แวะเที่ยววันหยุดที่สวนรถไฟ กรุงเทพมหานคร พบสัตว์มากมายอาศัยอยู่ที่นี่ โดยเฉพาะนกหลากหลายชนิด เลยนึกถึงสัตว์พวกนี้ กินอะไรกันมั่ง หันไปเห็นต้นสำโรง เลยถึงบางอ้อว่า นี่คืออาหารชนิดหนึ่ง
ต้นสำโรง...เป็นต้นไม้ที่ปัจจุบันหายากชนิดหนึ่ง...ชื่อวิทยาศาสตร์ Sterculia Foetida L. ชื่อวงศ์ : Sterculiaceae ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ผลัดใบต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 30 ม. เรือนยอดรูปไข่ ถึงทรงกระบอก ลำต้นเปลาตรง โคนมีพูพอนต่ำๆ เปลือกเรียบสีน้ำตาลปนเทา
ใบประกอบรูปนิ้วมือ กางแผ่ออกเรียงเวียนจากจุดเดียวกันถึงตอนปลายกิ่ง ใบย่อย 5-7 ใบ รูปรี หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 3.5-6 ซม. ยาว 10-30 ซม. ปลายใบแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนใบรูปลิ่ม แผ่นใบหนา ใบเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ 17-21 เส้น ก้านใบประกอบยาว 13-20 ซม. ก้านใบย่อยยาว 3-5 ซม.
ดอกมีสีแดงหรือสีแสด แต่มีกลิ่นเหม็นมาก ออกรวมเป็นแบบช่อแยก ตามแขนงที่ปลายกิ่ง หรือซอกใบ ปลายกิ่งช่อดอกยาว 10-30 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ปลายม้วนออก ดอกบานเต็มที่กว้าง 2-2.5 ซม.
...
มีผลแห้งแตกออกรูปไตสองซีก มองด้านแตกจะเหมือนรูปหัวใจ มีเมล็ดสีดำมันรูปขอบขนาน กว้าง 3 ซม. ยาว 2.5 ซม.
มักพบในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง สูงจากระดับน้ำทะเล 100-600 ม. หากต้องการนำมาปลูกใช้การได้ดีด้านภูมิทัศน์ เพราะมีดอกเด่น และผลเด่นสวยงาม
แต่ดอกมีกลิ่นเหม็นมาก ฉะนั้นควรปลูกให้ไกลที่พักอาศัย และจุดนี้เองที่ทำให้คนไม่นิยมปลูก แต่ถ้าปลูกเพื่อให้เป็นอาหารนกจะดี ผลมีรสหวานรับประทานได้ เมล็ดสกัดเป็นน้ำมัน และใช้จุดไฟติดได้ดี.