หมอสูตินรีเวช แชร์ประสบการณ์การช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินบนเครื่องบิน รับต้องสลัดความกังวล อย่ากลัวที่จะเปิดเส้น และต้องประเมินการช่วยเหลือ ให้ไม่กระทบผู้ป่วย รวมถึงผู้โดยสารคนอื่น ...
ช่วยคนไข้บนเครื่องบิน ฉบับหมอสูติ สลัดความกังวล อย่ากลัวที่จะเปิดเส้น
ผู้ใช้เฟซบุ๊ก "Artitaya Singwongsa" ซึ่งเป็นแพทย์สูตินรีเวช ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงเหตุการณ์การช่วยเหลือคนบนเครื่องบิน ฉบับหมอสูตินรีเวช
โดยระบุว่า ขากลับจากเกาหลีคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เนื่องจากวันจันทร์ต้องทำงานแต่เช้า มีชั่วโมงผ่าตัด และไฟลท์บินถึง กทม. ตีหนึ่ง ตนจึงจองที่นั่ง J class ซึ่งก่อนเครื่องลงประมาณสองชั่วโมงครึ่ง ขณะกำลังเคลิ้ม เห็นไฟอ่านหนังสือยิงเข้ามาที่หน้า จึงลืมตาขึ้น และเห็นแอร์หลายคนกำลังยืนรุมช่วยเหลือใครคนนึงอยู่ จึงชะเง้อดู ตามสัญชาตญาณเหมือนจะมีคนป่วย มองเห็นผู้ชายคนนึงสีหน้าไม่ค่อยดี นอนอยู่ตรงกลางนั้น เลยรีบลุกไปถาม ว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรไหม
ผู้ป่วยเป็นชายอายุ 25-35 ปี มีอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก ใจเต้นแรง และหนาว รู้มือเย็นเท้าเย็น เวียนศีรษะเล็กน้อย ผะอืดผะอม แต่รู้ตัวรู้เรื่องดี คุณแอร์โฮสเตสเลยย้ายที่นั่งจากชั้นประหยัด มาเป็นชั้นธุรกิจ
การหายใจไม่ออกของคนไข้ทำให้เรารู้สึกกังวลและนึกถึง cardiac หรือ pulmonary condition ซึ่งถ้าเป็นแบบระดับรุนแรง จะทำการช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง ความรู้ตอนนี้มันห่างไกลจากการทำงานห้องฉุกเฉินไปแล้ว
...
ตอนนั้นเรียกหาอุปกรณ์ช่วยเหลือ เครื่องวัดความดัน ชีพจร stethoscope และกล่องยา อุปกรณ์ฉีดยาของบนเครื่องบิน ให้ช่วยเอามาให้ดู พร้อมซักประวัติและประเมิน general exam ของคนไข้ไปด้วย
ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ค่อยได้ขึ้นเครื่องบิน ไม่เคยแพ้ยาแพ้อาหาร ดื่มไวน์ไปสองแก้ว แต่ปกติเคยดื่มมากกว่านี้ และอื่นๆ ระหว่างนั้นก็ให้ออกซิเจน ปรับระดับออกซิเจน วัดความดันคนไข้พุ่งพรวดๆ 220/150 กว่าๆ โชคดีที่วัดซ้ำแล้วลดลง จากนั้นก็ไม่สูงอีก
คุณพี่ เพอร์เซอร์ มาบอกว่า กัปตันฝากมาถามว่าจะให้เอาเครื่องลงจอดฉุกเฉินหรือไม่ จังหวะนั้น คิดหนัก เพราะยังไม่รู้ว่าเค้าเป็นอะไร ต้องตรวจดูก่อน แน่นอนว่าเรื่องนี้ถ้าตัดสินใจผิดพลาด คนไข้เดือดร้อนแน่ๆ แต่ถ้าตัดสินใจโอเวอร์เกินไป คนบนเครื่องอีกเป็นร้อยๆ คงลำบาก ที่จะไม่ได้ไปทำงานวันจันทร์ จึงตอบว่าขอลองรักษาดูก่อน เดี๋ยวรีบบอก
มันเป็นโมเมนต์ ที่เชื่อว่า คนที่จบ subspecialist ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Med คงเครียดมากๆ แบบที่เราเป็น แต่ก็ตั้งสติ ถามตัวเองว่า เราเรียบจบ พบ. มา ต้องทำได้ไม่แย่กว่า พบ.
