เด็ก ป. เตรียมรุ่นผม (พ.ศ.2496) เรียนแบบเรียนเร็วใหม่... ก.อะ กะ ก. อา กา ป้ากะปู่ กู้อีจู้ ครับ ผสมสระกับพยัญชนะได้ ก็ไปต่อที่คำสะกด

ตอนนี้เอง แม่ซื้อหนังสือ ปฐม ก.กา กอขอ แลกอกา ให้อุตส่าห์จำไว้ดี...จากร้านแบกะดิน ตลาดแม่กลอง มาให้อ่านเสริม มารู้เอาตอนโต ปฐม ก. กา พัฒนามาจาก มูลบทบรรพกิจ

และแตกหน่อต่อยอดมาจากแบบเรียนเล่มแรกของไทยจินดามณี ที่ครูอาจารย์ท่านว่า พระโหราธิบดี แต่งสมัยพระนารายณ์ รู้มาอย่างนี้ จนเริ่มแก่...จึงได้ความรู้ใหม่

มีผู้รู้หลายคนไม่เชื่อว่า จินดามณี แต่งในสมัยพระนารายณ์ แต่แต่งมาก่อนนั้น นานโข

“ครูหนอน” เขียนไว้ใน “นักเลงภาษา” สำนักพิมพ์อินสไปร์ เครือนานมีบุ๊คส์ พ.ศ.2556 ว่า วรรณคดีหลายเรื่องที่ไม่รู้ว่าแต่งสมัยไหน ตำรามักบอกว่าแต่งรัชสมัยพระนารายณ์เอาไว้ก่อน

เหตุที่มีคนเชื่ออย่างนี้ เพราะมีระบุไว้ในต้นฉบับว่า “จินดามุนีนี้ พระโหราธิบดี เดอมอยู่เมืองสุกโขทัย แต่งถวายแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าลพบุรีย”

ผู้ชำระต้นฉบับสมุดไทย เพื่อนำมาพิมพ์ แม้จะเห็นข้อความนี้ ท่านก็ยังไม่ปักใจเชื่อ ท่านเขียนว่า “จินดามณี (เล่ม 1) ว่า พระโหราธิบดี แต่ง ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช”

ฝ่ายผู้ไม่เชื่อ ก็เหตุให้ไม่เชื่อ อย่างน้อยก็ไม่เชื่อว่า พระโหราธิบดีเป็นผู้แต่งทั้งเล่ม เพราะทั้งเนื้อความและสำนวนเขียนในจินดามณี แยกเป็น 2 ส่วน อย่างเห็นได้ชัด

ส่วนแรก พระโหราธิบดีอาจจะเป็นผู้แต่งครั้งรัชสมัยพระนารายณ์ (หรือมีผู้แต่งเดิมให้เป็นเช่นนั้น) แต่ส่วนหลังไม่ใช่แน่ๆ เนื้อความส่วนนี้ เริ่มจาก...

ขับไม้ดังนี้

“จักแสดงพระเดช องค์ไทนฤเบศ ปิ่นเกล้ากรุงศรี ผ่านเทพอยุธยา เรืองพระเดชา ท่ววท้องธรณี อันตรายไพรี บอาจราวี ด้วยพระสมภาร

...

ท่านได้ไปปราบ เกรงพระอานุภาพ ท่ววทุกทิศาร ท้าวราชนคเรศ ทังจันตประเทศ บเคยบันดาล ถวายสุวรรณมาลย์ ทังบรรณาการ มากราบถวายเมืองฯ”

เมื่อพิจารณาข้อความ “องค์ไทนฤเบศ ปิ่นเกล้ากรุงศรี” หมายถึงกษัตริย์อยุธยาพระองค์ใดก็ได้ แต่หากพิเคราะห์เนื้อความทั้งหมด จะเห็นชัดว่า ไม่ตรงกับเหตุการณ์ในรัชสมัยพระนารายณ์

เขียนอย่างนี้ คนที่ยังเชื่อ ก็ยังเชื่อต่อไป โชคดีของคนไม่เชื่อ เพราะมีโคลงขับไม้ บทถัดมา

พระเกียรติรุ่งฟุ้งเฟื่อง ฦาชา ทั่วท่วนทุกทิศา นอบน้อม ทรงไทเอกา ทศรถ กระษัตรมาขึ้นพร้อม บ่เว้นสักคน

เนื้อความโคลงบทนี้ สอดคล้องกับเหตุการณ์ตามพระราชพงศาวดาร พม่า มอญ ลาว แต่งราชทูต ถือพระราชสาส์น แล
เครื่องราชบรรณาการมาถวาย ฯลฯ

ชี้แจงแถลงไขได้แจ่มชัด จินดามณีแต่งสมัยอื่นไม่ได้ นอกจากรัชสมัยพระเอกาทศรถ

จินดามณี ฉบับที่ใช้อ้างอิง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บรรณาคาร ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร ระบุว่า พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2485

“ครูหนอน” บอกว่า การโอนวรรณคดีไปไว้ในรัชสมัยพระนารายณ์ อาจเป็นกุศโลบายทางการเมือง ของผู้หวังดีแต่ก็เป็นประโยชน์เพียงชั่วคราว

เพราะผลประโยชน์ทางความคิด ที่ได้จากการชำระเนื้อแท้นั้น...ยั่งยืนกว่า

เรื่องราวในวรรณคดี ชี้ว่าภูมิปัญญาไทย ไม่ได้สั่งสมกันมาเพียง 700 กว่าปี และที่สำคัญ ไม่ควรบั่นทอนให้หดสั้น...
กว่านั้นเลย.

กิเลน ประลองเชิง