"อัยการธนกฤต" ชี้ กรมขนส่งไม่มีสิทธิ์เพิกถอนใบอนุญาตขับรถแบบตลอดชีพของผู้สูงอายุ เหตุสูงอายุไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ แนะ ตรวจสอบการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนว่าเกิดจากสาเหตุใด

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Thanakrit Vorathanatchakul กรณีเพิกถอนใบขับขี่ตลอดชีพเพราะเหตุสูงอายุ

โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนต่างๆ ว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบกเปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกมีโครงการที่จะให้ผู้ถือใบอนุญาตขับรถแบบตลอดชีพที่เป็นผู้สูงอายุ ทำการทดสอบสมรรถภาพความพร้อมในการขับขี่ เนื่องจากผู้ขับรถที่สูงอายุอาจมีสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมในการขับรถ และที่ผ่านมามีอุบัติเหตุหลายครั้งเกิดขึ้นจากผู้สูงอายุที่มีใบอนุญาตขับรถแบบตลอดชีพ

และอาจมีการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับรถตลอดชีพของผู้สูงอายุที่สภาพร่างกายไม่พร้อมในการขับรถ โดยในขณะนี้มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถตลอดชีพประมาณ 1 ล้านคนนั้น ผมขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการในข้อกฎหมายต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้

การเพิกถอนใบอนุญาตขับรถด้วยเหตุที่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถมีสภาพสังขารร่างกายที่เสื่อมลงจากเหตุสูงอายุนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กระทำได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 46 มาตรา 47 และมาตรา 49 ไม่ได้กำหนดให้การที่สภาพร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุ เป็นเหตุให้ถือว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามสำหรับการมีใบอนุญาตขับรถ

โดย พ.ร.บ.รถยนต์ บัญญัติถึงกรณีสภาพร่างกายที่ทำให้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม ในการมีใบอนุญาตขับรถประเภทต่างๆ ไว้ เช่น มีร่างกายพิการจนเห็นว่าไม่สามารถขับรถได้ มีโรคประจำตัวที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเห็นว่าอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน เป็นผู้มีโรคติดต่อน่ารังเกียจตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึงกรณีสภาพร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุด้วย

...

2. การจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.รถยนต์ มาตรา 53 วรรคสอง เพื่อเรียกผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถมาตรวจสอบคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถประเภทนั้นๆ

ดังนั้นจึงต้องปรากฏเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตขับรถรายใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติเสียก่อน แล้วจึงจะเรียกบุคคลนั้นๆ เป็นรายบุคคลมาตรวจสอบได้ ไม่ใช่จะสามารถเรียกทุกๆ คนมาสุ่มตรวจแบบเหมาเข่งทั้งหมดได้

เช่น การกำหนดเกณฑ์ว่าคนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ทุกคนต้องมาทดสอบสมรรถภาพในการขับรถ เพื่อค้นหาและตรวจสอบว่าใครที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามบ้าง โดยเชื่อว่าคนที่อายุ 70 ปีขึ้นไปอาจมีสภาพร่างกายไม่พร้อมในการขับรถ การกำหนดเช่นนี้ไม่สามารถทำได้ตามกฎหมาย เพราะยังไม่ปรากฏเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่าบุคคลที่อายุ 70 ปีขึ้นไปทุกคนมีสภาพร่างกายไม่พร้อมที่จะขับรถได้ และคนที่อายุ 70 ปีขึ้นไป ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีสภาพร่างกายที่ไม่สามารถขับรถได้

การจะเรียกบุคคลอายุ 70 ปีขึ้นไปมาทำการทดสอบสมรรถภาพการขับรถ จึงจะต้องมีเหตุที่ทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ขับรถรายนั้นขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายบัญญัติเสียก่อน ถึงจะสามารถเรียกบุคคลนั้นมาตรวจสอบได้ตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป

และที่สำคัญคือ ตามที่กล่าวไปแล้ว การที่สภาพร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุ ไม่ถือเป็นการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามที่จะมีใบอนุญาตขับรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ดังนั้นจะมาใช้เหตุสภาพร่างกายเสื่อมลงด้วยเหตุสูงอายุ เพื่อเรียกบุคคลใดมาตรวจคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายด้วยการทดสอบสมรรถภาพการขับรถ เพื่อพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ของบุคคลนั้นไม่ได้ และยังเป็นการสร้างผลกระทบและภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชนจำนวนมากอีกด้วย

การที่กรมการขนส่งทางบกมีแนวความคิดที่จะลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ผมเชื่อว่าทุกคนเห็นด้วย แต่ควรตรวจสอบถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วยว่า สาเหตุหลักเกิดจากเรื่องใด ขับรถเร็ว ขับรถประมาท ดื่มสุราเสพของมึนเมาขณะขับรถ บทลงโทษตามกฎหมายไม่เหมาะสม มีบทลงโทษที่เบาเกินไป หรือว่ามีสาเหตุจากเรื่องใด แล้วเร่งรีบดำเนินการพิจารณาแก้ไขสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจากเหตุนั้น จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเหมาะสมและได้ผลในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้มากกว่า.

(ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thanakrit Vorathanatchakul)