ปีนี้มาเร็วและรุนแรงกว่าทุกครั้งแน่ “ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐาน” ที่แตกต่างตามแหล่งต้นกำเนิดของแต่ละพื้นที่ หากมองถึงสถานการณ์ทั้งประเทศ คงต้องโฟกัสมา “กรุงเทพฯ และปริมณฑล” ที่ได้ชื่อว่า “เมืองหลวงประเทศไทย” มีผู้คนอาศัยอยู่มากที่สุด...
ในหลายเขตพื้นที่ ท้องฟ้าถูกปกคลุมเต็มไปด้วยควัน มีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด “ฟ้าหลัวหมอกสีเหลือง” ที่กำลังเผชิญกับคุณภาพอากาศอยู่ในระดับปานกลาง จนถึงผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้ประชาชนต้องใส่หน้ากาก เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสุขภาพ
แต่ในปี 2562 นี้มีความพิเศษต่างจากปีอื่น เพราะมาเร็วกว่าปกติ อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายรุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่ประชาชนอาจต้องเผชิญกับฝุ่นละอองมลพิษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...
หากมองถึงสาเหตุต้นกำเนิด “ฝุ่นพิษจิ๋ว”...คงหนีไม่พ้น...เรื่องคมนาคมการขนส่ง หรือการจราจรของรถยนต์เครื่องดีเซลที่ปล่อยควันออกมา อีกทั้งตามเขตรอบเมืองหลวงก็ลักลอบเผาขยะ หรือเผาพืชผลเกษตรกรรม กลายเป็น “มลพิษ” ถูกกระแสลมพัดพาเข้ามาตอนในของกรุงเทพฯ
ที่น่าจับตาต่อมา...“หน้ากาก” ชนิดป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก “N95 ขาดตลาด” กระจายให้ประชาชนไม่ทั่วถึง อาจมีพ่อค้าหัวใสฉวยโอกาส “โก่งราคา” เพราะปรากฏการณ์ “ฝุ่นพิษจิ๋ว” ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก หากแต่มีปัญหามานานกว่า 10 ปี ตามความรุนแรงของจำนวนคมนาคมการขนส่งที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน
...
ปัญหามลพิษทางอากาศนี้ รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ กรรมการวิศวกรรม-สถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) อดีตกรรมการควบคุมมลพิษ กรมควบคุมมลพิษ ให้ข้อมูลว่า เรื่องพีเอ็ม 2.5 เกินกว่ามาตรฐานมีความรุนแรงแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ ที่มีปัญหาเกิดขึ้นทุกภาค ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน และภาคใต้ ในการแก้ปัญหาต้องบริหารจัดการเชิงพื้นที่ตามแหล่งต้นกำเนิดสาเหตุ...
เมื่อย้อนช่วงก่อนนี้...การตรวจค่าเฉลี่ยของฝุ่นละออง มีลักษณะแบบรวมฝุ่นหยาบ หรือฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 100 ไมครอน ในเวลา 24 ชั่วโมง ต้องไม่เกิน 0.33 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จากนั้นมีการวัดค่าเฉลี่ยของพีเอ็ม 10 ในเวลา 24 ชั่วโมง ต้องไม่เกิน 0.12 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในการควบคุมก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ตะกั่ว ฝุ่นละอองที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ ที่สามารถควบคุมได้สำเร็จมานานกว่า 30 ปี
นับตั้งแต่ปี 2554 ในพื้นที่กรุงเทพฯมีสถานีตรวจวัดพีเอ็ม 2.5 จำนวน 7 สถานี ในปี 2560 มีผลการตรวจวัดพบค่าเฉลี่ยรายปีเกินค่ามาตรฐาน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ใน 2 สถานี และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจำนวน 40-50 วันต่อปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และกระทบต่อภาพลักษณ์ของกรุงเทพฯ ในฐานะศูนย์กลางการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สาเหตุจาก...ไอเสียรถยนต์ดีเซล การเผาชีวมวล ควันเสียโรงงาน การเผาในที่โล่ง และปฏิกิริยาเคมีรวมตัวก๊าซกันเอง คือ ไอเสียรถยนต์ผสมกับแอมโมเนียจากปุ๋ยที่ใช้ในเกษตรกรรม
