เมื่อต้องไปเดินช็อปปิ้งหรือกินอาหารในห้างสรรพสินค้า ขับรถเข้าไปจอดไว้ หลังเสร็จภารกิจ จะขับรถกลับ แต่เกิดเหตุไม่คาดฝัน... รถหายในห้างฯ ถามว่างานนี้ ใครต้องรับผิดชอบ
ปัญหาเช่นว่า เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และมีการฟ้องร้องต่อสู้คดีความในศาลกันอย่างยืดเยื้อ ตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ จนถึงชั้นศาลฎีกา
ลองคิดกันเล่นๆ หากห้างฯต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น จะใช้เหตุผลใดเอาผิดกับห้างฯ แตกหน่อความคิดออกไปอีก ถ้ารถไม่ได้หายในห้างฯล่ะ แต่ไปจอดไว้ที่อื่น เช่น หอพักหรือสนามบิน ทั้งเจ้าของหอพักหรือทางสนามบินจะต้องรับผิด ชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของรถด้วยหรือไม่
ประเด็นนี้ อุดม งามเมืองสกุล ได้จุดประกายความคิด พร้อมกับตั้งข้อสังเกต เพื่อเป็นความรู้เอาไว้ในสื่อสังคมออนไลน์อย่างน่าสนใจ
เขาบอกว่า กรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายเป็นสัญญาฝากทรัพย์ และสัญญาให้เช่าที่จอดรถ เพราะหากเป็นการฝากทรัพย์จะต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 657
“อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ฝาก ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วจะคืนให้”
อุดมบอกว่า ดูแล้ว ไม่ใช่ฝากทรัพย์ แน่ เพราะยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะกรณีการส่งมอบทรัพย์สิน เพราะลูกค้าเป็นผู้ที่ขับรถเข้าไปจอดในห้างฯเอง และเป็นผู้เก็บกุญแจรถไว้กับตัวเอง
นอกจากนี้ทางห้างฯไม่ได้ตกลงจะเก็บรักษารถให้ เพียงแค่ให้บริการที่จอดรถ ฟรีบ้าง เก็บเงินบ้าง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นที่จะทำให้เป็นการฝากทรัพย์ตามกฎหมาย
เขาว่า เช่นเดียวกัน ไม่ใช่สัญญาให้เช่าที่จอดรถ หรือถึงจะเป็นสัญญาให้เช่าที่จอดรถ ผู้ให้เช่าก็ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในความเสียหายกรณีรถหาย เว้นแต่เป็นความผิดของผู้ให้เช่าเอง ดังนั้น แม้จะเป็นสัญญาให้เช่าที่จอดรถห้างฯก็รอดตัวไป
...
แต่อุดมว่า ถึงแม้ห้างฯไม่ต้องรับผิดตามสัญญา แต่ยังอาจต้องรับผิดเพราะเหตุอื่น
เขายกเนื้อหาใน ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่บัญญัติไว้ความว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
พร้อมทั้งยก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5800/2553 (ฉบับย่อ)
“...แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า จะไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับฝากรถของลูกค้าที่มาจอดเพื่อใช้บริการของห้าง และไม่มีการเก็บค่าจอดรถก็ตาม แต่การก่อสร้างห้างของจำเลยที่ 1 อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ซึ่งกำหนดให้ต้องมีที่จอดรถ 1 คัน ต่อพื้นที่ทุกๆ 20 ตารางเมตร และจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 มาดูแลรักษาความปลอดภัยของห้าง โดยต้องตรวจบัตรเมื่อจะนำรถออก ต้องให้ตรงกับทะเบียนรถ จึงเป็นการจัดที่จอดรถให้แก่ลูกค้า
เมื่อปรากฏว่า รถที่สูญหายไปบัตรจอดรถยังอยู่ที่ผู้บริโภค (ลูกค้า) การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 พนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ระมัดระวังในการออกบัตรจอดรถ และตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด เป็นเหตุให้รถยนต์ของผู้บริโภคถูกลักไป จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้บริโภค ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และ มาตรา 425”
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 และลูกจ้าง ตลอดทั้งทรัพย์สินอื่น ซึ่งอยู่ในความครอบครองดูแลของจำเลยที่ 1 ในบริเวณห้างฯ
จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับมอบหมายจึงต้องรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันกระทำละเมิดต่อผู้บริโภค จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการ จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิด ที่ตัวแทนได้กระทำไป ในกิจการที่ได้รับมอบหมายให้ทำแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427
อุดมสรุปว่า กรณีรถหายในห้างฯ แม้ห้างสรรพสินค้าที่ลูกค้านำรถเข้าไปจอด ไม่ต้องรับผิดตามสัญญา แต่ยังคงต้องรับผิดเพราะเหตุละเมิด
ผลจากคำพิพากษาฎีกาคดีนี้ ทำให้ต่อมาหลายห้างฯ เลี่ยงบาลีด้วยการยกเลิกแจกบัตรตรวจสอบการเข้า-ออกของรถยนต์ ไม่มีแม้กระทั่ง รปภ.ยืนเฝ้าทางเข้า-ออก แต่หันมาใช้ กล้องวีดิโอวงจรปิด แทน โดยห้างฯเหล่านั้นเชื่อว่า หากเกิดกรณีรถหายขึ้นมาอีก จะได้ไม่ต้องรับผิดชอบ
แต่การณ์หากลับเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะล่าสุดมี คำพิพากษาฎีกาที่ 7471/2556 เป็นคดีรถหายในห้างฯ ซึ่งไม่ได้มีการแจกบัตรผ่าน โดยห้างฯต่อสู้คดี ปฏิเสธความรับผิด อ้างว่าไม่ได้เป็นการรับฝากหรือรับดูแลรถ ทั้งห้างฯไม่มีหน้าที่ต้องตรวจสอบขอให้ศาลยกฟ้อง
คดีดังกล่าวยืดเยื้อราวมหากาพย์ เป็นอีกคดีที่ต่อสู้กันมันหยดถึงชั้นศาลฎีกา
ในที่สุดศาลฎีกามีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานว่า ห้างสรรพสินค้าต้องให้ความสำคัญกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นสินค้า ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย
อีกทั้งพระราชบัญญัติควบคุมอาคารยังบังคับให้ห้างฯ ต้องมีพื้นที่จอดรถภายในอาคาร เพื่อความสะดวกแก่การจราจร ทั้งยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของลูกค้า โดยมีหน้าที่ต้องดูแลตามสมควร มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าต้องระวัง หรือเสี่ยงภัยเอาเอง
อีกทั้งก่อนหน้านี้ทางห้างฯเคยมีการแจกบัตรเข้า-ออกแก่รถยนต์ที่เข้าไปในห้างฯ เพื่อตรวจตราอย่างเข้มงวด แต่ห้างฯกลับยกเลิก อันเป็นการเพิ่มความเสี่ยง ซึ่งห้างฯรู้ดี
ดังนั้นจึงพิพากษาให้ห้างฯต้องรับผิด ใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อลูกค้า
ผลจากคำพิพากษานี้ มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่าง เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันการสูญเสีย (LP) ประจำห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง บอกว่า ไม่ใช่จะปัดความรับผิดชอบ แต่อยากให้มองสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม
เขาว่า บ่อยครั้งผู้ที่นำรถเข้าไปจอดที่ห้างฯ ไม่ได้เป็นลูกค้าของห้างฯ หลายคนมีพฤติกรรมลักไก่ขับรถเข้าไปจอดทิ้งไว้ ตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม จึงค่อยมานำรถออกไป
“เห็นได้ชัดว่าเป็นการจอดทิ้งไว้ เพื่อไปทำธุระที่อื่น เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าที่มาใช้บริการในห้างฯโดยเฉลี่ยใช้เวลาจอดไม่เกิน 4 ชั่วโมง ห้างฯจึงให้จอดรถฟรี 4 ชั่วโมง แต่การลักไก่จอดทิ้งไว้ทั้งวัน แล้วรถหายขึ้นมา จะให้ห้างฯต้องรับผิดชอบ เป็นธรรมแล้วหรือ”
แหล่งข่าวรายนี้บอกว่า ดังนั้นล่าสุดบางห้างฯ จึงใช้วิธีแบ่งเขตความรับผิดชอบให้ชัด โดยกันพื้นที่ส่วนหนึ่งของห้างฯไว้ เป็นลานจอดรถนอกตัวอาคาร ไม่มีการแจกบัตร ไม่มีกล้องวงจรปิด ประมาณว่าทางห้างฯแค่อำนวยความสะดวก หาพื้นที่ให้ ใครอยากจอดก็จอดแบบตัวใคร ตัวมัน ดูแลกันเอาเอง
อีกส่วนเป็นการจอดรถบนอาคารของห้างฯ ใช้ระบบ CMS ซึ่งมีทั้งการแจกบัตร ตรวจตรา และบันทึกข้อมูลการนำรถเข้า-ออกจากห้างฯ อย่างเคร่งครัด
“ถ้าเป็นกรณีผ่านระบบ CMS รถหาย โทษเรา เรายินดีรับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นกรณีที่เราแค่อำนวยความสะดวกหาที่จอดให้ ไม่ผ่าน CMS ถ้ารถหาย ท่านต้องไปว่ากันเอาเองกับบริษัทประกันภัย” แหล่งข่าวทิ้งท้าย
ยังไม่รู้ว่าหากรถหายในพื้นที่ซึ่งห้างฯอ้างว่า แค่อำนวยความสะดวก หาที่ให้จอดนอกอาคาร แบบตัวใครตัวมัน หากเกิดการสู้คดีในชั้นศาลกันขึ้นมาอีก คราวนี้ศาลท่านจะว่าอย่างไร.