นายดำรง เชียรทอง นิสิตระดับปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า ตนได้ศึกษาและทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับตัวอ่อนแมลงปอเสือในภาคใต้และภาคตะวันตกของประเทศไทย โดยมี รศ.ดร. บุญเสฐียร บุญสูง จากภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มก. เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และนายไมเคิล ซาโตริ จากเมืองโลซานน์ สมาพันธรัฐสวิส ร่วมเป็นทีมวิจัยซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากทุนคณะวิทยาศาสตร์ มก.และศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประสบความสำเร็จในการเลี้ยงเชื่อมโยงตัวอ่อนและตัวเต็มวัย เป็นตัวเต็มวัยของแมลงปอเสือปลายงอนที่ไม่ค่อยพบในธรรมชาติ ผลวิจัยดังกล่าวถือเป็นแมลงปอเสือปลายงอนชนิดใหม่ของโลก

ภากจากเว็บไซต์ https://www.ku.ac.th/
ภากจากเว็บไซต์ https://www.ku.ac.th/

นายดำรง กล่าวต่อว่า สถานที่ค้นพบแมลงปอเสือปลายงอนทองผาภูมิ (Stylogomphus thongphaphumensis) ชนิดใหม่ของโลกนั้น ถูกพบครั้งแรกที่ลำธารห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี โดยแมลงปอเสือปลายงอนสกุล Stylogomphus จัดอยู่ในวงศ์ Gomphidae มีรายงานพบทั้งในทวีปเอเชีย และอเมริกาเหนือ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม เมียนมา ลาว และมาเลเซีย มีการพบชนิดใหม่เรื่อยมา ประเทศไทยมีรายงานแรกแมลงปอเสือสกุลนี้มาจากตัวอ่อนที่ไม่สามารถระบุชนิดได้เมื่อปี พ.ศ.2531 จากนั้นมีภาพถ่าย และรายงานการพบตัวอ่อนที่ไม่สามารถระบุชนิดออกมาพอสมควร งานวิจัยชิ้นนี้ของตนได้รับตีพิมพ์ในวารสาร Zootaxa เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2563 นับเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นของวงการแมลงปอไทย โดยประเทศไทยมีแมลงปอเสือปลายงอน 2 ชนิด คือ แมลงปอเสือปลายงอนทองผาภูมิซึ่งเป็นชนิดใหม่ และแมลงปอเสือปลายงอนถิ่นใต้ เราจะพบตัวอ่อนแมลงปอเสือปลายงอนอาศัยอยู่ในลำธารต้นน้ำที่มีคุณภาพดีจนถึงดีมาก และตัวเต็มวัยจะพบได้ในพื้นที่ป่า ทั้ง 2 ชนิดหาเจอได้ยาก.

...

ภาพประกอบจากเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์