ทว่า...“ฝุ่นพิษจิ๋ว” มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งของเดือน ธ.ค.-มี.ค.ของทุกปี เพราะเป็นช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามาปกคลุมในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เกิดจากสภาพอากาศแห้ง และทิศทางลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดพาฝุ่นละอองจากการเผาชีวมวลในพื้นที่เกษตรกรรมภาคกลางเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ
อีกทั้งมีปัจจัยแปรปรวนอากาศรายวัน ที่เรียกว่า “อุณหภูมิผกผัน” มีชั้นอากาศอุ่นไปแทรกอยู่ระหว่างกลางอากาศที่เย็น ทำให้ลำดับชั้นของอุณหภูมิของอากาศเกิดความผิดปกติ ปิดกั้นการลอยตัวฝุ่นละออง
มีผลให้ฝุ่นละอองเกิดการสะสมไม่ลอยตัวขึ้นสู่บรรยากาศ...จากฝุ่นขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็น ก็มีการเกาะตัวร่วมกับหมอก กลายเป็นหมอกสีน้ำตาลจางจนมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น
เมื่ออากาศเย็นเจอปะทะกับอากาศอุ่น ทำให้ภาวะสภาพอากาศนิ่ง ลมไม่พัด และหมอกไม่หมุนเวียน ยิ่งวันใด...มีอุณหภูมิต่ำ และความกดอากาศสูง ท้องฟ้าปิด สภาพอากาศสงบนิ่ง ไม่กระจายตัว จะเกิดการสะสมของมลพิษระดับสูงกว่าปกติ
หนำซ้ำ...ผังเมืองถูกกำหนดให้มีความหนาแน่น มีสภาพแวดล้อมสิ่งกีดขวางลมที่พัดพามลพิษให้แพร่กระจาย หรือเจือจางลง เช่น อาคาร สิ่งปลูกสร้าง และมีการกระจายตัวใช้ประโยชน์ที่ดิน มีผลต่อระดับมลพิษในพื้นที่ใต้ลม ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแหล่งกำเนิดมลพิษทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่รอบนอก
“ปี 2562 ประเทศไทยเผชิญ “อากาศแปรปรวน” ลมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนมาเร็ว ทำให้อากาศเย็นลง ส่งผลต่อกระแสลมนิ่งไม่เคลื่อนไหว และมีการเผาขยะ พืชการเกษตรกรรม ในจังหวัดใกล้เคียงเพิ่มขึ้น ประกอบกับกรุงเทพฯมีปริมาณรถยนต์ไอเสียดีเซลเพิ่มขึ้น ทำให้ฝุ่นละอองสะสมกันมาตั้งแต่เดือน ก.ย. ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ผิดปกติ และน่าห่วงจะมีความรุนแรง” รศ.วงศ์พันธ์ ว่า
ย้อนดูวงรอบ “ฝุ่นพิษจิ๋ว” ของประเทศไทย มักเริ่มในพื้นที่ภาคใต้ เดือน ส.ค.-ก.ย.ทุกปี เพราะช่วงนี้ประเทศเพื่อนบ้านมีการเผาพืชผลเกษตรกรรม และเป็นช่วงกระแสลมประจำถิ่นเปลี่ยนทิศทาง นำพาควันพิษเข้ามาสู่พื้นที่ภาคใต้ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ คือ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง
ในส่วน “ภาคเหนือ” เริ่มการสะสม “ฝุ่นพิษจิ๋ว” ช่วงเวลาใกล้เคียงกับพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เดือน ธ.ค.-มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งเพราะมีการเผาพืชการเกษตรกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากการตรวจสอบผ่านดาวเทียมฮอตสปอตพบว่ามีไฟป่าในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก
และช่วงนี้กระแสลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากประเทศจีนพัดผ่านประเทศเพื่อนบ้านนี้ นำพาควันมาปกคลุมภาคเหนือตอนบน มีผลกระทบใน จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง พะเยา
ส่วนพื้นที่ “ภาคอีสาน”...ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหาเรื่องพีเอ็ม 2.5 โดยเฉพาะพื้นที่หนาแน่น จ.ขอนแก่น นครราชสีมา ก็มีปัญหานี้ทุกปีเช่นกัน ในช่วงฤดูแล้ง เดือน ธ.ค.-มี.ค. แต่เพราะพื้นที่นี้ยังไม่มีสถานีตรวจวัดพีเอ็ม 2.5 ทำให้ไม่มีรายงานผลกระทบทางอากาศออกมาเป็นทางการเท่านั้น...
