“ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุข ร่วมกันในการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น...สุเมธ งานยังไม่เสร็จนะ หน้าที่ของพวกเราคือรักษาแผ่นดิน” พระราชดำรัสดังกล่าวของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่รับสั่งไว้กับ “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ขณะเข้าเฝ้าฯเพื่อถวายรายงานสถานการณ์ต่างๆ ณ โรงพยาบาลศิริราช เป็นดั่งคำสั่งเสียสุดท้ายถึงประชาชนคนไทยทุกคน
ย้อนกลับไปวันแรกๆที่ “ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล” ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยตามเสด็จไปยังพื้นที่ทรงงานจังหวัดนราธิวาส พระองค์ทรงเรียกหา “ถุงเงิน” จนเกิดความงุนงงไปตามๆกัน
“พอดีที่ปักษ์ใต้มีวัวชนอยู่ตัวหนึ่งชื่อ “ถุงเงิน” มหาดเล็กคิดว่าทรงอยากทอดพระเนตรวัวชน เลยทูลว่าวันนี้ชนอยู่ที่สงขลา เดี๋ยวชนเสร็จแล้วจะใส่รถมา พระองค์รับสั่งว่าไม่ใช่วัว พร้อมชี้มาที่ผม ผมจึงถูกเอ็ดว่าไปยืนไกลทำไม วันนั้นถึงได้รู้ว่าที่ยืนของผมควรยืนอยู่ใกล้พระองค์” เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) บอกเล่าถึงที่มาของชื่อ “ถุงเงิน” ซึ่งมีหน้าที่ถือเงินสองกระเป๋า กระเป๋าหนึ่งจาก กปร.เป็นงบประมาณแบบราชการใช้สำหรับงานที่สามารถรอได้ เช่น การสร้างถนนหนทาง และอ่างเก็บน้ำ ส่วนอีกกระเป๋าเป็นของ “มูลนิธิชัยพัฒนา” มูลนิธิที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้น ด้วยต้องพระราชประสงค์ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนได้ทันท่วงที
หลายปีก่อน กรุงเทพฯกำลังเกิดน้ำท่วมใหญ่จากน้ำที่ไหลบ่ามาจากทางเหนือ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อทรงสอบถามถึงสถานการณ์น้ำ หน่วยราชการได้กราบบังคมทูลว่าพรุ่งนี้จะไปดำเนินงาน พระองค์จึงตรัสถามว่า...“น้ำหยุดแล้วหรือ ไปเดี๋ยวนี้แหละ คืนนี้เลย น้ำไม่ใช่ว่าเริ่มไหลเวลาแปดโมงครึ่งแล้วก็สี่โมงครึ่งหยุดพักตามริมตลิ่ง”...ทรงเล็งเห็นว่า ความทุกข์ของประชาชนไม่ต้องรอเบิกใครเลย เพราะความทุกข์ความทรมานไม่มีวันหยุดหรอก เขาทุกข์เดี๋ยวนี้ ต้องไปเดี๋ยวนี้เลย
“งานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นต้องทำเร็ว คิดเร็ว แก้ปัญหาเร็ว เรื่องเช่นนี้ไม่อาจทำได้ใน ระบบระเบียบของราชการ เนื่องจากราชการมีขั้นตอน ระเบียบแบบแผนที่ยุ่งยากพอสมควร จะไม่ทันกับเวลาและปัญหาที่ต้องใช้ความรวดเร็ว มูลนิธิฯดำเนินการเป็นตัวอย่างก่อน หากรัฐบาลเห็นสมควรว่ามีประโยชน์ก็นำไปทำต่อ หรือจะนำแบบอย่างไปทดลองที่อื่นก็ได้...” พระราชดำรัสในการประชุมกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนาครั้งที่ 2/2539 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา วันที่ 11 กรกฎาคม 2539 สะท้อนได้ดีถึงความห่วงใยของพระราชาในการช่วยเหลือราษฎรของพระองค์ให้ได้แก้ไขทุกข์ร้อนอย่างทันท่วงที
จุดเริ่มต้นของ “มูลนิธิชัยพัฒนา” เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2530 ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีรับสั่งให้ “ดร.สุเมธ” เข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร โดยวันนั้นมีรับสั่งว่า “การทำงานแบบระบบราชการไม่ทันกาล ความทุกข์ของประชาชนเกิดขึ้นเมื่อไรต้องแก้เมื่อนั้น หากต้องรออนุมัติเบิกงบประมาณก็แย่พอดี อย่ากระนั้นเลย ทำแบบ “โง” ดีกว่า ทรงถามผมว่าทำแบบโงเป็นไหม ผมจึงทูลว่าไม่เป็นพระพุทธเจ้าค่ะ พระองค์จึงตรัสว่า จบด็อกเตอร์ทำไมทำแบบโงไม่เป็น ก็ NGO ไงล่ะ ไปตั้งมูลนิธิมา ให้ชื่อว่า “ชัยพัฒนา” มูลนิธินี้ฉันจะสั่งงานเอง”
