ปมพฤติกรรม “กลุ่มวายร้ายคราบ นักบุญ” ในการ “เรี่ยไรเงินบริจาค” ที่มีอยู่เกลื่อนทั้ง “ในโลกออนไลน์” และเดินตามท้องถนน ไม่ว่าจะเป็น “มูลนิธิเถื่อน” หรือ “พระเก๊” นั่งรถกระบะตระเวนแจก “ซองผ้าป่า” ขอเงินร่วมทำบุญจากชาวบ้านกันบ่อยๆ
ด้วยสาเหตุเพราะ “เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ” มักเป็น “คนใจบุญ” มีน้ำใจโอบอ้อมอารี ที่เห็นใครตกทุกข์ได้ยาก “ต้องช่วยเหลือ” กลายเป็นช่องว่างให้ “มิจฉาชีพ” ฉวยโอกาสก่อเหตุจาก “ความมีน้ำใจนี้หาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง” สร้างความเดือดร้อนรำคาญ และสร้างความเสื่อมเสียให้กับ องค์กร วัดและศาสนามาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งที่คนทั่วไป...ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า...คนมาแห่เรี่ยไรนี้...เป็นของจริง หรือของปลอม...
จนมาถึงยุคสมัยนี้ “การเรี่ยไรบริจาคเงิน” เปลี่ยนไปตามเทรนด์เทคโนโลยี โดยเฉพาะ “เฟซบุ๊ก” ถูกใช้เป็นช่องทางยอดนิยมพากัน “โพสต์เรื่องดราม่า” เรียกคะแนนความสงสาร ในการเปิดรับบริจาคเงิน เพื่อช่วยเหลือ หรือสนับสนุนกิจกรรมการกุศล ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม...
เพื่อให้เกิดการแชร์ไปในพื้นที่โซเชียลฯ ให้เรื่องขยายไปเรื่อยๆ ส่งผล ให้ “เงินบริจาค” ก็เข้ามาแบบไม่ขาดสาย ด้วยการใช้ “สมาร์ทโฟน” เป็นเครื่องมือ ที่มีลักษณะ “กดโอนเงินได้ง่าย” ตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักร้อยบาท ทำให้ “คนไม่ดี” ใช้ช่องทางนี้หากินมากขึ้น
...
จากการได้รับบริจาคคนละนิดคนละหน่อย กลายเป็น “เงินก้อนโต” ยิ่งกว่าถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ในบางรายได้รับบริจาคถึงหลักล้านบาทก็มี...
ในทางกฎหมายของการเรี่ยไรเงินขอรับบริจาคนี้ คมเพชญ จันปุ่ม หรือ “ทนายอ๊อด” ทนายความอิสระ บอกว่า ในอดีตการเรี่ยไรเงิน หรือการขอบริจาคเงินตามท้องถนน แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ประการแรก...กลุ่มอ้างเป็นอาสามูลนิธิฯ ออกเรี่ยไรเงินทำบุญช่วยเหลือศพไร้ญาติ ซื้อโลงศพ
ส่วนใหญ่เป็น “บุคคล” ไม่มีสำนักงานชัดเจน ที่มีการปลอมแปลงเอกสารแอบอ้างขึ้นมา ตั้งแต่ใบจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิฯ ใบเสร็จรับเงินบริจาค ใบอนุโมทนาบัตร เพื่อแสดงเป็นหลักฐานหลอกรับบริจาค
อีกทั้งยังมี “เรี่ยไรแทน” ที่รับมอบอำนาจจากมูลนิธิฯ จดทะเบียนจัดตั้งถูกต้อง แต่เป็นมูลนิธิฯขนาดเล็ก ลักษณะไปในทาง “กึ่งขาวกึ่งเทา” ด้วยการเดินเรี่ยไรเงิน และหักค่าใช้จ่ายกินเปอร์เซ็นต์เป็นรายได้...
