นักอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี ที่ยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัย...ระหว่างเมืองออกแก้วของญวน และเมืองอู่ทองของไทย...เมืองใดมีอายุเก่าแก่ จนเป็น“ฟูนัน” ตามการสันนิษฐานและถกเถียงของผู้รู้หลายท่าน...มาเนิ่นนานนั้น

หากได้อ่านหนังสืออู่ทอง ที่รอการฟื้นคืน ผ่านรอยลูกปัด และพระพุทธศาสนาแรกเริ่ม ในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง-ท่าจีน จัดพิมพ์โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์กรมหาชน) และมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญญา

แล้วจะเกิดปัญญา ได้ข้อยุติว่า ออกแก้ว ก็คือออกแก้ว อู่ทอง ก็คืออู่ทอง

ในกรอบพื้นที่ที่จำกัด ขออนุญาตคัดย่อ บทนำของ...ศาสตราจารย์ผาสุข อินทราวุธ...บางตอน ดังต่อไปนี้

เมื่อ พ.ศ.2446 สมเด็จฯกรมพระยาดำรง ราชานุภาพ เสด็จเมืองโบราณอู่ทอง ทรงเล่าเรื่องเมืองอู่ทองว่า อาจจะเป็นเมืองที่พระเจ้าอู่ทอง องค์ที่สร้างกรุงศรีอยุธยา เคยครองราชย์อยู่ก่อน

พ.ศ.2473 สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชา นุภาพ ชักชวน ยอร์ช เซเดส์ ได้เข้าสำรวจขุดค้นศึกษาเมืองโบราณอู่ทอง เซเดส์สันนิษฐานว่า อู่ทองอาจเคยเป็นราชธานีของอาณาจักรทวารวดี ซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ ลงความเห็นต่อมาว่า เมืองอู่ทองเก่าแก่ยิ่งเมืองโบราณสมัยทวาร-วดีอื่นๆ เช่น นครปฐมโบราณ และเมืองคูบัว

ศาสตราจารย์ พอล วิทลีย์ ลงความเห็นว่ารัฐ “จินหลิน” ในจดหมายเหตุจีนราชวงศ์เหลียง เป็นรัฐสุดท้ายที่ฟันมัน กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรฟูนัน ปราบได้ในราวพุทธศตวรรษที่ 9 นั้น น่าจะตั้งอยู่ที่เมืองอู่ทอง

คำ“จินหลิน” หมายถึงดินแดนแห่งทอง หรือสุวรรณภูมิ เป็นรัฐที่ตั้งอยู่ห่างอาณาจักรฟูนันมาทางตะวันตกประมาณ 2,000 ลี้ (800 กิโลเมตร) ซึ่งตรงกับบริเวณเมืองอู่ทอง

...

ข้อสันนิษฐานในบทความของศาสตราจารย์ ฌอง บัวเซลีเยร์...เมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวงของรัฐทวารวดี เมืองอู่ทองเป็นเมืองเดียวที่พบจารึกกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์ทวารวดี คือพระเจ้าหรรษวรมัน อันเป็นพระนามของกษัตริย์ที่ไม่รู้จักกันในราชวงศ์เจนละ

ในหัวข้อเรื่อง ทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับสถานที่ตั้งอาณาจักรฟูนัน ศาสตราจารย์ ฌอง บัวเซ–ลีเยร์ กล่าวว่า ราชธานีของอาณาจักรฟูนัน อาจจะอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเมืองอู่ทอง

ดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขง เป็นดินแดนที่ถูกปราบปราม เนื่องจากวัฒนธรรมแบบฟูนันที่เมืองออกแก้ว ไม่ได้สืบต่อลงไปในวัฒนธรรมแบบเจนละ แต่ขาดหายไป

เครื่องประดับทองแดง–ดีบุก–ลูกปัดจำนวนมาก และเครื่องปั้นดินเผาแบบต่างๆที่พบในเมืองออกแก้ว ไม่ปรากฏมีในอาณาจักรเจนละ

ตรงกันข้ามกับอาณาจักรทวารวดี ซึ่งเป็นผู้สืบต่อโดยตรงจากอาณาจักรฟูนัน มีการสืบต่อในการใช้โบราณวัตถุแบบเดียวกัน เครื่องปั้นดินเผาแบบเดียวกัน ลงไปจนถึงสมัยทวารวดี

ศาสตราจารย์ผาสุข อินทราวุธ บอกว่า ผลการศึกษาและตีความจากหลักฐานทางโบราณคดี ที่ได้จากการสำรวจและขุดค้น ประกอบกับหลักฐานด้านโบราณวัตถุโบราณสถาน และหลักฐานด้านจารึก นำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า

รัฐทวารวดี ไม่ได้เจริญสืบต่อมาจากรัฐฟูนัน ตามที่เคยเข้าใจกัน หากแต่รัฐทวารวดีนั้น มีพัฒนาการสืบต่อมาจากชุมชนระดับหมู่บ้าน ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (ยุคเหล็ก) ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย

ชุมชนดังกล่าวนี้มีความเจริญทางเทค-โนโลยีหลายด้าน มีการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนร่วมสมัยในเวียดนาม และจีนตอนใต้ ในขณะเดียวกันได้เริ่มติดต่อค้าขายกับกลุ่มประเทศทางตะวันตก โดยเฉพาะกับชาวอินเดีย

เมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองที่มีความเก่าแก่กว่าเมืองโบราณสมัยทวารวดีเมืองอื่น และเป็นเมืองที่มีบทบาททั้งด้านเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าสำคัญของรัฐทวารวดี และมีบทบาทเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนารุ่นแรกของรัฐทวารวดี

ส่วนเมืองท่าโบราณที่กลายเป็นศูนย์กลางของศาสนาพราหมณ์ คือเมืองออกแก้ว ในประเทศเวียดนามตอนใต้ ซึ่งมีพัฒนาการมาจากเมืองท่าโบราณจนกลายเป็นเมืองท่าสำคัญ ของรัฐฟูนัน และเป็นเมืองที่ศาสนาพราหมณ์เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา

ในประเทศพม่า ยังได้พบว่า เมืองเบะถาโน เมืองโบราณและศูนย์กลางการค้าสำคัญของรัฐปยู ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำอิรวดีตอนกลางของพม่า ได้กลายเป็นศูนย์กลางของศาสนาพราหมณ์ไวษณพนิกาย อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง (เบะถาโน แปลว่า เมืองของพระวิษณุ)

ศาสตราจารย์ผาสุข อินทราวุธ สรุปว่า ข้อสมมติฐานอู่ทองเป็นเมืองหลวงรุ่นแรกของรัฐทวารวดี ก็คือการพบแม่พิมพ์เหรียญรูปหม้อปูรณฆฏ สำหรับผลิตเหรียญที่มีจารึก และแม่พิมพ์รูปสังข์ และรูปพระอาทิตย์กำลังขึ้น สำหรับผลิตเหรียญที่ไม่มีจารึก

ทั้งยังได้พบชิ้นแร่เงิน วัตถุดิบในการผลิตเหรียญ ซึ่งเข้าใจว่านำมาจากรัฐฉานประเทศพม่า

หลักฐานเหล่านี้ช่วยชี้ให้เชื่อว่า เมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวงรุ่นแรกของรัฐทวารวดี เด่นชัดยิ่งขึ้น.

O บาราย O