โบราณว่าไว้ “อย่าหักด้ามพร้า ด้วยเข่า” คือไม่ให้ใช้วิธีการหักดิบ หรือหักหาญน้ำใจในการแก้ไขปัญหา
แต่ต้องประเมินผลได้ ผลเสีย ถ้ากระทำการใดโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น อาจส่งผลร้ายย้อนกลับมาหาตัวเอง
เปรียบกับการหักด้ามพร้าด้วยเข่า ด้ามพร้าไม่หักเพราะแข็งแรงทนทาน แต่คนหักจะบาดเจ็บเสียเอง
ฉันใดก็ฉันนั้น การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีกระแสคัดค้านปมยัดไส้มาตรา 10/1 เรื่องการตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” เพิ่มเข้ามาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ
ถึงขั้นที่ “คุณชายอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ต้องออกโรงตั้งโต๊ะแถลง เรียกร้องให้สนช.เห็นแก่ประเทศชาติ ตัดมาตราเจ้าปัญหานี้ออกไป
ชี้หากปล่อยให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นยาดำแทรกอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นการเปิดประตูให้ไอ้โม่งเข้ามาฮุบกิจการพลังงาน ของชาติ
กระทบไปถึงการบริหารจัดการของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจพลังงาน สร้างความเจริญให้แก่ประเทศดีอยู่แล้ว ต้องได้รับผลกระทบไปด้วย
หวั่นวงการพลังงานไทยถอยหลังเข้าคลอง ย้อนยุคกลับไปสมัยปั๊มน้ำมันสามทหารเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว!!!
จุดกระแสคัดค้านให้อื้ออึงเข้าไปใหญ่
และกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ฝ่ายที่หนุนจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ อย่างเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขยับเคลื่อนไหวให้มีการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม
เพื่อให้มีการจัดตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ไม่ใช่เลื่อนลอยเหมือนกับที่มาตรา 10/1 กำหนดให้จัดตั้ง “เมื่อพร้อม” ซึ่งไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหน เป็นร้อยปีหรือไม่
...
เมื่อฝ่ายหนึ่งยึด ปตท.เป็นสรณะ ต้องการให้มีบทบาทในการบริหารจัดการธุรกิจพลังงานทั้งหมดเหมือนเดิม
แต่อีกฝ่ายต้องการให้ปฏิรูปจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เข้ามาควบคุมดูแลผลประโยชน์ด้านพลังงานของ ประเทศ
จนกลายเป็นศึกชิงขุมทรัพย์พลังงาน บนเวทีพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม
สุดท้าย สนช.ก็เลยต้องหาทางแหวกวงล้อมศึก 2 ด้าน ด้วยการหักมุมให้กรรมาธิการวิสามัญฯ ตัดเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติออกทั้งยวง
แล้วจับยัดไว้เป็นข้อสังเกตแนบท้ายร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ลดกระแสที่กำลังโดนรุมกระหน่ำ
เปิดช่องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาผลดี ผลร้าย ผลได้ ผลเสีย ในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ภายใน 60 วัน หลังจาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มีผลบังคับใช้
โดยให้เวลาในการศึกษาอีก 1 ปี ก่อนส่งผลสรุปให้รัฐบาลนำไปตัดสินใจในอนาคตอีกครั้ง???
พลิกเกมให้ สนช.สามารถแหกด่านมะขามเตี้ยลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ไปได้แบบฉลุย
ในขณะที่ฝ่ายหนุน ปตท.ก็สบายใจไร้กังวล ส่วนฝ่ายหนุนตั้งบรรษัทน้ำมันก็ไม่เสียเชิง เพราะอย่างน้อยยังมีหัวเชื้อ ตั้งคณะกรรมการศึกษาฯคาท่อไว้ จะขยับเคลื่อนไหวเมื่อไหร่ก็ได้ เข้าตำราวินวินกันทั้งคู่
ส่วนคนที่โล่งอก “ตะมุตะมิ” มากกว่าใคร ก็คือ “นายกฯลุงตู่” นั่นเอง!!!
“พ่อลูกอิน”