พลันที่อากาศคลายหนาวลง อุณหภูมิการเมืองก็ร้อนวูบวาบเลย
ภายหลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดำเนินการลงมติถอดถอน 2 คิวใหญ่ติดกัน
ไล่ตั้งแต่รายการของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร กับนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.
และกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในประเด็นที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว
ผลออกมา นายสมศักดิ์ ถอดถอน 100 ไม่ถอดถอน 115 งดออกเสียง 4 ขณะที่นายนิคม ถอดถอน 95 ไม่ถอดถอน 120 งดออกเสียง 4
นายสมศักดิ์กับนายนิคมรอดสันดอน เสียงถอดถอนไม่ถึง 132 เสียง หรือ 3 ใน 5 ของ สนช.ตามเงื่อนไขกฎหมาย
แต่ไฮไลต์ช็อตประวัติศาสตร์จริงๆ มันอยู่ที่คิวของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ตามตัวเลขที่ออกมา เห็นควรถอดถอน 190 เสียง ไม่ถอดถอน 18 เสียง งดออกเสียง 8
เกิน 3 ใน 5 ของ สนช. “ยิ่งลักษณ์” ไม่รอดสันดอน
อย่างไรก็ตาม ถือว่าไม่ได้เหนือการคาดหมายแต่อย่างใด ว่าตามเค้าลางจากองค์ประกอบสถานการณ์ที่ค่อนข้างชัดมาตั้งแต่ปรากฏการณ์ที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และเครือข่ายนักการเมือง ข้าราชการ และบริษัทเอกชน ในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ
เจาะจงล็อกจังหวะก่อนหน้าวันลงมติถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ 2 วัน
มันจึงถูกแปรเป็นสัญญาณนำร่อง ตอกย้ำน้ำหนักเหตุผลในการดำเนินการถอดถอนอดีตผู้นำหญิง
...
เก็งหวยล่วงหน้าถูกตามๆกัน
เบื้องต้นเลยจากผลการโดนถอดถอนก็คือการถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี
“ยิ่งลักษณ์” จะติดโทษแบนยาว ไม่สามารถมีชื่ออยู่บนกระดานการเลือกตั้ง แบบที่นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 เคยประสบมาแล้ว
โทษทางการเมืองจบเพียงเท่านี้
แต่ลูกติดพัน ในอารมณ์ของเกมอำนาจที่เครือข่าย “ทักษิณ” เป็นฝ่ายโดนกระทำอีกคำรบ แถมแนวโน้มก็ยังเข้าเค้าอย่างที่หวาดระแวงเกมขุดรากถอนโคน
คนแพ้แบบมีอาการค้างคาใจ ส่อโดนต้อนจนมุม ยังไงก็ต้องสู้
ซึ่งก็ตรงกันข้ามกับอาการของฝ่ายที่ชิงแสดงความเป็นผู้ชนะ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกกลุ่ม กปปส. รีบออกมาสรรเสริญในความกล้าหาญของ สนช.ในการพิจารณาถอดถอนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ถือเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย
ขอให้กำลังใจกับการปฏิบัติหน้าที่ของ สนช.ที่ได้เติมความหวังให้กับมวลมหาประชาชน ที่จะร่วมสนับสนุนและขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อไป เพื่อให้การเมืองของประเทศไทยดีขึ้น
ตอกย้ำฝ่ายได้ ฝ่ายเสีย
เกมถอดถอนส่งผลแพ้ชนะในทางการเมือง ตามท้องเรื่องมันยิ่งยั่วอารมณ์พลุ่งพล่าน
งานนี้ไม่มีคำว่า “ศิโรราบ” แน่
เพียงแต่มันยังไม่ระเบิดทันทีทันใดในระยะเวลาอันใกล้
ในสถานการณ์ที่เบอร์หนึ่งที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงอย่าง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ยังแสดงท่าทีไม่หนักอกหนักใจว่าฝ่ายสนับสนุนอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จะเคลื่อนไหว