ตนเริ่มตรวจคนไข้ตามระบบ ประเมินไปทีละอย่าง ตัดวินิจฉัยแยกโรคมา สองสามอย่าง สรุปว่านึกถึง alcohol intoxication with hypoglycemia (ไม่มีเครื่องวัดระดับน้ำตาลบนเครื่องบิน แต่ดูจากประวัติอาการ และ อาการแสดง) หรืออาการแพ้ เลยลองให้ดื่มน้ำหวาน กินยาแก้แพ้ แต่คนไข้บอกว่าดื่มไม่ไหว คลื่นไส้ เราเลยต้องฉีดยาเข้าไป
พูดถึงฉีดยาเข้าเส้นเลือด หลายๆ คนคงนึกว่าเป็นเรื่องปกติที่หมอทำได้ บอกเลยว่าคุณพยาบาลทำได้ดีกว่ามากๆ พวกเราไม่ได้ฉีดยาในคนกันเลย ตั้งแต่ตอนเรียน อย่างมากตอนเรียนคือฉีดยาใส่ผักบุ้งที่ฝังใต้ซิลิโคน และผลัดเจาะเลือดเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน แต่การเปิดเส้นฉีดยาเข้ากระแสเลือด โดยเฉพาะบนเครื่องบินนั้น มันช่างบีบหัวใจเรามาก คือให้ทำคลอดบนเครื่องบินยังง่ายกว่า 555
แต่เสี้ยววิตอนนั้นบอกตัวเองว่า หยุดกังวล ถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีใครทำได้แล้วในตรงจุดนี้
ขั้นตอนการหาเส้น ไม่ง่าย เพราะคนไข้ตัวใหญ่ หาเส้นหนาๆ ยาก แต่ใช้สายรัดต้นแขนพอช่วยได้อยู่ ยาตัวแรกที่ฉีดคือ 50% glucose 10 ml หลังฉีดโดสแรกในหนึ่งนาที สัญญาณชีพ ชีพจร เริ่มจะปกติ คนไข้ดีขึ้นแบบ dramatically รู้สึกดีใจกว่าสอบผ่าน ให้กินยาแก้แพ้ไปด้วย
หลังจากคนไข้ดีขึ้น เราเลยย้ายที่นั่งมานั่งฝั่งใกล้ๆเค้า ดูแลสัญญาณชีพไปจนเครื่องแลนด์
จบทริป คุณแอร์มายืนขอบคุณมากๆ คนไข้ก็ไหว้ขอบคุณเราจนเรารู้สึกเขินเพราะไม่ได้ทำอะไรมาก คนอื่นน่าจะทำได้ดีกว่าเราเสียด้วยซ้ำ จบแบบแฮปปี้ เอนดิ้ง กลับบ้านอย่างมีความสุข หัวใจพองโต
ขอแจ้ง tip and tricks เผื่อเป็นประโยชน์
1. คนป่วยอยู่ใกล้ตัวเรามากๆ เกิดมาเป็นหมอ ก็ต้องสังเกตและพร้อมช่วยคนข้างๆ ทุกสถานการณ์จริงๆ แม้แต่บนเครื่องบิน นี่กลับมาทวน CPR guideline ต่อเลย
2. คอยไปเล่น ไปศึกษาถังออกซิเจนและอุปกรณ์เชื่อมต่อ ถึงเวลาเราจะได้เชี่ยวชาญว่าต่ออะไรยังไง เปลี่ยนหัวแก๊สตรงไหน นี่ก็งมอยู่กะคุณแอร์กว่าจะเปลี่ยนจาก 2 LPM เป็น 4 LPM
3. high touch, low tech ให้เป็น (stethoscope บนเครื่อง เสียงไม่ชัดเลย อุปกรณ์ก็จำกัด ไม่เหมือนบนดิน พอนึกออกเนอะ)
4. ซักประวัติ ตรวจร่างกายตามระบบไป ทุกคนทำได้ค่ะ วินิจฉัยมันมาเอง ถึงจะไม่ตรง 100% และก็ต้อง manage ให้เร็วด้วยจริงๆ airway-breathing-circulation วนไป
5. อย่ากลัวที่จะเปิดเส้น มันอยู่ในสายเลือด ต้องเชื่อว่าจะทำได้
6. แอลกอฮอล์ ดื่มบนเครื่องจะเมาง่ายมาก ความกดอากาศบนเครื่องต่ำด้วย อย่าดื่มกันเยอะ และอย่าดื่มกันเร็ว
คำกล่าวที่ว่า “Doctors should be ready for in-flight problems” จริงยิ่งกว่าจริง
ถึงจะเป็นไฟลท์(ที่ตั้งใจมา)นอนไม่ได้นอน แต่ดีใจที่ได้เป็นหมอครั้งที่เท่าไรก็ไม่รู้
(อ่านโพสต์ต้นฉบับ ที่นี่)
ที่มาจาก เฟซบุ๊ก Artitaya Singwongsa