลภาวะของรถยนต์) เพราะจะช่วยบล็อก PM2.5 ได้ถึง 95% ส่วนรถรุ่นเก่าจะต้องกำหนดระยะเวลาในการใช้ รวมไปถึงขนส่งมวลชน การเผาในที่โล่ง ซึ่งได้ประสานไปยังกระทรวงเกษตรและเกษตรแล้ว และปัญหาหมอกควันข้ามแดน ซึ่งมีอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องการแก้ปัญหาร่วมกันในอาเซียน จะต้องมีการพูดคุยและต้องช่วยกันลด PM2.5

ในส่วนของภาครัฐ ได้เตรียมความพร้อมรับมือฝุ่นละอองอย่างเข้มข้นต่อเนื่องมาตลอดทั้งปี โดยกำลังอยู่ระหว่างการยกระดับมาตรการบริหารจัดการเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพื่อควบคุมกิจกรรมใดๆ ที่จะปล่อยควันพิษ ลดการปล่อยมลพิษในทุกภาคส่วน โดยหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งด้านนโยบาย การวิจัย เทคโนโลยี ด้านงบประมาณ อัตราภาษี รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งประชาชนทุกภาคส่วนก็มีความพร้อมที่จะร่วมมือร่วมใจลดมลพิษทางอากาศ คาดว่าปีนี้จะสามารถทำให้ฝุ่นละอองเบาบางขึ้นกว่าปีก่อนได้

แนวทางการรับมือและป้องกัน ฝุ่น PM2.5

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ จะขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน สนับสนุนส่งเสริมการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในทุกระดับ ได้แก่

1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ผ่านการประชุมคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และคณะอนุกรรมการด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลภาวะอากาศ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยจะมีการตั้งโฆษกฝุ่นละออง PM2.5 เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะ การตั้งศูนย์ข้อมูลการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (War Room) ในช่วงเหตุการณ์ไม่ปกติ รวมทั้งจะประชุมหารือ บูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

2. การติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ จำนวน 12 สถานี และของกรุงเทพฯ จำนวน 50 สถานี พร้อมแจ้งเตือน และรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่องผ่าน www.air4thai.com และแอปพลิเคชัน AIR4THAI

รวมทั้งให้คำแนะนำแนวทางการปฏิบัติในกรณี ฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐาน และมุ่งเน้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เรื่อง PM2.5 ต่อสาธารณะด้วย Infographics ในประเด็นการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพผ่าน PCD fanpage และช่องทางอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

3. กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ GISTDA และ NASA พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศมาประเมินฝุ่นละอองเชิงพื้นที่ของประเทศ เพื่อเสริมข้อมูลในพื้นที่ที่ไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ และสามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้าสามวัน เพื่อประโยชน์ในการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างพัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 โดยใช้แบบจำลอง WRF Chem ในช่วงวิกฤติ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

4. กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการสื่อสารประชาสัมพันธ์แก่กลุ่มเป้าหมาย โดยแบ่งได้ ดังนี้

ระยะที่ 1 ในประเด็น "ไทยรู้สู้ฝุ่น"
ระยะที่ 2 ในประเด็น "คนไทยรับผิดชอบ ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม"
ระยะที่ 3 ในประเด็น "ชีวิตวิถีใหม่ ชีวิตดีเริ่มที่เรา" โดยจะเผยแพร่ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 จนถึงมกราคม 2564

5. กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จะติดตามกำกับดูแลโครงการวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อให้การวิจัยครอบคลุมตามความต้องการในการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ในการเตรียมการและการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายอย่างบูรณาการ เชื่อมโยงผลผลิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลต่อไป โดยครอบคลุมประเด็นต่างๆ ได้แก่

- การประเมินมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง"

- การประเมินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบเชิงสุขภาพ คุณภาพชีวิต และเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

- การศึกษาเพื่อนำมาตรการไปสู่การปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบายมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากแหล่งกำเนิด

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อว่า ประชาชนควรติดตามการรายงานคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ และปกป้องตนเองจากมลพิษทางอากาศให้เหมาะสมกับสภาวะสุขภาพของแต่ละคน ด้วยฝุ่น PM2.5 จะส่งผลกระทบทางสุขภาพที่รุนแรงต่อกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี และสตรีมีครรภ์ โดยประชาชนซึ่งภูมิคุ้มกันแข็งแรงจะได้รับผลกระทบน้อย ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องเน้นการให้การปกป้องประชาชนกลุ่มเสี่ยงก่อน

โดยจะมีการเปิด Safety Zone และพื้นที่ปลอดฝุ่นสำหรับกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งระดมความพร้อมบุคลากรและอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ไว้พร้อมแล้ว จึงขอประชาชนทั่วไปไม่ตื่นตระหนก ให้ป้องกันตนเองให้เหมาะสมกับระดับสุขภาพ

นอกจากนี้ประชาชนเองจะต้องเป็นหูเป็นตาในกรณีที่ไปเจอสิ่งที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1650 กรมควบคุมมลพิษ และสายด่วน 1310 กระทรวงทรัพยากร และแฟนเพจ กรมควบคุมมลพิษ

"จากสถานการณ์ โควิด-19 เราได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤติมาได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันทุกภาคส่วน เรามั่นใจว่าประเทศไทยต้องผ่านพ้นวิกฤติ PM2.5 ได้ด้วยดีเช่นเดียวกัน"