“แบล็กมันเดย์”
ปรากฏการณ์สั่นสะเทือนไปทั้งโลก วันจันทร์ต้นสัปดาห์ตลาดหุ้นทั่วทุกภูมิภาคร่วงระเนระนาด ฟาดหางตลาดหุ้นไทยร่วงยกแผงหล่นลงไป 64.55 จุด
สถานการณ์ร้อนๆต้อนรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
ตามโปรแกรมที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจถอดด้าม ถือฤกษ์เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล ประเดิมงานเป็นวันแรก
ตอกย้ำเลยว่า กัปตันทีมเศรษฐกิจต้องแบกภาระหนักหนาสาหัสสากรรจ์
และในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันถัดมา ที่ประชุมได้มีมติแบ่งงานของรองนายกฯ ทั้ง 6 คน
โฟกัสในส่วนของนายสมคิด ได้รับมอบหมายให้กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเศรษฐกิจ จำนวน 9 หน่วยงาน
ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ควบหมดในส่วนของกระทรวงเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ตามเหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุเองเลยว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้นายสมคิดกำกับดูแลกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเศรษฐกิจทั้ง 7 กระทรวง
เพื่อที่งานจะได้มีการบูรณาการมากขึ้น
มันก็ชัดเจน เป็นการปรับยุทธศาสตร์การบริหารด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล
จากแต่เดิมที่ทีมเศรษฐกิจภายใต้การนำของ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนเก่า โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม นั่งเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรัฐบาล
ผลก็คือเกิดปัญหาการทำงานทับซ้อน ไม่รู้อำนาจจริงอยู่ที่จุดไหน
...
ขาดประสิทธิภาพในเชิงบริหาร ไม่ทันสถานการณ์ ปั่นเนื้องานไม่ออก
นั่นยังไม่เท่ากับการทำงานไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แบบที่มีกระแสข่าวเบื้องหลังการขบเหลี่ยมปีนเกลียวระหว่างทีมของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กับสายตรงของนายสมคิด
ขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจก็ลามจ่อคอหอยรัฐบาลเข้าไปทุกที
ครั้นจะปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีก็ทำได้ยาก เพราะติดปัญหาความเกรงอกเกรงใจคนของพี่ น้อง เพื่อน ตามสไตล์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่แตะต้องเครือข่ายของพี่ใหญ่อย่าง พล.อ.ประวิตร
แต่ทั้งหมดทั้งปวง โดยบทสรุปมันก็สะท้อนออกมาแบบที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ออกอาการงอน บอกปัดตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
เพราะไม่ชอบทำงานแบบ “แบ่งแยกแล้วปกครอง”
ฟ้องเลยว่า การบริหารในแบบฉบับรัฐบาลทหาร คสช.ยุค “ประยุทธ์ 1” ไม่ได้เป็นทีมเดียวกัน
แต่มาถึง “ประยุทธ์ 2” จากการแบ่งงานรองนายกฯ ที่ปล่อย “สมคิด” คุมเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จ
พล.อ.ประยุทธ์ “แทงหวย” ฝากเดิมพันปากท้องประชาชนคนไทยไว้ที่คนคนเดียวเลย
เช่นกัน สำหรับงานด้านความมั่นคง ก็เป็นภาระของรองนายกฯเบอร์หนึ่งอย่าง พล.อ.ประวิตร ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความมั่นคง
จำนวน 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์กรมหาชน)
“พี่ใหญ่” บูรพาพยัคฆ์ ก็ยังถือธงคุมกองทัพ ตำรวจ มหาดไทย รับบทเป็นกัปตันทีมอารักขา
ประคองอำนาจ “เรือแป๊ะ”
สรุปเป็นอะไรที่เห็นภาพชัดเจนขึ้น จากการปรับ ครม.มอบหมายให้นายสมคิดเหมาคุมงานเศรษฐกิจ โดยมี พล.อ.ประวิตรถือหางเสือประคองงานความมั่นคง
ยุทธศาสตร์เชิงบริหารของรัฐบาล คสช.ดูเป็นระบบมากกว่าเดิม
พล.อ.ประยุทธ์ดึงอำนาจกลับมากระชับในกำมือมากกว่าช่วงปีแรก โดยเน้นผลสัมฤทธิ์ของงานมากกว่าการคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อนพ้องน้องพี่
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อขับเคลื่อน “เรือแป๊ะ” เดินหน้าต่อไป
ในจังหวะที่โรดแม็ป คสช. แผนที่ไปสู่เป้าหมายปลายทางในการปฏิรูปประเทศไทยก็คืบมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ตามโปรแกรมวันที่ 6 กันยายนนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะประชุมเพื่อลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแล้วเสร็จ
ด่านแรก “กติกาใหม่” ของประเทศไทย
โหวตผ่านหรือไม่ ตามเงื่อนไขต้องใช้ 124 เสียงจาก สปช. 247 คน
แน่นอนประเมินบรรยากาศเบื้องต้น สำรวจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่ที่ออกมาจากทุกทิศทุกทาง แนวโน้มไม่น่าจะเป็นบวกกับทิศทางการโหวตร่างรัฐธรรมนูญใหม่สักเท่าไหร่
เพราะมีแต่เสียงติมากกว่าเสียงชม
แต่นั่นไม่เท่ากับอาการเสียงแตกในหมู่ สปช.ด้วยกันเอง อย่างที่นายวันชัย สอนศิริ สปช.เครือข่ายกลุ่ม 40 ส.ว. ประกาศจุดยืนล่วงหน้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อ้างเพราะไม่สามารถแก้ปัญหาประเทศได้อย่างแท้จริงและยังไม่สามารถที่จะทำการปฏิรูปประเทศได้ต่อไป
