ช่วงปีใหม่ ร้านรวงในซอยใกล้บ้านปิดกันเกือบหมด...ผมเจอร้านชำ มีกาแฟโบราณ...สั่งชาร้อน เจ้าของร้านเสนอไข่ลวก...ไข่ลวกเหยาะพริกไทย เติมซีอิ๊ว รสละมุนลิ้น

เป็นอันว่า ได้กินมื้อเช้า แบบที่ไม่เคยกินมานาน รอดไปได้อีกมื้อหนึ่ง

นึกถึงวิธีกินไข่ลวกร้านกาแฟริมน้ำแม่กลอง...สมัย 50-60 ปีที่แล้ว เจ้าของร้านบริการแบบลวกไข่มาให้เป็นฟอง...ใช้ช้อนคนกาแฟ เคาะเอาปลายแหลมของไข่...ออกเป็นช่อง เหยาะเกลือ โรยพริกไทย...ยกขึ้นใส่ปากดูด...ได้อารมณ์ไปอีกแบบ

อาจารย์ ส.พลายน้อย เขียนเรื่องวิธีกิน ไว้ในหนังสือกระยานิยาย (ศิลปวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2548) ว่า ยังมีอีกวิธีกินไข่...คือให้เจ้าของร้านต้ม...ไข่พอให้สุกเป็นยางมะตูม เอาช้อนเคาะเปิดเปลือกไข่...แล้วก็ตักกิน

เดิมทีคนไทยกินแต่ไข่เป็ด ที่คนจีนนิยมเลี้ยงเอามาขาย จนถึงสมัย ท่านผู้นำ จอมพล ป. ปรับปรุงวัฒนธรรม อยากให้คนไทยแข็งแรง จึงส่งเสริมให้เลี้ยงไก่ไว้กินไข่

คนไทยจึงเริ่มนิยมกินไข่ไก่

ผู้คนรุ่นนั้น คงกินไข่ลวกกันมาก “แสงทอง” ถึงขั้นเขียนโคลงแนะนำ

ทายไข่ใบหนึ่งต้ม ตามภูมิ พอสุกอย่างยางมะตูม ตักได้ โรยเกลือพริกไทยมูม มามดูด ไม่ดี ช้อนตักใส่ปากไซร้ เสพฉะนี้ มีอารย์

สมัยนั้นอีกเหมือนกัน ผู้ใหญ่มักขู่ไม่ให้เด็กๆกินปลา บอกว่าจะเป็นตานขโมย ผอมแห้งท้องป่อง แล้วก็ให้กินข้าวให้มากๆ กินกับแต่น้อย เด็กไทยจึงตัวไม่โต

จอมพล ป.ท่านก็ออกคำสั่งให้เด็กกินกับให้มากๆ กินข้าวแต่น้อย...เด็กไทยจึงเริ่มตัวโตขึ้นบ้างมาตั้งแต่ครั้งกระนั้น

ผมเคยใช้สำนวน “ตั้งไข่ล้ม ต้มไข่กิน” เปรียบเปรยเรื่องที่ทำกันไม่เป็นโล้เป็นพาย...ตอนนี้ชักไม่แน่ใจ ใช้ถูกตามความหมายโบราณหรือไม่

อาจารย์ ส.พลายน้อย เล่าว่า ตอนเป็นเด็กถูกหลอกให้ตั้งไข่ ใครวางไข่ให้ตั้งโดยไม่ล้มได้ จะให้รางวัล

...

เด็กๆก็พยายามแข่งกันตั้งไข่... แต่ไม่เคยมีใครทำได้...สักที

พอโตขึ้น อาจารย์ ส.พลายน้อย อ่านหนังสือมากๆเข้า ก็เจอเรื่องนักเลงดีตั้งไข่ เข้าจนได้

เล่ากันว่า หลังจากโคลัมบัสค้นพบอเมริกาแล้วก็กลับบ้าน

วันหนึ่งนั่งกินไข่ลวกเป็นอาหารเช้ากับเพื่อน...เพื่อนคนหนึ่งก็หยอกว่า การไปค้นพบอเมริกา ที่ว่ากันว่าเป็นเรื่องยิ่งใหญ่หนักหนานั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย

โคลัมบัส ฟังจนจบ ก็หยิบไข่ขึ้นชู แล้วถาม

“ใครจะตั้งไข่ ให้ตรงได้บ้าง”

เพื่อนทุกคนลองตั้งไข่...ตั้งไม่ได้สักคน ในที่สุด ก็ย้อนมาถามโคลัมบัส “นายคงตั้งไข่ได้ ล่ะซี”

โคลัมบัสไม่พูดอะไร หยิบไข่กระแทกบนโต๊ะ พอเปลือกไข่แตกบุบเข้าไป ก็ตั้งตรง

“อย่างนี้ ใครก็ทำได้ ไม่ยาก” เพื่อนๆว่า

“ก็ใช่” โคลัมบัสได้ที “ก็อย่างเดียวกับที่ฉันไปพบอเมริกา ใครที่ตามไปทีหลัง ก็ไปได้ไม่ยากเย็นอะไร”

เรื่องเล่าโคลัมบัส ถ้าใช้สำนวนไทย ก็คงเปรียบเปรยว่า ละเลง ขนมเบื้องด้วยปาก เห็นเขาทำขนมเบื้องเสร็จแล้ว น่ากิน ก็คิดว่าคงทำได้ง่ายๆ แต่เมื่อได้ลองทำเอง จึงรู้ว่า ยากแสนยาก

ชาวบ้านอย่างผมกลัวจะถูกหาว่าละเลงขนมเบื้องด้วยปาก จึงกลั้นหายใจ...ไม่ขัดคอ ไม่ข้องแวะ เรื่องที่ผู้รู้เรื่องกฎหมายมากมาย กำลังเถียงกันร่างรัฐธรรมนูญ

ผมจำมาสำนวนนี้ มาจากนิยายกำลังภายใน...น. นพรัตน์ ...เมื่อจะใช้ ก็ต้องแน่ใจ เมื่อไม่แน่ใจ ก็ไม่ใช้ คงพอเข้ากันได้ กับสำนวน ลงเรือแป๊ะ ก็ต้องตามใจแป๊ะ

เรือแป๊ะ ไม่ได้ล่มปากอ่าว...จนถึงวันนี้ ใบเรือแป๊ะได้ลมแล่นฉิว ออกทะเล...ไปไกล...

อดทนกันอีกหน่อย เราก็คงจะได้ลงเรือลำใหม่...จะเป็นเรือสำเภา แบบจีน หรือ เรือกำปั่น แบบฝรั่ง...ก็คงได้ลง...สักลำคุณสมชาย เขาให้สัญญาไว้แน่นอนแล้ว.

กิเลน ประลองเชิง