"ผบ.ทร."เป็นประธานพิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุดใหม่ 4 ลำ ที่อู่ต่อเรือ บ.มาร์ซันฯ จ.สมุทรปราการ สำหรับใช้ในการป้องกัน ลาดตระเวน ปกป้อง ฯลฯ น่านน้ำไทย...
เมื่อวันนี้ 7 ก.ย. 58 พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางกระดูกงูเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ชุดใหม่ จำนวน 4 ลำ ณ อู่ต่อเรือ บริษัท มาร์ซัน จำกัด ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
โดยกองทัพเรือได้มีแผนจัดหาเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (ตกช.) จำนวน 10 ลำ เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ชายฝั่งเดิม ที่ใช้ราชการมาเป็นเวลานาน และมีกำหนดที่จะปลดระวาง ประกอบด้วย เรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุด เรือ ต.21–ต.29 และชุดเรือ ต.211-ต.212 ซึ่งเป็นเรือที่ได้รับการช่วยเหลือ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2511–2519 โดยก่อนหน้านี้ กองทัพเรือ ได้เคยว่าจ้าง บริษัท มาร์ซัน จำกัด ในการสร้างเรือตกช. แบบเดียวกันนี้มาแล้ว จำนวน 3 ลำ (ต.228-ต.230) โดยได้ดำเนินการต่อแล้วเสร็จ และส่งมอบให้กองทัพเรือ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 ซึ่งสามารถปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี
...
กองทัพเรือได้ดำเนินการตามแผนในการจัดหาเรือ จำนวน 10 ลำ โดยในปี 2557 ได้ว่าจ้างบริษัท มาร์ซัน จำกัด ทำการต่อเรือตรวจการณ์ชายฝั่งชุดแรก จำนวน 6 ลำ (ต.232-ต. 237) โดยมีพิธีวางกระดูกงู เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 เวลา 13.15 น. โดยมี พล.ร.อ.ไกรสร เป็นประธานในพิธีวางกระดูกงู ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการต่อเรือ และคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2559
ในส่วนของเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง จำนวน 4 ลำ ที่จัดให้มีพิธีวางกระดูกงูในวันนี้นั้น ได้มีการลงนามในสัญญาโครงการจัดจ้างสร้างเรือ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 และคาดว่าจะดำเนินการต่อแล้วเสร็จในปี 2560
สำหรับการจัดหาเรือ ตกช. โดยการว่าจ้างให้ บริษัท มาร์ซัน จำกัด เป็นผู้ดำเนินการนั้น นับได้ว่าเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการต่อเรือภายในประเทศ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ โดยเรือทั้ง 10 ลำ จะเข้าประจำการในกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ โดยมีภารกิจในการตรวจการณ์ สกัดกั้น ลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมทางทะเลและชายฝั่ง คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเลในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย รวมถึงการถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์
ทั้งนี้ ขีดความสามารถปฏิบัติการรบ (Combat Capabilities) สามารถปฏิบัติภารกิจได้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการบริเวณชายฝั่งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน สามารถตรวจจับ ติดตามและพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำ สามารถป้องกันตนเองจากเรือผิวน้ำและอากาศยานข้าศึกได้ตามสมรรถนะของอาวุธประจำเรือ สามารถปฏิบัติการทางเรืออย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง สามารถปฏิบัติงานได้ในสภาพทะเลไม่น้อยกว่า Sea State 2 สามารถตรวจค้นเรือที่ต้องสงสัย ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ และมีความสามารถการทรงตัวที่ดีในการบังคับเรือ และบังคับเลี้ยวในการปฏิบัติงานที่ความเร็วสูง (Maneuverability)
คุณลักษณะทั่วไปของเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง (Ship System Performance) ระวางขับน้ำเต็มที่โดยประมาณ 45 ตัน ขนาดของเรือ ความยาวตลอดลำ 21.40 เมตร ความกว้างสูงสุดของเรือ 5.56 เมตร ความลึกของเรือ (Molded Depth) 3.15 เมตร กินน้ำลึกตัวเรือ (Molded Draught) 1.05 เมตร ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ไม่น้อยกว่า 30 นอต กำลังพลประจำเรือ 9 นาย สามารถปฏิบัติงานในทะเลได้ต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุงระยะปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 350 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็วเดินทางมัธยัสถ์ (15 นอต) ที่ระวางขับน้ำเต็มที่ (Full Load Displacement) ขนาดและสัดส่วนของโครงสร้างตัวเรือได้รับการตรวจสอบ และรับรองจากสมาคมต่อเรือ Det Norske Veritas (DNV) เครื่องจักรใหญ่ตราอักษร MAN รุ่น D2862 LE463 กำลังเครื่องยนต์ 1,029 kW ที่ 2,100 RPM พร้อมเพลาใบจักร จำนวน 2 ชุด เครื่องไฟฟ้าขนาด 32 kWe, 220 VAC. 1 Phase 50 Hz. จำนวน 2 ชุดเครื่อง ประกอบด้วย เครื่องยนต์ขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Prime Mover) ตราอักษร PERKINS เครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) ตราอักษร MARATHON MAGNAPLUS เกียร์ทด ตราอักษร TWIN DISC ชนิด Intermediate Duty ขนาด Input Rating สูงสุดที่ 1,145 kW ที่ความเร็วรอบ 2,100 RPM จำนวน 2 ชุดเครื่อง ระบบเพลาใบจักรแบบ Fixed Pitch จำนวน 2 ชุดอาวุธประจำเรืออาวุธปืนหลัก ปืนกลขนาด 20 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก บริเวณหัวเรือ อาวุธปืนรอง ปืนกลขนาด .50 นิ้ว จำนวน 1 กระบอก พร้อมกับเครื่องยิงลูกระเบิด 81 มิลลิเมตร ร่วมแกน จำนวน 1 กระบอก ติดตั้งบริเวณท้ายเรือ