ประการที่สอง...“พระสงฆ์” มีรถกระบะติดเครื่องขยายเสียง “ขอเรี่ยไร เงิน” นำไปสร้างศาลา ออกเดินแจก “ซองผ้าป่า หรือใบฎีกา” มีตราประทับ จากวัดเสมือนจริง เมื่อตรวจสอบกลับไม่พบข้อมูล และไม่มีหน่วยงานราชการใดอนุญาตในการเรี่ยไรเงิน...
มีข้อสังเกตปกติทั่วไป...“พระสงฆ์” มีกำหนด “โกนผม” เดือนละ 2 ครั้ง ก่อนวันขึ้น 15 ค่ำ และก่อนวันแรม 15 ค่ำ เพื่อเตรียมสวดมนต์ในตอนเช้าวันพระ ดังนั้น “พระสงฆ์แท้” ต้องดูเรียบร้อยเป็นระเบียบเหมือนกัน ทุกรูป หากมี “พระ” ออกเรี่ยไรมีลักษณะผมไม่สั้นเรียบร้อย ก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า “เป็นพระเก๊”...
กลุ่มที่ว่ามานี้มีรายได้จากการเรี่ยไรเงินเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2,000–3,000 บาทต่อวันด้วยซ้ำ...จริงๆแล้ว...ในการขอรับบริจาค หรือเรี่ยไรนี้ มีหลักเกณฑ์ขั้นตอน
การขออนุญาต ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 แต่น้อยคนจะรับทราบกัน ทำให้เป็นช่องให้ “มิจฉาชีพ” ตระเวนหลอกลวงกันมากมาย
การขออนุญาตนี้ “มูลนิธิฯ วัด หรือบุคคล” ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐ ในสังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ต้องมีเอกสารรับรอง ระบุชื่อบุคคล สถานที่ วิธีการ การกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นของการเรี่ยไร และระยะเวลาสิ้นสุดชัดเจน มีวิธีการเก็บรักษา หรือทำบัญชีเงิน อย่างละเอียดถูกต้อง
มิเช่นนั้น...อาจเป็นการแสดงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะการเรี่ยไรเงินตามบ้านนี้บางคนก็มองว่า เป็นเรื่องการทำบุญ แต่ก็มีบางคนเห็นเป็นสิ่งน่ารำคาญ สร้างความเดือดร้อน ถ้าหากไม่มีกฎหมายห้ามไว้ ก็จะไม่มีความผิด เว้นแต่จะไม่ได้เรี่ยไรจริง แต่สมอ้างแต่งเรื่องมาหลอกลวงชาวบ้าน
กรณีเช่นนี้อาจเป็นความผิดอาญาฐานฉ้อโกง หรือข้อหาอื่นได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของแต่ละเรื่องไป ทำให้ “การขอรับบริจาค” หรือ “เรี่ยไรเงิน” ก็กลายเป็น “การหลอกลวง” หรือ “การเจตนาในการฉ้อโกง”...
