ผู้ที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ อาจเกิดความสับสนว่า “การปฏิรูปตำรวจ” จะเดินหน้าหรือย่ำอยู่กับที่ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้จุดประกายให้มีความหวังว่าการปฏิรูปตำรวจจะต้องมีแน่นอน เพราะเขียนไว้ชัดเจนในกฎหมายสูงสุด แต่ต่อมาไม่นาน นายกรัฐมนตรีกลับโยนให้รัฐบาลหน้า แต่ต่อมาอีกไม่กี่วัน ก็พูดถึงการปฏิรูปตำรวจอีก
มีรายงานข่าวระบุว่า ในบรรดาข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ กว่าร้อยประเด็นของคณะรัฐมนตรี ได้เสนอให้ “ตัดทิ้ง” มาตรา 282 ถึง 296 ว่าด้วยการปฏิรูปด้านต่างๆ มาตรา 282 (8) เป็นเรื่องการปฏิรูปตำรวจ รวมทั้งการกระจายอำนาจสู่จังหวัด และการปรับงานสอบสวนให้เป็นอิสระจาก สตช. ถ้าเรื่องนี้เป็นความจริง การปฏิรูปตำรวจต้องรอต่อไป
รอไปถึงไหน? นายกรัฐมนตรีเคยบอกว่าให้รอรัฐบาลหน้า ในขณะที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันการปฏิรูป บอกว่าถ้ารัฐบาล คสช.ไม่ทำ รัฐบาลหน้าก็ทำไม่ได้ แม้แต่รัฐบาลชาติหน้าก็อาจทำไม่ได้ เพราะถูกต่อต้านจากวงการตำรวจ ที่จะต้องสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์มหาศาล ถ้าอำนาจการสอบสวนหลุดมือ จริงหรือไม่จริง ต้องตามดูกันต่อไป
ถ้าการปฏิรูปตำรวจต้องเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะโอกาสแบบนี้ไม่ได้มีบ่อยๆ ผู้ที่สูญเสียได้แก่ประเทศ และประชาชนไทยเสียโอกาสที่จะได้ สตช. ที่ผลการสำรวจขององค์กรโปร่งใสระหว่างประเทศ มีคนไทยถึง 71% มองว่าเป็นองค์กรที่มีทุจริตมากที่สุด รองลงไป 68% ได้แก่ พรรคการเมือง
ที่ผ่านๆมาข้อเสนอเรื่องปฏิรูปที่สำคัญคือการป้องกันไม่ให้นักการเมืองยุ่งเกี่ยวในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ แต่ยิ่ง
ปฏิรูปองค์กรตำรวจก็ยิ่งโตมีกำลังพลกว่า 2 แสนคน เป็นระดับนายพลเกือบ 500 คน และยกฐานะจาก “กรมตำรวจ” ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย มาเป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี แต่ทุกอย่างยังเหมือนเดิม
...
แต่ข้อเสนอที่สำคัญในการปฏิรูป ตำรวจครั้งใหม่คือให้แยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระจาก สตช. ผู้เสนอ (ซึ่งเป็นตำรวจเก่า) ชี้ว่าปัญหาตำรวจถ้าไม่แก้ไขก็จะมีการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ รับส่วย รับสินบน ทุจริต ใช้อำนาจรังแกประชาชนด้วยการยัดข้อหา เพราะการสอบสวนไม่เป็นอิสระ แล้วแต่ “นายสั่ง” ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลจากองค์กรภายนอก
หากการปฏิรูปตำรวจถึงทางตัน เพราะการคัดค้านของใครก็ตามจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายโอกาสอย่างยิ่ง ไม่มีโอกาสที่จะได้เขียนไว้ แม้แต่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งถือว่าเป็น “ฉบับปฏิรูป” ทุกด้าน แต่อาจจะเขียนไว้เท่ๆในที่หนึ่งที่ใดสักแห่ง ด้วยถ้อยคำว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย” หรือ “ทุกฝ่ายมีสิทธิได้รับการสอบสวนที่ถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม”.