"ย่านนวัตกรรมโยธี" ศูนย์กลางทางแพทย์และการวิจัยระดับโลกของไทย
ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (Yothi Medical Innovation District : YMID)
ศูนย์กลางทางแพทย์และการวิจัยระดับโลกแห่งใหม่อีกแห่งหนึ่งของโลก ที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)
เพราะย่านนวัตกรรมแห่งนี้ถือว่ามีการกระจุกตัวของโรงพยาบาล และสถาบันทางการแพทย์ จำนวนทรัพยากรบุคคล บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ สถานพยาบาล โรงเรียนแพทย์ และโครงสร้างพื้นฐานต่อจำนวนประชากรสูงสุดในกรุงเทพฯ ครอบคลุมตั้งแต่บริเวณอนุสาวรีย์ชัย โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันสุขภาพเด็กฯ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ต่อเนื่องมาถึง โรงพยาบาลรามาธิบดี สถาบันประสาท สถาบันมะเร็งฯ โรงพยาบาลสงฆ์ กรมแพทย์ทหารบก สถาบันโรคไต ฯลฯ
...
ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา มี 3 กระทรวงร่วมกันผลักดันนั่นก็คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นแม่งาน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยมี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่าง 3 กระทรวง และมี “นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ” เป็นประธาน คณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เพื่อพัฒนาแนวทางและกิจกรรมในการพัฒนาย่านฯ ทั้งด้านนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ บริการ สภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐาน
“นี่คือการยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพและการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ ขณะที่ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการยอมรับจากระดับนานาชาติในเรื่องความรู้ความสามารถในการให้บริการทางด้านสุขภาพ เพราะหมอไทยเก่งไม่แพ้ชาติใด ดังนั้น การวางรากฐานและสร้างต้นแบบการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ในประเทศจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยแผนการดำเนินงานประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ การพัฒนาเป็นพื้นที่ด้านนวัตกรรมแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะ 5 ปี ระยะ 10 ปี และระยะ 20 ปี ตามลำดับ โดยในระยะ 5 ปีแรกจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยที่มีศักยภาพสูง สอดคล้องกับมาตรการและนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ระยะ 10 ปีจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเชิงกายภาพให้กับพื้นที่เพื่อส่งเสริมการวิจัยพัฒนา และทดลองนวัตกรรม และการสร้างโครงข่ายสัญจรเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานภายในพื้นที่อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ และระยะ 20 ปี จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเชิงกายภาพรองรับและสนับสนุน” ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นคนผลักดันให้เกิดย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ระบุถึงแผนการดำเนินงาน โดยสุดท้ายของการดำเนินการ คือ การปลดล็อกข้อจำกัดและผลักดันโครงการด้านการแพทย์และสุขภาพของหน่วยงานภายในพื้นที่ ให้เกิดประสิทธิภาพทางธุรกิจ
สำหรับการดำเนินงานขณะนี้ ทั้ง 3 กระทรวงกำลังพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานหรือพื้นที่เพื่อรองรับการวิจัย พัฒนา และทดลองนวัตกรรม ทางการแพทย์ รวมทั้งนำไปสู่อุตสาหกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3% ของ GDP รวมทั้งสร้างเครือข่ายและขยายผลนวัตกรรมสุขภาพที่มีอยู่แล้วในพื้นที่มากกว่า 40 โครงการให้สามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง
“ที่สำคัญจะมีดึง ศูนย์วิจัยทางการแพทย์บอสตัน และ โรงพยาบาลเมโย จากประเทศสหรัฐฯ มาร่วมงานด้วยเพื่อยกระดับการแพทย์ของประเทศ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรมและสตาร์ตอัพย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ถือเป็นสตาร์ตอัพ-สุขภาพ โดยเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา กระ-ทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้นำ 400 สตาร์ตอัพในหลากหลายสาขาเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งได้ให้นโยบายว่าสิ่งที่ทำอยู่เดินอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะโลกทุกวันนี้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีและดิจิทัล ขณะที่รัฐบาลวางเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางสตาร์ตอัพจากทั่วโลกเพื่อเข้าสู่ตลาดเอเชีย และต่อจากนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของแรงกระเพื่อมใหม่ในประเทศไทย หน่วยงานในภาครัฐบาลก็ควรคิด สร้างสรรค์ มุ่งมั่น และทำงานเหมือนสตาร์ตอัพ” รมว.วท.ระบุในอีกช่วงตอนหนึ่ง
อีก 3 เดือนจากนี้ เราจะได้เห็นรูปธรรมของย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี
“ทีมข่าววิทยาศาสตร์” มองว่า นี่คือเรื่องใหม่ของประเทศที่นำทรัพยากรและศักยภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆมาใช้เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของพื้นที่ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ
ที่สำคัญคือ ยังเท่ากับช่วยเติมเต็มศักยภาพในการยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพและการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ และขานรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งเป็นแนวคิด นโยบาย และความใฝ่ฝันของรัฐบาล (หลายยุคสมัยที่ผ่านมา)
และแน่นอนว่าถ้าประ-เทศมีการแพทย์ที่ดีนอกเหนือจากจะนำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศแล้ว ยังหมายถึงชีวิตและคุณภาพของคนไทยก็จะดีตามไปด้วย เพราะการเข้าถึงรักษาที่รวดเร็วคือหัวใจหลักในการช่วยชีวิตคน
แต่สิ่งที่เราแอบกลัวอยู่ลึกๆในใจ และอยากจะขอฝากผู้มีอำนาจในการบริหารงานบ้านเมือง คือ เวลาผ่านไป คนเปลี่ยนแปลง โครงการดีๆอาจจะเลือนหายไปด้วย
ประเทศไทยนอกจากจะต้องเสียงบ ประมาณแล้วยังต้องเสียโอกาสดีๆไปด้วย
ที่สุดความฝันที่สวยงามก็เป็นแค่ไฟไหม้ฟาง.
ทีมข่าววิทยาศาสตร์