ตามความผิด ป.อ. ม.341...ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 พันบาท ถ้ามีการหลอกผู้อื่นตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก็เป็นความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชน” ตาม ป.อ. ม.343 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท แล้วแต่กรณี
ประเด็นสำคัญ...การที่จะดำเนินคดีในความผิดฐานฉ้อโกง หรือฉ้อโกงประชาชน จำเป็นต้องมี “ผู้เสียหาย” แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน เพื่อเข้ามาเป็นพยานร่วมในการดำเนินคดีนั้น แม้ว่า “ไม่มีผู้เสียหาย” ก็ตาม เบื้องต้นตำรวจก็ยังสามารถนำ พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 มีโทษทั้งจำและปรับมาบังคับใช้ได้เช่นกัน
ตาม ม.6...หากไม่ขออนุญาตมีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และตาม ม.19 เมื่อได้รับบริจาคมาแล้วก็ต้องทำตามวัตถุประสงค์ของการรับบริจาคด้วย หากนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
เช่นเดียวกับ...“ขอบริจาคเงินผ่านออนไลน์” ในการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อช่วยเหลือสังคม คนยากไร้ ผู้ได้รับความเดือดร้อน เช่น องค์กรศาสนา องค์กรการศึกษา องค์กรการกุศลสาธารณประโยชน์ ที่เป็นในลักษณะการขอบริจาคเงิน หรือสิ่งของจำเป็นช่วยเหลือให้แก่บุคคลธรรมดาผ่านช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย
ในเรื่องนี้ยังต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 เช่นกัน กล่าวคือ...ก่อนเรี่ยไรเปิดรับบริจาคเงินนั้นก็ต้องมีการขออนุญาตทำการเรี่ยไรในสื่อสาธารณะ จากกรมการปกครอง ที่ต้องระบุวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน กำหนดวิธีการที่จะทำการเรี่ยไร และไม่สามารถเดินเรี่ยไรตามหมู่บ้านได้
แม้แต่ “บุคคลธรรมดา” ต้องการเงินช่วยเหลือด้วยฐานะยากจน หรือต้องการเงินเร่งด่วนนำไปรักษาคนใกล้ชิดแล้วโพสต์ข้อความภาพในลักษณะ ชักชวนขอรับบริจาค ก็ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดไว้ตามแต่กรณีเหมือนกัน ที่ไม่ใช่ว่า...เห็นใครน่าสงสารเวทนาแล้วโพสต์รับบริจาคได้ทันทีดั่งทุกวันนี้
ทำให้กลายเป็นปัญหา “มิจฉาชีพ” ดึงข้อมูลรูปภาพบุคคลอื่นมาดัดแปลง แก้ไขข้อความ ในการชักชวนบริจาคด้วยการแชร์ข้อความต่อกันไปเรื่อยๆ โดยชื่อ และบัญชีที่รับบริจาคมาเป็นบัญชีของตัวเอง...
ตัวอย่างเช่น...เจอชายชรานั่งขายขนมตามป้ายรถเมล์ และได้ถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กตัวเอง และมีการแชร์ต่อกัน ทำให้ประชาชนบริจาคเงินให้ชายชรา คนนี้มากมาย เพื่อจุดประสงค์นำเงินไปใช้ดำเนินชีวิต
ทว่า...“ชายชรา” นำเงินบริจาคไปใช้ตรงวัตถุประสงค์ของคนให้ก็ดีไป แต่ถ้าใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ซื้อสุรายาเมา หรือใช้เล่นการพนัน ก็ อาจเข้าข่ายความผิดขึ้น ในฐานความผิดฉ้อโกง หรือฉ้อโกงประชาชนก็ได้
ย้อนกลับมาที่...“คนโพสต์” ก็อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ในเรื่องการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ส่วน “คนแชร์ข้อความ” ก็อาจมีความผิด ป.อ.83 ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการกลายเป็น “ความผิดอาญา” ทั้งต้องโทษตามความผิด และอาจถูกตรวจสอบยึดทรัพย์สิน
เพราะความผิดข้อหาฉ้อโกงประชาชน ที่เป็นความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่มีความผิดแยกอีกส่วนหนึ่งต่างหาก...
ดั่งคำสุภาษิตไทยที่ว่า...“ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา” ถ้าไม่เห็นผลเสียที่เกิดขึ้นตามมาก็ไม่รู้ หรือไม่สำนึกถึงความผิดพลาด และหยุดกระทำ เรื่องนั้น คนเรามักจะเป็นแบบนี้ ถ้าไม่เจอประสบการณ์ร้ายๆด้วยตัวเองก็ยากจะสำนึกและเลิกกระทำเรื่องไม่ดี
อย่างไรก็ดี...ทั้งหมดทั้งมวลนี้คงต้องนำ ป.อ. ม.59 ในเรื่องเจตนา...ที่ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมาประกอบความผิดด้วย
ถ้าหาก “ไม่มีเจตนา” ก็คงไม่เข้าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาขึ้นได้...