วินัยพระ ที่ทุกรูปต้องฟังทบทวน...ทุกวันพระ 15 ค่ำ เป็นแค่พระวินัย ในปาฏิโมกข์ ยังมีวินัยนอกปาฏิโมกข์ อีกมากมาย เท่าที่ ผมพอจำได้ อย่างข้อ พระส่องกระจกดูเพื่อความสวยงาม เป็นอาบัติถุลลัจจัย
วินัยในพระไตรปิฎก เปรียบกฎหมายบ้านเมือง ก็คือกฎหมายแม่... รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ข้อบัญญัติ คำสั่ง...ที่สงฆ์ออกมาครั้งหลัง...เป็นกฎหมายลูก จะเอากฎหมายลูกหักล้างกฎหมายแม่ คงไม่ได้
พระหรือฆราวาส ใครฝ่ายไหน จะกล่าวหาจะตัดสินกันอย่างไร...ก็ว่าของท่านไป
พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับผู้เริ่มศึกษา (อุทัย บุญเย็น 2548) เขียนถึง ทุติยปาราชิก-ลักทรัพย์ว่า พระพุทธองค์ ทรงบัญญัติที่ภูเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์ ราวพรรษาที่ 17 หรือพรรษาที่ 20
พระเจ้าพิมพิสาร ราชาแคว้นมคธ เคยปวารณากับพระสงฆ์ว่า หญ้าไม้ และน้ำ ขอถวายแก่สมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย ขอได้โปรดใช้สอย...
พระธนิยะ บุตรช่างหม้อ ตั้งใจปลูกกุฏิไม้...อ้างพระดำรัสนี้ ไปขอไม้หลวง ปลูกกุฏิหลังหนึ่ง
ต่อมาคนดูแลไม้หลวง ก็เจอโทษถึงประหาร พระธนิยะ ขอเข้าไปเป็นพยานไว้ได้
พระเจ้าพิมพิสาร...ระลึกได้เคยตรัสอนุญาต แต่ก็ทักว่า สมณะ ผู้ทรงศีล ควรสำรวมระวังแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ
ทรงหมายความว่า หญ้า ไม้และน้ำในป่า ที่ไม่มีใครหวงแหน ไม่ได้หมายถึงไม้หลวง ไม้หวงห้าม
พระพุทธองค์ทรงบัญญัติว่า ภิกษุใด เอาทรัพย์อันเจ้าของเขาไม่ได้ให้ เป็นอาการเดียวกับโจร ขโมย...ภิกษุนั้น เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้
ตัวอย่างหนึ่ง...ภิกษุไปกล่าวตู่เอาที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของเขาทันทีที่เขาปล่อยเป็นกรรมสิทธิ์ ปรับอาบัติเป็นปาราชิก และถ้าเจ้าของไม่ยอม มีการฟ้องร้องกันถึงศาล แม้ภิกษุเป็นฝ่ายชนะ ได้ที่ดินมา ก็เป็นปาราชิก
เรียกว่าชนะทางโลก แต่แพ้สิกขาบททางสงฆ์
...
มาถึงประเด็น ค่าของเงิน 5 มาสก ขึ้นไป ที่พระวินัยบัญญัติ ว่าภิกษุลักของเขาไป...เป็นปาราชิก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา
วชิรญาณวโรรส ทรงตั้งสันนิษฐาน ตามมาตรารูปิยะ ที่ใช้ในแคว้นมคธสมัยนั้น
5 มาสก เท่ากับ บาทหนึ่ง 4 บาท เท่ากับกหาปณะหนึ่ง
สมัยพุทธกาล รูปิยะแต่ละแคว้นมีอัตราไม่เท่ากัน เหมือนสมัยนี้อัตราค่าแลกเปลี่ยนเงินตราไม่เท่ากัน
ค่าเงินบาทสมัยนั้น กับค่าเงินบาทของไทย เป็นคนละอย่าง
ในคัมภีร์ชั้นฎีกา แสดงไว้ว่า กหาปณะเป็นมาตราทองคำ 1 กหาปณะ เท่ากับ ทองคำหนัก 20 มาสก 1 มาสก เท่ากับ ทองคำหนัก 4 เมล็ดข้าวเปลือก
1 บาท เท่ากับ 1/4 ของหนึ่งกหาปณะ นั่นคือ 1 บาท เท่ากับ 5 มาสก หรือ 5 มาสก เท่ากับ ทองคำ 20 เมล็ดข้าวเปลือก
ฉะนั้น 1 บาท (สมัยนั้น) จึงเท่ากับ ทองคำหนัก 20 เมล็ดข้าวเปลือก
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงสรุปว่า ทรัพย์ราคาบาทหนึ่ง คือ 5 มาสก เป็นเกณฑ์ปรับอาบัติปาราชิก ไม่ถึงบาทแต่สูงกว่า 1 มาสก ปรับอาบัติถุลลัจจัย ตั้งแต่ 1 มาสก ลงมา ปรับอาบัติทุกกฎ
ถือหลักสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ...ค่าของเงินที่พระจะเป็นอาบัติ ทุกกฎ ถุลลัจจัย ปาราชิก ในเมืองไทยสมัยปัจจุบัน ก็ต้องไปเอาเมล็ดข้าวเปลือก...มาชั่งเทียบเคียงกับน้ำหนักทองคำ
อีกหลัก ปาราชิกสิกขาบทที่ 2 นี้ ภาษาชาววัดว่าเป็น “สจิตตกะ” คือ ต้องมีเจตนาลัก เช่น คิดว่าเป็นของตนจึงถือเอา คิดว่าเขาทิ้งแล้ว ถือเอาด้วยวิสาสะ ถือเป็นของยืม...จึงเป็นอาบัติ
อ่านวินัยปิฎกถึงตอนนี้แล้ว คิดจะปรับอาบัติพระเป็นปาราชิก...ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
โอกาสที่พระไม่เป็นปาราชิก ยังมีอีก เช่น เป็นพระวิกลจริต พูดง่ายๆ พระบ้า
พระที่ห่มจีวรกาววาวเหวอหวา ไม่เหมือนพระอื่น มีพิธีกรรม ไม่เหมือนพิธีสงฆ์ทั่วไป บางเวลาก็ขอโอกาสญาติโยม ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า...แบบนี้ถ้าตีความว่า เป็นพระบ้า...ก็ปรับปาราชิกท่านไม่ได้
ปล่อยให้ท่านบ้าของท่านไป ส่วนใครจะพลอยบ้าไปด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องศรัทธาของแต่ละญาติโยม.
กิเลน ประลองเชิง