"พิชัย" อดีต รมว.พลังงาน ห่วงภาพลักษณ์ประเทศ หลังจากการประชุมเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เจนีวา พร้อมเสนอแนวทาง ไทยแลนด์ 4.0 พัฒนาประเทศได้จริงหลังการเลือกตั้งใหญ่...
วันที่ 16 พ.ค. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นห่วงภาพลักษณ์ของประเทศไทยหลังจากการประชุมเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เจนีวา อีกทั้งที่สหรัฐฯ ออกมาเตือนแสดงความกังวล ซึ่งหากรัฐบาลยังจะไม่สนใจ จะส่งผลกระทบต่อการค้า การลงทุน ซึ่งจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจยิ่งย่ำแย่ ประชาชนยิ่งจะลำบากมาก และหากเศรษฐกิจยังโตต่ำมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน แล้วปล่อยไปเรื่อยๆ ประเทศไทยจะค่อยๆ เหี่ยวเฉาเหมือนที่เมียนมา และฟิลิปปินส์ เคยผ่านมาในอดีต จึงอยากให้ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งแม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ การเลือกตั้งก็จะต้องมีในปี 60 อย่างแน่นอน
นายพิชัย กล่าวต่อว่า จึงอยากขอเสนอแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองที่สามารถฟื้นฟูประเทศได้จริง โดยเห็นด้วยกับแนวคิดรัฐบาลที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาในด้านต่างๆ แต่แปลกใจที่จะมีการวางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ทั้งๆ ที่รู้ว่าเทคโนโลยีในโลกนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก อีกทั้ง น่าจะทราบว่าการพัฒนาเทคโนโลยีของไทยยังพัฒนาได้ช้าแถมรัฐบาลยังพูดเองว่าไม่มีเงินจะมาพัฒนา ดังนั้น การที่ต้องพึ่งเทคโนโลยีจากต่างประเทศและนำมาพัฒนาต่อยอด น่าจะเหมาะกับประเทศมากกว่า
อดีต รมว. พลังงาน กล่าวด้วยว่า ขอเสนอ การสร้างความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ 4.0 จึงจำเป็นอย่างแรก ซึ่งจะต้องมาพร้อมกับ สิทธิมนุษยชน 4.0 ประชาธิปไตยยั่งยืน 4.0 และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ 4.0 รวมถึง เสรีภาพในความคิดของประชาชน 4.0 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนค้นคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจริงๆแล้ว การพัฒนาบางอย่างก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน เพียงแต่สร้างทัศนคติและกำลังใจที่ดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและทำให้เกิดเอกภาพในการบริหารนโยบาย ต่อเนื่องด้วยการขับเคลื่อนประเทศโดยใช้ การพัฒนาเป็นศูนย์กลางอาเซียน 4.0 พัฒนาระบบขนส่ง สาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน 4.0 การบริหารจัดการน้ำ 4.0 การส่งเสริมธุรกิจขนาดใหญ่ 4.0 และ ช่วยเหลือและสนับสนุนธุรกิจ SME 4.0 ดิจิทัลอีโคโนมี 4.0 พัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง 4.0
...
นอกจากนี้ยังต้องมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนระดับล่างที่ลำบาก เช่น ช่วยเหลือเกษตรกร 4.0 โอทอป 4.0 กองทุนหมู่บ้าน 4.0 การเข้าถึงแหล่งทุน 4.0 บัตรเครดิตเกษตรกร 4.0 รักษาสุขภาพ 4.0 พัฒนาการศึกษา 4.0 เป็นต้น ซึ่งจะมีรายละเอียดออกมาเมื่อถึงใกล้เวลาเลือกตั้ง และไม่ได้ห่วงว่าจะไม่มีเงินมาพัฒนาเพราะเชื่อว่าเมื่อสามารถ สร้างให้เกิดความเชื่อมั่นได้ เศรษฐกิจจะพัฒนาไปได้เอง แล้วจะมีรายได้เข้ามาเพื่อจะใช้ในการพัฒนาประเทศในโครงการช่วยเหลือประชาชนต่างๆ ได้ โดยที่สัดส่วนของหนี้ต่อรายได้ประชาชาติจะไม่สูงอย่างแน่นอน โดยมุ่งเน้นที่จะสร้างความหวังและความสุขให้กับประชาชนที่ต้องทน ลำบากอย่างมากในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้
ทั้งนี้การคิดแบบเก่า ทำแบบเก่า แต่แค่เปลี่ยนชื่อ จะหวังผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงนั้น คงเป็นไปไม่ได้ และคนจะมีผมมากหรือน้อย ปริมาณผมคงไม่สำคัญเท่ากับวิสัยทัศน์ในการที่จะพัฒนาประเทศเพื่อให้ประชาชนมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น