ในเรื่อง “ฝุ่นพีเอ็ม 2.5” ต่างจากฝุ่นรวมและฝุ่นละอองพีเอ็ม 10 ไม่ว่า จะเป็นฝุ่นลมพัดฝุ่นดิน เถ้าภูเขาไฟ ละอองน้ำทะเล การบดย่อย ขัดสี และการฟุ้งกระจายวัสดุอุตสาหกรรม รวมถึงหิน ดิน ทราย เพราะฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีอันตรายกว่าฝุ่นพีเอ็ม 10 ที่สามารถเข้าไปในร่างกายได้ลึก
ตัวอย่าง...พีเอ็ม 2.5 อาทิ ฝุ่นละเอียดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่เป็นฝุ่นควันโดยตรง เรียกว่า “ฝุ่นปฐมภูมิ” และ “ฝุ่นทุติยภูมิ” เกิดจากปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศ “เกิดเป็นก๊าซ” มีสารกลุ่มซัลเฟอร์ หรือกลุ่มไนโตรเจน และแอมโมเนียเป็นสารตั้งต้น กลั่นตัวเป็นเม็ดฝุ่น เริ่มต้นมารวมตัวกันเป็นฝุ่นขึ้น
ซึ่งพีเอ็ม 2.5 มีขนาดเล็กอันตรายกว่าฝุ่นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะฝุ่นจากไอเสียรถดีเซล ถูกจัดว่าเป็นสารก่อมะเร็ง หลังสูดดมเข้าระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ถุงลมปอด มีผลกระทบต่อสุขภาพเฉียบพลันแบบรายชั่วโมงหรือผลกระทบเรื้อรัง ทั้งอาการป่วยระบบหายใจ หลอดเลือดหัวใจ อาจก่อให้เกิดถึงโรคมะเร็งปอด...
ที่เคยสำรวจ...ฝุ่นละอองจากถนน ดินฟุ้งปลิว รวมถึงฝุ่นจากการก่อสร้างร้อยละ 90 มีขนาดใหญ่กว่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 แต่จากการเผาในที่โล่ง เช่น การเผาของเสียเกษตรกรรม มีฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ประมาณร้อยละ 80 ในการเผาไหม้น้ำมันดิบไอเสียรถดีเซล การเผาไหม้เตาครัวเรือน มีพีเอ็ม 2.5 สูงถึงร้อยละ 90
ปัจจุบันรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 3-4 มีค่ากำมะถันสูง ในกรุงเทพฯมีไม่ต่ำกว่า 6-7 หมื่นคัน ที่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ และปล่อยควันขาวออกมา ต่างจากรถยนต์ที่ใช้เบนซิน หรือใช้น้ำมันยูโร 5-6 ในระยะยาวต้องเปลี่ยนใช้น้ำมันยูโรคุณภาพ เพื่อลดการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์
ฝุ่นละอองอากาศ...มีต้นเหตุจาก “ไอเสียรถยนต์ดีเซล” การแก้ปัญหา “คนก่อ” ไม่ต้องแก้...แต่คนแก้กลับเป็น “ประชาชน” ที่เป็นคนจ่าย...ต้องแบกรับภาระนี้.