"ในหลวง-พระราชินี" เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 ทรงโบกพระหัตถ์ทักทายประชาชนที่สวมเสื้อเหลืองเฝ้าฯ รับเสด็จเนืองแน่น
เมื่อเวลา 16.35 น. วันที่ 5 ธันวาคม 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเจ้าคุณพระสินีนาฎ พิลาสกัลยาณี ออกจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต เพื่อทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีคณะกรรมการโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ และประชาชน เฝ้าฯ รับเสด็จ
การนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล (สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ถวายศีล) จากนั้น เสด็จไปยังมณฑลพิธีวางศิลาฤกษ์ เสด็จฯ ไปยังโต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน และธูป ที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย แล้วทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องสังเวย ทรงตั้งพระราชสัตยาธิษฐานถวายเครื่องราชสักการะ ทรงโปรยข้าวตอก ดอกไม้ ที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย ทรงคม ทรงพระดำเนินไปยังแท่นวางศิลาฤกษ์ฯ พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ
ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นอิฐทอง นาก เงิน และแผ่นศิลาฤกษ์แล้วทรงวางแผ่นอิฐทอง นาก เงินและแผ่นศิลาฤกษ์ ลงในหลุมศิลาฤกษ์
โดยพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 มีสัดส่วนสูง 5.19 เมตร มีขนาดเป็นสามเท่าของพระองค์จริง ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ มีความสูง 18.7 เมตร จากระดับถนนศรีอยุธยา ตั้งอยู่ในลานรูปไข่ มีพื้นที่ 2,173 ตารางเมตร บนเนินสูง 7 เมตร โอบล้อมด้วยสวนป่าผสมผสาน โดยแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 ตั้งอยู่บนผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
ต่อมาเสด็จเข้าพลับพลาพิธีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก (พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก) เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการทรงลาพระสงฆ์
เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปทอดพระเนตรจัดแสดงผังแม่บทโครงการ แนวคิดหลักการออกแบบโครงการ การจัดเส้นทางการสัญจรในโครงการ และทัศนียภาพในโครงกานิทรรศการอุทยานเฉลิมพระเกียรติ
แล้วเสด็จฯ ไปยังบริเวณที่ทรงปลูกต้นไม้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกต้นรวงผึ้งเป็นปฐมฤกษ์ (จำนวน 1 ต้น) อันมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศไทย (พบมากทางภาคเหนือ) ฤดูการออกดอกเดือน ก.ค. – ส.ค. เป็นไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 8 เมตร ใบรูปมนรีหรือขอบขนานปลายแหลมขอบใบเรียบ ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ออกเป็นช่อสั้นๆ ตาม ซอกใบ สีเหลืองสด ขนาด 1.3–1.5 เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลกลมเป็นแบบแห้งไม่แตก ขนาด 0.5–1 เซนติเมตร ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับให้กลิ่นหอม
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปลูกต้นคำมอกหลวง (จำนวน 1 ต้น) เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ มีความสูง 7-15 เมตร เรือนยอดกลม โปร่ง หรือแผ่กว้าง มีดอกขนาดใหญ่สีขาวนวล แล้วเปลี่ยนเป็นดอก สีเหลืองทอง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ มีกลิ่นหอม เส้นผ่าศูนย์กลาง ของดอก 5.5-7 เซนติเมตร ปลูกเป็นไม้ประดับให้กลิ่นหอม ใช้เมล็ดต้มเคี่ยวกับน้ำผสมเป็นยาสระผมฆ่าเหา
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดีกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงปลูกต้นโมกหลวง (จำนวน 1 ต้น) โมกหลวงเป็นไม้ยืนต้น สูง 5-10 เมตร ทุกส่วนของต้นมีน้ำยาง สีขาว ใบเดี่ยวเรียงตรงข้าม แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ รูปรีหรือขอบ ขนาน ปลูกเป็นไม้ประดับใหก้ลิ่นหอม เนื้อไม้สีขาวใช้ทำของใช้ได้เปลือกต้นมีรสขมฝาด มีสารแอลคาลอยด์ที่สำคัญคือ คอเนสซีน (conessine) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย แก้ท้องร่วง