มั่นใจว่าเอาอยู่ ควบคุมแรงกระเพื่อมได้
นั่นก็เพราะตามจังหวะผลีผลามไม่ได้ ในเมื่อยังมีปัจจัยเงื่อนไขล็อกอยู่ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่ คสช.ยังประกาศใช้กฎอัยการศึก สกัดการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ได้กดปุ่มเกมมวลชนกันได้ง่ายๆ
ทั้งข้อกฎหมาย ไหนไม้แข็งตามฟอร์มทหาร
งานนี้ขืนกองเชียร์ “ยิ่งลักษณ์” บุ่มบ่ามอาละวาดฟาดหาง ก็มีแต่จะยิ่งเพลี่ยงพล้ำ
ย้ำความพ่ายแพ้
แนวโน้มสถานการณ์ก็อย่างที่แกนนำกลุ่มเสื้อแดง นปช. เครือข่ายพรรคเพื่อไทย แค่ออกมาส่งสัญญาณนำร่องเป็นนัยเตือนฝ่ายคุมเกมอำนาจ
ถ้ายุติธรรมไม่มี สามัคคีไม่เกิด
ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่ม นปช. ก็เพียงแต่บอกให้คนเสื้อแดงใช้ความอดทนให้ถึงขีดสุด อย่าเต้นตามแรงยั่วของอีกฝ่ายที่ต้องการทำให้คนเสื้อแดงถูกมองเป็นตัวปัญหา
พยายามรักษาอาการ ไม่ออกลูกโฉ่งฉ่าง
แต่ลึกๆก็แฝงไว้ด้วยยุทธศาสตร์ “เผาหัว” อุ่นเตาให้ร้อนขึ้นทุกขณะ
อาศัย “หัวเชื้อ” จากปมถอดถอน ก่อหวอด กระตุกเกมใต้ดินให้ค่อยๆระอุ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบททิ้งท้ายที่อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์แถลงปิดคดีในที่ประชุม สนช.
“การมาขอความเป็นธรรมในที่นี้ ไม่เพียงเพื่อตัวเอง แต่อยากขอโอกาสให้คนจน ให้ชาวนาชาวไร่ ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นเหมือนคนอื่น ได้ลืมตาอ้าปาก ได้รับรายได้ที่เป็นธรรมคุ้มค่าเหนื่อยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เราจะให้ชาวนาของเรา หลังหักไม่ได้ เราจึงไม่ควรที่จะปล่อยให้เขาเหล่านั้น ใช้ชีวิตตามยถากรรม เพราะหนี้สิน และไม่พอจะกินเลย”
รู้ชะตาว่าโดนแน่ แต่ก็ยังอาศัยลูกอ้อนล็อกชาวนารากหญ้าเป็นฐาน
ซึ่งตามรูปการณ์ก็ยังมีจังหวะเล่นกระแส สะสมพลังมวลชนไปอีกอึดใจใหญ่
นั่นก็เพราะเส้นทางของประเด็นทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ไม่ได้จบแค่รายการถอดถอนโดยที่ประชุม สนช.เท่านั้น
เดิมพันสำคัญจริงๆที่ลุ้นกันตัวโก่งยิ่งกว่า
มันอยู่ที่ขั้นตอนสุดท้าย ต้องไปว่ากันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามกระบวนการที่ ป.ป.ช. ต้องทำสำนวนส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อส่งฟ้องศาลดำเนินคดีอาญา
โทษหนักถึงขั้นจำคุกไม่เกิน 10 ปี
จริงอยู่ถึงแม้ตามรูปการณ์ในเบื้องต้น ป.ป.ช.กับอัยการสูงสุด กำลังคัดง้างกันในเรื่องของรูปคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่ยังเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของพยานหลักฐาน
แต่ล่าสุดอัยการสูงสุดก็มีความเห็นตามสำนวน ป.ป.ช.สั่งฟ้องอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ในคดีอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว
โดยจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อสรุปสำนวนยื่นฟ้องคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายใน 1 เดือน
วิบากกรรมอันหนักหนาสาหัสรออยู่อีกด่าน
โดยรูปการณ์เส้นทางของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ก็มีโอกาสย่ำรอยอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชาย ที่โดนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก 2 ปี
จากกรณีเซ็นชื่อให้ภริยาซื้อที่ดินรัชดา เข้าข่ายใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ
ต้องหนีคดีไปต่างประเทศ อยู่ในแผ่นดินไทยไม่ได้มาจนถึงวันนี้
ช็อตเป็นช็อตตายอยู่ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พี่ชายกับน้องสาวกำลังตกอยู่ในห้วงวิบาก-กรรมซ้ำซากของตระกูลชิน
แน่นอนเครือข่าย “ทักษิณ” ไม่มีทางยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
โดนไล่ต้อนจนตกกระดานเป็นคำรบสองง่ายๆอยู่แล้ว
เรื่องของเรื่องคิวของ “ยิ่งลักษณ์” มันไม่ได้มีแค่ผลทางคดีที่เสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางเท่านั้น แต่มันยังมีผลต่อเส้นทางอำนาจการเมืองในอนาคตของทีมงาน “นายใหญ่”
แทบไม่เหลือ “นอมินี” ไว้ใช้ในสนามเลือกตั้ง
ซึ่งผลต่อเนื่องจากคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวจะเป็นชนัก ปักหลังของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ มันจะโยงไปถึงเงื่อนไขกฎหมายในรัฐธรรมนูญใหม่
ตามโมเดลที่จ่อห้ามผู้เคยต้องคดีทุจริตคอร์รัปชันดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต
นั่นเท่ากับการประหารชีวิตทางการเมืองของ “ยิ่งลักษณ์”
บทสรุปคำตอบสุดท้าย ยุทธการขุดรากถอนโคนยี่ห้อ “ทักษิณ”
โดยวิบากกรรมโหดๆที่เห็นอยู่ตรงหน้า ยังไงลูกข่าย “นายใหญ่” ก็ไม่ยอมตายง่ายๆ
และก็เป็นอะไรที่ชัดเจน ผลจากปมถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” มันสะท้อนระยะห่าง
คำว่า “ปรองดอง” กับประเทศไทย ยังอยู่อีกไกล
ภายใต้สถานการณ์ที่กองทัพ “จ่ายยาแรง” ควบคุมวิกฤติเฉพาะหน้าไว้ชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น
ตามปรากฏการณ์ที่คนไทยแบ่งออกเป็นสองขั้วสองฝ่าย ภายใต้วาทกรรม “สองมาตรฐาน” เงื่อนไข “ความเป็นธรรมของแต่ละฝ่ายไม่เหมือนกัน”
ทุกฝ่ายยืนยันเชื่อมั่นในกฎหมาย แต่ไม่เชื่อมั่นกระบวน-การตัดสิน
ไม่ว่าผลการถอดถอนออกมามุมไหน ก็หนีไม่พ้นความปั่นป่วนวุ่นวาย
ที่แน่ๆนับจากนาทีนี้ไป เกมใต้ดินที่ซาไปจะกลับมาใหม่
และสุดท้ายถ้าสถานการณ์บานปลาย อย่างไรเสียก็หนีไม่ออก
แม้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม หัวขบวนหลักของรัฐบาล คสช.จะพยายามออกตัวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็เป็นเรื่องของกระบวนการที่จะดำเนินการ แต่หลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นเรื่องที่รัฐบาล คสช.รับผิดชอบทั้งหมดเพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น
รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ไปแก้แค้น ไม่ได้ไปไล่ล่า เราไม่ได้เข้ามาเพื่อสร้างความเกลียดชัง
พยายามประคองเหลี่ยม “ลอยตัว” อยู่เหนือเงื่อนไขขั้วขัดแย้ง
แต่ถึงจังหวะเป็นจังหวะตาย สถานการณ์ไหลเข้าโซนสู้รบรุนแรงเมื่อไหร่
ในฐานะที่โดดเข้ามาควบคุมสถานการณ์
ทหารลอยตัวยังไงก็หนีไม่พ้นไฟร้อน.
“ทีมการเมือง”