หลังจากที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งองคมนตรี 10 ท่าน เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2559 นั้น

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอเปิดประวัติชีวิตที่น่าสนใจขององคมนตรีทั้ง 10 ท่าน จากศูนย์ข้อมูลหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ โดยมีองคมนตรีที่เคยดำรงตำแหน่งในสมัยรัชกาลที่ 9 จำนวน 7 ท่าน และที่ถูกแต่งตั้งขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 10 อีก 3 ท่าน ดังต่อไปนี้...

...

1. พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ หรือ ‘บิ๊กแอ้ด’ ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี 8 เม.ย. 2551

เกิดเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2486 ที่ จ.ปราจีนบุรี เป็นบุตรของ พ.ท.โพยม และ นางอัมโภช จุลานนท์ ภรรยาชื่อ ท่านผู้หญิงจิตรวดี จุลานนท์ มีบุตรชาย 2 คน

เข้ารับการศึกษาที่ ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย, ร.ร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 12 (จปร.12), หลักสูตรชั้นนายร้อย เหล่า ร. ปี 2509, หลักสูตรส่งกำลังทางอากาศ, หลักสูตรชั้นนายพัน เหล่า ร.ที่ฟอร์ทเบนนิ่ง รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ปี 2511, หลักสูตรเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 52 ปี 2514, หลักสูตร เสนาธิการทหารบก สหรัฐอเมริกา ปี 2517, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 36

พล.อ.สุรยุทธ์ รับราชการในตำแหน่งนายทหารฝ่ายเสนาธิการมาโดยตลอด และตำแหน่งหน้าที่การงานที่สำคัญๆ อาทิ รองเสนาธิการกองพลที่ 1, เสนาธิการกองพลรบพิเศษ แล้วยังถูกขอตัวมาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีด้วย ในตำแหน่ง เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายข้าว จนกระทั่งคณะกรรมการชุดนี้ถูกยุบไป จึงกลับไปอยู่กองพลรบพิเศษที่ลพบุรี ต่อมา ก็ได้ถูกเรียกตัวกลับมาทำหน้าที่เป็น นายทหารคนสนิทนายกรัฐมนตรี และรับตำแหน่งประจำสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ปี 2529

จากนั้น จึงเข้าประจำกองบัญชาการกองทัพบก, ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1, ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, แม่ทัพภาคที่ 2, ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก, ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก, นายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์, ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก่อนเกษียณอายุราชการ 1 ต.ค. 2546

พล.อ.สุรยุทธ์ ยังเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา ก่อนลาออกเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2541 ต่อมา ได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2546 และพ้นจากตำแหน่ง 1 ต.ค. 2549 เพื่อไปดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ในวันที่ 1 ต.ค. 2549 จนถึง 29 ม.ค. 2551 

2. ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี 18 ก.ค. 2544

เกิดเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2484 ที่ จ.ราชบุรี เป็นบุตรคนโต ในจำนวนพี่น้อง 5 คน ของ นายประภาสน์ และ นางพร วัฒนชัย (เสียชีวิตทั้งคู่) ภรรยาชื่อ คุณหญิงรัชนีวรรณ วัฒนชัย มีบุตร-ธิดา 2 คน

เข้ารับการศึกษาระดับปริญญาตรี แพทยศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่, วุฒิบัตรสาขาอายุรศาสตร์ ม.ชิคาโก ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล Diplomate, American Board of Internal Medicine, University of Chicago, U.S.A., วุฒิบัตรสาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด มหาวิทยาลัยชิคาโก ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล Diplomate, American Board of Subspecialty in Cardiovascular Disease, University of Chicago, U.S.A, ปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 36

นพ.เกษม ได้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยวิชาโรคหัวใจ คณะแพทย์ศาสตร์ ม.เชียงใหม่, อธิการบดี ม.เชียงใหม่, รองปลัดทบวงมหาวิทยาลัย (นักบริหาร 10) สำนักงานปลัดทบวงมหาวิทยาลัย, ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย, อธิการบดี ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สมัยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ), สมาชิกวุฒิสภา, กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

3. นายพลากร สุวรรณรัฐ ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี 18 ก.ค. 2544

เกิดเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2491 ที่กรุงเทพฯ เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 5 คน ของนายพ่วง (เสียชีวิต) และท่านผู้หญิงประสารสุวรรณ สุวรรณรัฐ ภรรยาชื่อ ท่านผู้หญิงทัศนียา สุวรรณรัฐ (เสียชีวิต) มีธิดา 1 คน

เข้ารับการศึกษาระดับปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิต สาขาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท ทางศิลปศาสตร์ ม.โอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ผ่านการอบรมหลักสูตรโรงเรียนนายอำเภอ วิทยาลัยการปกครอง, หลักสูตรนักปกครองระดับสูง, หลักสูตรนักบริหารระดับสูง สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 37