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงปลูกต้นรัตนพฤกษ์ (คูนสายรุ้ง) (จำนวน 1ต้น) เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงได้ถึง 10 เมตร ใบประกอบมี 8-10 คู่ ผลัดใบช่วงสั้นๆ ในหน้าแล้งและออกดอกทั้งต้นพร้อมผลิใบอ่อน ดอกออกเป็นช่อใหญ่ตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อเป็นพวงห้อยลง ดอกขนาด 3.5 -4.5 เซนติเมตร ฝักคล้ายฝักคูน ปลูกเป็นไม้ประดับ ให้กลิ่นหอม
และเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ปลูกต้นสุพรรณิการ์ (จำนวน 1 ต้น) เป็นต้นไม้ผลัดใบสูง 7-15 เมตร กิ่งก้านคดงอ ใบรูปหัวใจแผ่น ใบแยกเป็น 5 แฉก ขอบใบเป็นคลื่น ดอกเป็นช่อออกกระจาย ที่ปลายกิ่งบานทีละดอก ดอกเหลืองมีกลิ่น กลีบบาง เกสรสีเหลือง รังไข่มีขน ผลกลมเมื่อแก่แตก 3-5 พู ภายในมีเมล็ดรูปไตสีน้ำตาล หุ้มด้วยปุยขาวคล้ายปุยฝ้าย ใบอ่อน นำมาต้มเอาน้ำสระผมและโรคบิด ดอกแห้งและใบแห้งใช้เป็นยาบ้ารุงกำลัง
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเจ้าคุณพระสินีนาฎ พิลาสกัลยาณี ไปยังรถยนต์พระที่นั่งประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินออกจากอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ไปยัง พระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สำหรับอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แนวพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ ผ่านองค์ความรู้ เรื่อง “ป่าและน้ำ” ซึ่งเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสวน และเป็นสถานที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้พระราชทานไว้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของมนุษย์กับธรรมชาติ เสริมสร้างคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เป็นสถานที่ศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป
อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ สร้างบนพื้นที่อดีต “สนามม้านางเลิ้ง” เป็นที่ดินในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานให้เป็นสวนสาธารณะเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชน ครอบคลุมพื้นที่ 279 ไร่ โดยเริ่มพัฒนาแบบตั้งแต่พุทธศักราช 2571 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในพุทธศักราช 2567 อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ เป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นหัวใจและศูนย์กลางของอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ฯ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ มีแนวคิดการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อาทิ สระน้ำรูปเลข ๙ และสวนป่าธรรมชาติ ที่สอดรับกับแนวคิดเรื่องป่าและน้ำ สะพานหมายเลข ๙ เป็นเส้นทางเดินภายในนำสู่พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ
สะพานหยดน้ำพระทัย น้ำพระราชหฤทัยดั่งสายน้ำที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาตลอด 70 ปี สะพานไม้เจาะบากง จำลองสะพานไม้จากบ้านเจาะบากง อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงงานเมื่อพุทธศักราช 2524 และแก้มลิง พื้นที่รองรับน้ำในยามที่เกิดวิกฤตอุทกภัย บริเวณของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ กว่า 4,500 ต้น จัดวางคล้ายคลึงป่าธรรมชาติ ปลูกไม้ที่มีความหมายและมีประโยชน์ อาทิ การปลูกพืชกรองฝุ่น การปลูกไม้โตเร็ว เพื่อสร้างร่มเงา ต้นไม้ประจำจังหวัด ไม้หายาก และพืชบำบัดน้ำ สร้างระบบนิเวศ ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน นอกจากจะให้ความรู้หลากมิติที่เข้าถึงได้ง่าย ผู้คนยังได้รับความสุขจากธรรมชาติ ภายในสวนยังมีเส้นทางเดินและวิ่ง ทางปั่นจักรยาน มีสนามออกกำลังกายกลางแจ้ง ลานกิจกรรมและนันทนาการ ลานริมน้ำ ร้านค้าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ลานจอดรถ และส่วนอำนวยความสะดวก มีการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาบริหารจัดการเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน