คดี “คุกมีไว้ขังคนจน” กลายเป็น ประเด็นที่เร่าร้อน ทั้งทางสังคมและการเมือง สื่อมวลชนแข่งกันขุดคุ้ยทุกวันทุกแง่ทุกมุม ร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องรีบตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยมี ศ.วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นประธาน
กรรมการอีก 9 คน ล้วนแต่เป็น ผู้ที่น่าเชื่อถือ ทั้งทางราชการและวิชาการ เช่น ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณบดีคณะนิติศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์และมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เป็นต้น มีอำนาจตรวจสอบกรณีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ที่โด่งดัง
คณะกรรมการยังมีอำนาจเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย หรือวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่อีกด้วย ประธานคณะกรรมการแถลงว่า จะใช้เวลาตรวจสอบไม่เกิน 1 เดือน โดยไม่ผูกมัดกับข้อมูลเดิม แสดงว่าคณะกรรมการอาจแสวงหาข้อ เท็จจริงใหม่ๆ ส่วนนายกรัฐมนตรีประกาศว่า “ความยุติธรรมต้องมีในสังคมไทย”
นับแต่มีข่าวอัยการสูงสุดมีคำสั่ง ไม่ฟ้องทายาทกระทิงแดงในข้อหาขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฝ่ายตำรวจไม่มีความเห็นแย้ง ทำให้คำสั่งไม่ฟ้องถึงที่สุด มีหลายฝ่ายอาสาเข้ามาตรวจสอบ เช่น คณะกรรมาธิการของสภา ผู้แทนราษฎร คณะกรรมการของฝ่ายตำรวจ และคณะทำงานของ สนง.อัยการสูงสุด
แต่คณะกรรมการที่ทำให้มีความ หวังมากที่สุด จะทำความจริงให้ปรากฏ คือคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง สังคมหวังด้วยว่าคณะกรรมการชุดนี้ซึ่งล้วนแล้วแต่ผู้ทรงคุณวุฒิและประสบการณ์ จะมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการปฏิรูปตำรวจที่มีการศึกษามาแล้วหลายคณะ แต่ถูกเก็บลิ้นชัก
...
ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติบังคับให้ปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งปฏิรูปตำรวจภายใน 1 ปี นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จนถึงวันนี้ผ่านมาแล้วกว่า 3 ปี ยังไม่มีการปฏิรูปอะไรที่เป็นรูปธรรม สังคมไทยจึงยังเป็นสังคม “คุกมีไว้ขังคนจน” สังคมแห่งอภิสิทธิ์ชน
น่าประทับใจคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีที่ว่า “ความยุติธรรมต้องมีในสังคมไทย” เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย แต่จะเป็นวาทกรรมเท่ๆ ถ้าไม่นำไปสู่การปฏิบัติ นั่นก็คือต้องปฏิรูปการเมือง และการยุติธรรม เริ่มต้นด้วยการเข้าสู่อำนาจ ด้วยการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม ด้วยความยินยอมของเจ้าของอำนาจอธิปไตย.