นายพลากร เริ่มเข้ารับราชการ เมื่อปี 2516 ในตำแหน่งวิทยากรโท ฝ่ายพัฒนาการเมืองและการปกครอง สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย, รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ย้ายไปรับตำแหน่งเดิมที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกิจการพิเศษ (ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) (ผอ.ศอ.บต.) คนที่ 8 เมื่อ 29 ธ.ค.2540-17 ก.ค.2544) นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการธนาคารออมสิน, กรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, ประธานกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (แทนนายปริญญา นาคฉัตรีย์)

4. ศ.อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี 16 ส.ค. 2550

เกิดเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2487 เป็นบุตรของ นางเนียนสิริ ดิษฐอำนาจ (เสียชีวิต) ภรรยาชื่อ นางสุดใจ ดิษฐอำนาจ

เข้ารับการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) ม.ธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย, ปริญญาโท ทางกฎหมาย (LL.M.) ม.ฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา, อบรมหลักสูตรพัฒนบริหาร รุ่นที่ 3 ของนิด้า ปี 2517, ร.ร.สงครามจิตวิทยา รุ่นที่ 20, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 37

ศ.อรรถนิต เริ่มเข้ารับราชการในตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้พิพากษา, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครราชสีมา, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง, ผู้ช่วยเลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, รองเลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ, เลขานุการศาลฎีกา, รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายบริหาร, รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี, อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง, ประธานศาลอุทธรณ์, ประธานศาลฎีกา คนที่ 34 และเกษียณอายุราชการ ปี 2547

นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, กรรมการตุลาการ ข้าราชการตุลาการ, กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลชั้นอุทธรณ์, กรรมการกฤษฎีกา, กรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิในชั้นศาลชั้นฎีกา, ศาสตราจารย์พิเศษในสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรรมการคดีพิเศษ และประธานสมาคมกฎหมายอาเซียน

5. นายศุภชัย ภู่งาม ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี 8 เม.ย. 2551

เกิดเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2488 ภรรยาชื่อ พล.ต.หญิง กาญจนาวดี ภู่งาม

เข้ารับการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และผ่านการอบรมนักบริหารระดับสูง (นบส.2 รุ่น 17) ของ ก.พ. และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร วปอ.รุ่น 39

นายศุภชัย เคยดำรงตำแหน่งเป็น ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง, รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายวิชาการ, รองอธิบดีกรมผู้พิพากษาศาลแพ่ง, ผู้พิพากษาศาลแพ่ง, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และเข้ารับตำแหน่ง ประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2547 ก่อนเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ต.ค. 2548

6. นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี 8 เม.ย. 2551

เกิดเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2489 ภรรยาชื่อ นางเพ็ญศรี ลิขิตจิตถะ

เข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา, ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) ม.ธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

นายชาญชัย ได้เข้ารับราชการเป็น ผู้ช่วยผู้พิพากษา, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง, ผู้พิพากษาศาลแพ่ง, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่ง, ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ภาค 3, รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1, รองประธานศาลฎีกา, ประธานศาลฎีกา และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

7. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข หรือ ‘บิ๊กต๋อย’ ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี 18 พ.ค. 2554

เกิดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2491 เป็นบุตรของ พล.ท.ชัยยุทธ และนางสุภรณ์ พุกผาสุข ภรรยาชื่อ ผศ.ดร.พรทิพย์ พุกผาสุข มีธิดา 2 คน

เข้ารับการศึกษา ร.ร.เตรียมทหารรุ่นที่ 6, ร.ร.นายเรืออากาศ รุ่นที่ 13, ร.ร.นายทหารชั้นผู้บังคับฝูง รุ่นที่ 40, ร.ร.เสนาธิการทหารอากาศ รุ่นที่ 27, วิทยาลัยการทัพอากาศ รุ่นที่ 25, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 41 และผ่านหลักสูตรครูการบินไอพ่น (Pilot Instrutor T-38) โดยทุน IMETP ที่ซานอันโตนิโอ มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

พล.อ.อ.ชลิต เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับฝูงบิน 231 กองบิน 23ฯ, เสนาธิการ กองบิน 23ฯ, รองผู้บังคับการ กองบิน 1ฯ, ผู้บังคับการกรมนักเรียนนายเรืออากาศ รักษาพระองค์ ร.ร.นายเรืออากาศ, ผู้บัญชาการกองพลบินที่ 2 กองบัญชาการยุทธทางอากาศ, เจ้ากรมกำลังพลทหารอากาศ, ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศ กองบัญชาการฝึกศึกษาทหารอากาศ, ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายกำลังพล, รองเสนาธิการทหารอากาศ ฝ่ายยุทธบริการ, ผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธทางอากาศ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ คนที่ 20 ก่อนเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ต.ค. 2551