มีเนื้อร้ายสอดแทรกอยู่จะเป็นพิษก่อวิกฤติประเทศในอนาคต
อารมณ์เดียวกับนายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.สายจังหวัดนนทบุรี ที่ยืนกรานจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะคณะกรรมาธิการยกร่างฯไม่ได้แก้ไขตามที่หลายฝ่ายเสนอข้อท้วงติงไป
ในจังหวะที่นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สปช.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง แถลงผลการตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญพบจุดยังไม่สมบูรณ์ เพราะขาดคำปรารภ จำเป็นต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ตามรูปการณ์ที่มีความพยายามเตะตัดขา จ้องเจาะยางกันซึ่งๆหน้า
แต่อย่างไรก็ตาม ว่ากันตามเงื่อนไขที่เสียงส่วนใหญ่ของ สปช.ก็เป็นหนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย ที่ คสช.ในฐานะต้นแม่น้ำสามารถกดปุ่มคุมเกมได้จะให้ออกซ้ายหรือขวา
ที่สำคัญขืนปล่อยให้ล่มกันตั้งแต่ด่าน สปช. รัฐบาลทหาร คสช.หนีไม่พ้นข้อครหาเดินเกมคว่ำร่างรัฐธรรมนูญหวังลากยาวเกมอำนาจ
โอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านด่าน สปช.จึงไม่น่าห่วงเท่าไหร่
จุดเดิมพันจริงๆที่ต้องไปวัดใจกันคือช็อตหลังจากนั้น ตามขั้นตอนกระบวนการประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินจะใช้หรือไม่ใช้ร่างกติกาใหม่ของประเทศไทย
และยิ่งต้องลุ้นมากกว่านั้น มันเป็นการวัดใจนักเลือกตั้งอาชีพ
ตามเงื่อนไขสถานการณ์ที่พรรคประชาธิปัตย์และค่ายเพื่อไทยต่างก็ยึดกุมฐานเสียงเลือกตั้งในพื้นที่ต่างๆ มีเครือข่ายระบบหัวคะแนนที่มีผลต่อเสียงประชามติ
โหวตผ่านหรือไม่ผ่าน กดปุ่มได้เหมือนกัน
เรื่องของเรื่องปมมันอยู่ที่นักเลือกตั้งจะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากเงื่อนไขรัฐธรรมนูญใหม่
โฟกัสเฉพาะปมที่เป็นไฮไลต์ เน้นไปที่ประเด็นการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง
ทั้งเรื่องการเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีคนนอก โดยใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกสภาฯ หรือการกำหนดคุณสมบัติของรัฐมนตรี ต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสามปีก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
โดยรูปการณ์ที่คาดกันว่า เป็นการสกัดกั้นเครือข่ายของ “ทักษิณ ชินวัตร”
เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายเสียประโยชน์เต็มๆจากการที่ถือความได้เปรียบในสนามเลือกตั้งจะไม่ใช่จุดที่รับประกันความชัวร์ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
ล็อกเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้ปาร์ตี้ลิสต์เบอร์หนึ่งได้เหมือนที่ผ่านมา
ที่สำคัญทั้งอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร และอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่างก็มีคดีเป็นชนักปักหลังค้างคาอยู่ในศาล แทบจะหมดหนทางกลับมานำทัพเลือกตั้ง
กติกาดับความหวังกันแบบนี้ แน่นอนพรรคเพื่อไทยไม่มีทางเอาด้วย
แต่ที่ประสานเสียงไม่เอาด้วยทั้งพรรคเพื่อไทยและค่ายประชาธิปัตย์ ก็คือมาตรา 260 ของร่างรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ
ที่มีอำนาจหน้าที่พิเศษ ภายในช่วง 5 ปี หลังจากที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ หากเกิดปัญหาความขัดแย้งในประเทศโดยไม่สามารถควบคุมได้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติสามารถมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม เพื่อใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวแทนรัฐบาลได้ เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร
ออกแนวลักษณะเดียวกับ “โปลิตบูโร” ของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศสังคมนิยม
นักการเมืองอ่านขาดว่าเป็นการต่อท่ออำนาจพิเศษชัดเจน
ทหารไม่ยอมลงหลังเสือ คายอำนาจง่ายๆ
ตามฟอร์มนักเลือกตั้งไม่เล่นด้วยแน่ และน่าจะมีผลต่อด่านประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะคว่ำหรือไม่คว่ำที่ด่าน สปช. จะฝ่าด่านประชามติหรือไม่ ตราบใดที่ คสช.ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ตามเงื่อนไขที่ได้วางหมากรองรับไว้หมดแล้วในกลไกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
สามารถวางเกมลากยาวอำนาจต่อไปได้ไม่มีทางตัน
มันก็อยู่ที่นักเลือกตั้งอาชีพพร้อมจะเล่นเกมยื้อยาวหรืออยากลงสนามเลือกตั้งเร็วๆ
ออกหัวออกก้อย คสช.ก็กินรวบ
ตามเกมแทบจะแบไพ่เล่น ในการเดิมพัน “กติกาใหม่” ประเทศไทย
พูดได้เลยว่า ไม่มีรายการหมกเม็ด
แต่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ “เปิดทุกเม็ด”.
“ทีมการเมือง”