ภาพจาก : เฟซบุ๊กนายสามารถ ราชพลสิทธิ์

"สามารถ" แนะ "นายกฯ ประยุทธ์" 7 ข้อ หนุน เพิ่มความเร็วเป็น 300 กม./ชม. ราคาจ้างจีนสร้างต้องดีกว่าการเปิดประมูลแข่ง ค่าโดยสารต้องถูกจูงใจผู้ใช้บริการเพื่อคุ้มทุนสร้าง เตือน ไม่ให้ ร.ฟ.ท.คุม เพราะจะเกิดปัญหาซ้ำกรณีแอร์พอร์ตลิงก์

วันที่ 25 มี.ค. 59 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. สั่งสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ "นายกฯ ทุบโต๊ะ! สร้างรถไฟความเร็วสูง" ใจความว่า ในที่สุดโครงการรถไฟไทย-จีนก็ได้ข้อยุติ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้หารือกับนายกรัฐมนตรีจีน ท่านนายกฯ ประยุทธ์ได้ตัดสินใจที่จะลงทุนก่อสร้างด้วยเงินทุนของเราเองทั้งหมด เดิมโครงการรถไฟไทย-จีนเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง ซึ่งมีความเร็วสูงสุด 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง (กม./ชม.) วิ่งบนรางกว้าง 1.435 เมตร บนเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และเส้นทางแก่งคอย-มาบตาพุด มูลค่าโครงการประมาณ 530,000 ล้านบาท ระยะทางรวม 873 กิโลเมตร ดังนั้น ค่าก่อสร้างเฉลี่ยต่อกิโลเมตรจะเท่ากับ 607 ล้านบาท

มาบัดนี้ ท่านนายกฯ ประยุทธ์ได้เปลี่ยนจากรถไฟความเร็วปานกลางเป็นรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง จากข้อมูลที่ได้รับและการวิเคราะห์ของผม พบว่าจีนจะร่วมลงทุนเฉพาะงานระบบรถไฟฟ้า ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบโทรคมนาคม ระบบตั๋ว และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12% ส่วนงานที่เหลือซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานโยธานั้น จีนจะไม่ร่วมลงทุนด้วย ทำให้ไทยจะต้องลงทุนเองทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วน 88% ต่อมา ไทยได้เจรจาขอให้จีนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนมากขึ้นจาก 12% เป็น 70% จีนจึงยื่นข้อเสนอ (1.) ให้เปลี่ยนการก่อสร้างช่วงนครราชสีมา-หนองคาย จากทางคู่เป็นทางเดี่ยว และให้ชะลอการก่อสร้างช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด ทั้งนี้ เพื่อลดค่าก่อสร้าง (2.) จีนขอสิทธิในการพัฒนาพื้นที่สองข้างทางรถไฟ เหตุที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์ตัดสินใจ ที่จะลงทุนก่อสร้างด้วยเงินทุนของเราเองทั้งหมด 100% นั้น ผมคาดว่า อาจเป็นเพราะการเจรจาต่อรองกับจีน โดยคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีนล้มเหลว หลังจากประชุมกันมาถึง 9 ครั้ง โดยใช้เวลานานกว่า 1 ปี ทั้งนี้ ผมไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงถ้าเรามีความพร้อมที่จะลงทุน ซึ่งท่านนายกฯ บอกว่า เรามีศักยภาพที่จะลงทุนเองได้

...