นอกจากนี้ ยังเคยเป็นประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการสรรหาสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ (กดส.), รองหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คนที่ 2

อย่างไรก็ดี ยังมีนายพลอีก 3 ท่าน ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เข้ารับตำแหน่งองคมนตรีใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 10 ครั้งนี้ด้วย

8. พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ หรือ ‘บิ๊กหนุ่ย’ ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี 6 ธ.ค. 2559

เกิดเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2496 ที่กรุงเทพฯ เป็นบุตรของ พ.อ.(พิเศษ) ศิริ และ นางชม้อย รัตนสุวรรณ (เสียชีวิตทั้งคู่) ภรรยาชื่อ พล.ท.หญิง สุพัตรา รัตนสุวรรณ

เข้ารับการศึกษาที่ ร.ร.เตรียมทหาร รุ่นที่ 12 โดยเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อมาเข้าเรียนต่อที่ ร.ร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23, ร.ร.เสนาธิการทหารบก

พล.อ.ดาว์พงษ์ เข้ารับราชการเป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองร้อยอาวุธเบา กองพันทหารราบที่ 2 กองผสมที่ 23, ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์, รองผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์, รองผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์, ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเพชรบุรี และผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์, สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สมัยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ), กรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา, ผู้ช่วยนายทหารยุทธการ ศฝด.202 กอ.รมน.เขต 2, รองผู้บังคับกองร้อยกองบังคับการกองกำลังบูรพา, ผู้บังคับกองร้อยกองบังคับการกองกำลังบูรพา, ผู้ช่วยฝ่ายกิจการพลเรือนกองกำลังบูรพา, หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือนกองกำลังบูรพาราชองครักษ์เวร, รองแม่ทัพภาคที่ 1, ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ, รองเสนาธิการทหารบก, เสนาธิการทหารบก, รองผู้บัญชาการทหารบก และทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศปก.กปต. ก่อนเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ต.ค. 2556

นอกจากนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนเข้ามานั่งเก้าอี้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

9. พลเอก ธีรชัย นาควานิช หรือ ‘บิ๊กหมู’ ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี 6 ธ.ค. 2559

เกิดเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2498 เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 4 คน ของ พล.ต.ธวัชชัย นาควานิช ภรรยาชื่อ พ.อ.หญิง บุญรักษา นาควานิช

เข้ารับการศึกษาที่ ร.ร.เตรียมทหาร รุ่นที่ 14 โดยเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร และต่อมาได้เข้าเรียนต่อที่ ร.ร.นายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 25

พล.อ.ธีรชัย เป็นนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ ต่อมาโยกเข้าสู่กองทัพภาคที่ 1 ตำแหน่ง เสนาธิการกองทัพน้อยที่ 1, รองแม่ทัพน้อยที่ 1, รองแม่ทัพภาคที่ 1, ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายส่งกำลังบำรุง, รองเสนาธิการทหารบก, แม่ทัพภาคที่ 1, ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 39 ซึ่งเมื่อนับดูแล้ว พบว่ามี ผบ.ทบ.ที่มาจากสายบูรพาพยัคฆ์ถึง 5 คน คือ บิ๊กป้อม, บิ๊กป๊อก, บิ๊กตู่, บิ๊กโด่ง และบิ๊กหมู ที่ขึ้นนั่งเก้าอี้แม่ทัพบกเป็นคนที่ 5 ก่อนเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ต.ค. 2559

นอกจากนี้ พล.อ.ธีรชัย ยังรับตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย

10. พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา ‘บิ๊กต๊อก’ ดำรงตำแหน่ง องคมนตรี 6 ธ.ค. 2559

เกิดเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2498 ที่ จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรของ นายลออ และ นางจันทร์ คุ้มฉายา ภรรยาชื่อ นางพจนี คุ้มฉายา มีบุตร 1 คน

เข้ารับการศึกษาที่ ร.ร.เตรียมทหาร รุ่นที่ 15, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โดยเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับอดีต ผบ.ตร. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง และน้องนายกประยุทธ์ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ต่อมา ได้เข้าเรียนที่ ร.ร.เสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 66, ปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ม.เกษตรศาสตร์ และนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ ม.รามคำแหง

พล.อ.ไพบูลย์ ได้เข้ารับราชการเป็นนายทหารพิเศษประจำหน่วยทหารรักษาพระองค์ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์, ผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับการกรม (ทั้ง 3 กรม คือ กรมทหารราบที่ 111, กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์), ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์, รองแม่ทัพภาคที่ 1, แม่ทัพภาคที่ 1, ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก, รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก่อนเกษียณอายุราชการในวันที่ 1 ต.ค. 2558