ในขณะที่เศรษฐกิจของโลกชะลอตัว ซึมลึกเป็นเวลายาวนาน และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย ทำให้การส่งออก ซึ่งเคยเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ากว่า 70% ของจีดีพีต้องติดลบและทำให้เศรษฐกิจซบเซามายาวนาน มีนักเศรษฐศาสตร์แสดงความคิดเห็น รวมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขที่ต่างกัน
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การค้าโลกวิจารณ์ว่า ขณะนี้ รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมาสุดทางแล้ว ครอบคลุมทั้งเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อยและอื่นๆ หากทำต่อไปเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อภาวะหนี้ครัวเรือน ซึ่งเกือบจะถึง 90% หากถึง 100% เป็นจุดที่น่าวิตก
ดร.ศุภชัยไม่เห็นด้วยกับการทิ้งการส่งออก และหันมาพึ่งการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างเดียว ทางที่ดีควรสร้างความสมดุล กระตุ้นการเติบโตการค้าและการส่งออกเป็นคู่ขนานกันไป ควรวางแผนเศรษฐกิจระดับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อหวังผลระยะยาว 10–20 ปี เพราะการใส่เงินระยะสั้น ใช้แล้วก็หมดไป ไม่มีผลงอกเงย กลายเป็นปัญหาขณะนี้
ตัวอย่างของการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ได้แก่ การที่รัฐบาลแจกเงินเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อยรายละ 1,500 ถึง 3,000 บาทเมื่อเร็วๆนี้ ที่เป็นการใส่เงินระยะสั้นและใช้แล้วหมดไป ไม่มีการลงทุนของเอกชนตามมา ไม่ต่างจากนโยบายประชานิยมลดแลกแจกแถมของรัฐบาลเลือกตั้ง เพียงแต่ไม่ได้แจกเงินอย่างมโหฬาร
นักเศรษฐศาสตร์อีกท่านหนึ่งซึ่งแสดงความเห็นก่อนหน้านี้ คือ นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ เตือนว่ารัฐบาลติดกับความคิดของตัวเองคือให้ความสำคัญการส่งออกมาก และเน้นการลงทุนจากต่างประเทศ เกิดปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจเสียสมดุล ต้องลดน้ำหนักการส่งออกลง ถ้าไม่ทำจะติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
...
ขณะที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่ฝ่ายเศรษฐกิจ ผู้ปฏิบัติตัวจริง พูดในเวทีแห่งหนึ่งเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า เหตุที่เศรษฐกิจไทยล้าหลังมาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ในสิบปีที่ผ่านมา เพราะความขัดแย้งกันในหมู่คนไทย หากไม่มีความขัดแย้ง เศรษฐกิจไทยจะโตปีละ 5–7% และให้ความหวังว่ารัฐบาลนี้กำลังวางพื้นฐานเพื่ออนาคต
หากไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองเศรษฐกิจไทยจะไปโลดจริงๆหรือ? ไม่มีใครแน่ใจ เพราะว่า 2 ปีเศษหลังรัฐประหาร ที่หลายฝ่ายมองว่าไม่มีความขัดแย้งแบบเดิม เศรษฐกิจก็เป็นอยู่อย่างนี้ แต่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยยังมีประสิทธิภาพที่ดี นักลงทุนยังเชื่อมั่น จะสามารถข้ามช่วงเปลี่ยนแปลงไปได้.