ปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านรอบ เหมืองทองคำชาตรี เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้ทบทวนคำสั่งระงับการทำเหมืองตามข้อคัดค้านของ เอ็นจีโอ น่าจะเป็นตัวอย่างของการต่อสู้เพื่อความถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย และนำมาซึ่งข้อสงสัยที่ว่า นโยบายสาธารณะ ของรัฐบาลได้พิจารณาบนหลักการและเหตุผลหรือเพราะเกรงอกเกรงใจเอ็นจีโอกันแน่ การสัมปทานปิโตรเลียม การสร้างโรงไฟฟ้าที่ระยอง ที่แม้จะอนุมัติไปแล้วแต่ยังดำเนินการไม่ได้ หรือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เทพา จ.สงขลา และที่ จ.กระบี่ ถึงจะผ่านขั้นตอนทุกอย่างรวมทั้ง สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน แล้วก็ตาม หรือกระทั่งชาวบ้านในบริเวณการก่อสร้างไม่คัดค้านและยินดีที่จะให้ดำเนินการ แต่รัฐบาลพยายามที่จะตีมึน ไม่ยอมเปิดไฟเขียว ทำให้ส่งผลกระทบกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง
ประเทศไทยอยู่ในระยะของ การกำลังพัฒนา ควบคู่ไปกับ การแก้ไขปัญหาความยากจน แต่จนแล้วจนรอด คนยากคนจนก็ไม่มีปากเสียงพอที่จะเรียกร้องสิทธิที่ชอบธรรมได้ตามความต้องการ ที่เรียกว่า สิทธิชุมชน อำนาจการต่อรองกลับไปอยู่ที่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยและอยู่นอกพื้นที่ด้วยซ้ำไป จะรับผลประโยชน์ใครมาเป็นอีกเรื่อง แต่ประเทศต้องถดถอยเนื่องจากนโยบายสาธารณะไม่สามารถทำได้ตามเป้าถือเป็นเรื่องใหญ่
น้ำแพงก็ด่าการประปา ไฟแพงก็ด่าการไฟฟ้า น้ำมันแพงก็ด่า ปตท. โดยไม่ได้พิจารณาให้รอบคอบว่า ต้นตอปัญหาเกิดจากอะไร ทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างล่าช้า ดูอย่างสนามบินสุวรรณภูมินั่นปะไรถ้าไม่ตัดสินใจสร้าง ณ ตอนนั้น ประเทศไทยคงได้รับผลกระทบทั้งการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
หลายประเทศกำลังประสบปัญหาคล้ายๆกับบ้านเรา เช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน รัฐออนตาริโอ ประเทศแคนาดา หลังจากที่ถูกเอ็นจีโอคัดค้านเรื่อง การใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน เลยหันมาทุ่มเทงบประมาณในการพัฒนาโครงการไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ ลม แสงอาทิตย์และชีวมวล โดยใช้งบประมาณสูงที่สุดในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา คือกว่า 9.7 แสนล้านบาท ปรากฏว่าท้ายที่สุดแล้ว กลับทำให้ราคาค่าไฟแพงขึ้นถึงร้อยละ 70 กลายเป็นปัญหาการเมืองที่กระทบถึงคะแนนเสียงของผู้ว่าการรัฐเลยทีเดียว
...
ในที่สุดรัฐบาลต้องมาเยียวยาโดยการช่วยออกค่าไฟฟ้าให้ชาวบ้านร้อยละ 8 ของค่าไฟ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลแคนาดาตั้งเป้าไว้ว่าจะมีการใช้ไฟฟ้ายั่งยืนในสัดส่วนร้อยละ 90 ภายในปี 2573 รัฐออนตาริโอรับนโยบายนำร่อง โดยการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินไปเมื่อปี 2557 ทั้งๆที่มีการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าแค่ร้อยละ 9.5 เท่านั้น มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ถึงร้อยละ 15.9 และก๊าซธรรมชาติที่ร้อยละ 8.5 ส่วนใหญ่จะใช้พลังงานจากน้ำเป็นหลักเกินกว่าร้อยละ 50
ตัวอย่างเหล่านี้ พอจะมองเห็นภาพว่า การใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มาก การใช้พลังงานธรรมชาตินอกจากลงทุนสูงแล้วยังได้ผลตอบแทนที่ต่ำ ส่วนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ผลิตกระแสไฟฟ้า มีการต่อต้านอย่างหนักมาก ประเทศไทยคงยังต้องใช้เวลาพิจารณาอีกนาน แม้ประเทศเพื่อนบ้านมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วก็ตาม
ปัญหาอยู่ที่ว่า รัฐบาลจะมีจุดยืนอย่างไรต่อนโยบายสาธารณะเหล่านี้ อย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นมาแล้วก็จะโยนภาระให้กับประชาชนหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ อย่างนี้ก็จบไม่สวย.
หมัดเหล็ก
mudlek@hotmail.com