โดยผมได้ประเมินเงินลงทุนเบื้องต้นแล้วพบว่าจะใช้ประมาณ 150,000-200,000 ล้านบาท และมีข้อเสนอแนะต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนี้ 1. ผมเห็นด้วยที่จะเปลี่ยนจากรถไฟความเร็วปานกลางเป็นรถไฟความเร็วสูง และอยากให้มีความเร็วสูงสุดถึง 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง แทนที่จะเป็น 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพราะระดับความเร็วจะเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่จะจูงใจให้มีผู้โดยสารมาใช้บริการ อีกทั้ง รถไฟความเร็วสูงจะแข่งกับรถไฟทางคู่ ขนาดรางกว้าง 1 เมตร ที่รัฐบาลกำลังจะก่อสร้าง ซึ่งจะมีความเร็วสูงสุดประมาณ 100-120 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ดีกว่ารถไฟความเร็วปานกลาง 2. การที่จะจ้างให้จีนทำการก่อสร้างนั้น นอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนแล้ว รัฐบาลจะต้องมั่นใจว่าจะได้ราคาที่เป็นธรรมเหมาะสมกับคุณภาพ และจะต้องดีกว่าการเปิดประมูลให้มีการแข่งขันกันทั่วไป 3. งานระบบรถไฟฟ้า ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบโทรคมนาคม ระบบตั๋ว และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องนั้น จะต้องใช้ของจีนหรือไม่ ถ้าใช้ จีนจะมีข้อเสนออย่างไร 4. จะต้องกำหนดอัตราค่าโดยสารที่จะทำให้มีผู้โดยสารใช้บริการได้มาก ซึ่งรัฐบาลสามารถกำหนดได้โดยอิสระ เพราะรัฐบาลลงทุนเองทั้งหมด 100% และควรเป็นอัตราที่ทำให้มีรายได้จากค่าโดยสารเพียงพอที่จะชำระดอกเบี้ยเงินกู้ได้

5. จัดให้มีระบบขนส่งรองรับผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงที่สถานีทุกสถานี จะใช้รถสองแถว รถเมล์ หรือจะปล่อยให้มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือไม่ พร้อมทั้งจะต้องจัดที่จอดรถให้เพียงพอ สิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมให้มีผู้ใช้รถไฟความเร็วสูงมากขึ้น 6. สนับสนุนให้มีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงเพื่อเปิดโอกาสให้มีการทำกิจกรรมรองรับผู้โดยสาร เช่น เมืองใหม่ สถาบันการศึกษา ศูนย์การค้า ศูนย์ราชการ แหล่งท่องเที่ยว และแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้มีผู้โดยสารรถไฟความเร็วสูงเพิ่มมากขึ้น และ 7. หน่วยงานที่จะรับผิดชอบการบริหารเดินรถไฟความเร็วสูงไม่ควรเป็นหน่วยงานของรัฐ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพราะจะประสบปัญหาเช่นเดียวกับการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งเราได้ประจักษ์กันอยู่ในเวลานี้ ผมขอเสนอให้ว่าจ้างเอกชนมาทำหน้าที่นี้แทน ภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของภาครัฐ

การที่ท่านนายกฯ ประยุทธ์กล่าวว่า จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนกรกฎาคม 2559 นั้น แสดงว่าท่านนายกฯ คงได้รับรายงานแล้วว่า ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน ผลตอบแทนดังกล่าวนั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะรายได้จากค่าโดยสารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรายได้จากธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับรถไฟความเร็วสูง และยังรวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจในหัวเมืองภูมิภาคอีกด้วย ซึ่งผมขอเรียนท่านนายกฯ ให้ตระหนักว่า โดยทั่วไปผลการศึกษาความเป็นไปได้มักจะให้ผลดีกว่าความเป็นจริง ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วกับหลายโครงการ ดังนั้น ท่านนายกฯ ควรที่จะดำเนินการให้มีการกำกับดูแลโครงการนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อทำให้มีผู้โดยสารใช้บริการเป็นจำนวนมากให้ได้ มิฉะนั้น จะพบว่า หลังจากเปิดให้บริการแล้วมีผู้โดยสารน้อย ไม่เป็นไปตามผลการศึกษา

ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ยืนยันว่า ท่านไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นจากโครงการนี้ ขอให้ไว้ใจท่าน ผมขอเรียนว่าจากการที่ผมได้ติดตามการประมูลโครงการด้านคมนาคมขนส่งหลายโครงการที่ผ่านมา สำหรับตัวท่านนายกฯ ประยุทธ์นั้น ผมมั่นใจในความโปร่งใสของท่าน เพราะทราบว่ามีหลายโครงการที่มีการทักท้วงการประมูล ท่านนายกฯ ประยุทธ์ต้องการให้ยกเลิกการประมูลครับ.