“มูลนิธิชัยพัฒนา” เป็นมูลนิธิแรกและมูลนิธิเดียวที่ไม่มีคำว่า “ในพระบรมราชูปถัมภ์” ต่อท้าย เนื่องจากในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ด้วยพระองค์เอง ทุนประเดิมในการจัดตั้งมูลนิธิชัยพัฒนาอยู่ที่ 3 ล้านบาท มาจากการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และผู้ถวายงานใกล้ชิดร่วมสมทบด้วยอีกจำนวนหนึ่ง
ตลอดเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา หลักการทำงานสำคัญที่สุดของมูลนิธิชัยพัฒนาที่ทำให้ได้ใจมหาชนคือ “ไม่เรี่ยไร แต่จงทำงานให้ประชาชนศรัทธา” ดร.สุเมธ บอกเล่าว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 มีพระบรมราโชบายตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา รับสั่งว่าห้ามเรี่ยไรนะ! ผมนึกในใจว่า อย่างนั้นจะเอาเงินมาจากไหน พระองค์ได้ทรงอธิบายว่า สาเหตุที่ห้ามเรี่ยไรเพราะไม่มั่นใจว่าเขาเต็มใจหรือเปล่า ไปขอผู้หลักผู้ใหญ่เขาก็อาจจะให้ด้วยความเกรงใจ สิ่งที่ควรทำคือ เราทำอะไร เล่าให้เขาฟัง เมื่อเขาฟังแล้ว เขาเห็นแล้ว เขาก็มีศรัทธาขึ้นมา พอมีศรัทธา เขาก็จะมาให้เงินเราเอง มูลนิธิชัยพัฒนาจึงยืดถือหลักการดังกล่าวมาตลอด โดยมีช่องทางการสื่อสารและเผยแพร่ผลการทำงานหลากหลาย เริ่มด้วยการจัดทำวารสารมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ส่งตรงถึงบ้านผู้ร่วมบริจาค ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2531 จนถึงวันนี้ รายชื่อผู้บริจาคทุกท่านก็ยังคงได้รับการตีพิมพ์อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะบริจาค 5 บาท หรือ 100 ล้านบาท ทุกคนล้วนเป็นคนสำคัญของมูลนิธิ “เพราะศรัทธาไม่ได้วัดที่จำนวนเงิน”
“ความสมถะเรียบง่าย” ถือเป็นอีกหนึ่งพระราชจริยวัตรอันงดงามของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ผู้ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดต่างคุ้นชิน และได้ซึมซับมาตลอด “ดร.สุเมธ” บอกเล่าความประทับใจว่า เมื่อมีประชุมที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในหลวงรัชกาลที่ 9 มักจะประทับนั่งพับเพียบบนพื้น มีเพียง 2–3 ครั้งเท่านั้น ที่ทรงประชุมบนโต๊ะ เพราะไม่มีโต๊ะไหนวางกระดาษยักษ์ของแผนที่ได้ นอกจากพื้น ตั้งแต่บัดนั้นเราก็นั่งพับเพียบล้อมเพื่อเข้าเฝ้าฯอย่างเรียบง่าย แทนที่จะมีพิธีรีตอง
“มองทุกอย่างที่ฉันทำ จดทุกอย่างที่ฉันพูด สรุปทุกอย่างที่ฉันคิด” ช่วงแรกที่เข้ามาถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 “ดร.สุเมธ” กังวลว่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ดี เนื่องด้วยร่ำเรียนมาด้านรัฐศาสตร์การทูต และไม่เคยมีความรู้ใดๆด้านเกษตรกรรม การฟื้นฟูป่า หรือการบริหารจัดการน้ำ กระนั้น พระองค์รับสั่งว่า “ไม่รู้ไม่เป็นไร เดี๋ยวฉันสอนเอง โดยสิ่งที่รับสั่งให้ปฏิบัติในการถวายงานช่วงแรกเริ่มคือ มองทุกอย่างที่ฉันทำ จดทุกอย่างที่ฉันพูด สรุปทุกอย่างที่ฉันคิด”
“ชัยชนะของประเทศนี้ โดยงานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นก็คือ ความสงบ...เป็นเมืองไทยที่จะมีความเจริญก้าวหน้า จนเป็นชัยชนะของการพัฒนา ตามที่ได้ตั้งชื่อมูลนิธิชัยพัฒนา ชัยของการพัฒนานี้ มีจุดประสงค์คือ ความสงบ ความเจริญ ความอยู่ดีกินดี” ไม่ว่าจะผ่านไปกี่เดือนกี่ปี ความร่มเย็นเป็นสุขและอยู่ดีกินดีของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ก็คือภาระหน้าที่อันสูงสุดของสถาบันพระมหากษัตริย์.
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