"อุดมเดช สีตบุตร" เลขาฯ คสช. เผย เตรียมตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะในหน่วยทหาร จับมือชุมชนนำร่องโครงการให้สำเร็จใน 1 ปี พร้อมเปลี่ยนใช้หลอดแอลอีดีในพื้นที่ จชต. ติดโซลาร์เซลล์บนเสาไฟฟ้า-ด่านตรวจเน้นความปลอดภัย...
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ครั้งที่ 3 กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้อนุมัติงบประมาณสำหรับแผนงานทั้ง 6 ชุดโครงการ รวม 2,687 ล้านบาท ประกอบด้วย ชุดโครงการต้นแบบการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า พลังงาน ก๊าซชีวภาพจากหลุมฝังกลบขยะขนาดเล็กโดยจะกระจายในส่วนราชการ โดยเฉพาะหน่วยทหาร เพราะมีความพร้อม เช่นหน่วยทหารใน จ.ลพบุรี และ จ.สระบุรี
"หัวหน้า คสช. ได้ให้นโยบายอย่างชัดเจนว่า การดำเนินการของแต่ละฝ่ายที่ได้สั่งการลงมานั้นต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความโปร่งใส เพราะฉะนั้น เม็ดเงินที่ใช้ต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม โครงการที่ทำในหน่วยทหารไม่จำเป็นต้องเสียค่าแอดเดอร์ เมื่อสามารถผลิตไฟฟ้าให้หน่วยงานราชการได้แล้ว เป็นการช่วยประหยัดพลังงาน ซึ่งถือเป็นการช่วยลดงบประมาณค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นค่าสาธารณูปโภค ทั้งหมดนี้เป็นโครงการนำร่อง หากสิ่งที่ทำเกิดประโยชน์ กระทรวงหลักๆ ที่มีโครงการเหล่านี้ สามารถดำเนินการโครงการนำร่องได้ โครงการส่วนใหญ่เน้นการตอบแทนสังคัง ทั้งในเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและประหยัดพลังงาน สุดท้ายก็สร้างพลังงานทดแทนขึ้นมา ที่ไม่ได้ค่าตอบแทนกลับมาในลักษณะเป็นเงิน แต่ช่วยในแง่ของการประหยัดและผลระยะยาวในการกำหนดแนวทางของพลังงานทดแทน ที่ได้ดำเนินงานตามแผนว่าอีก 10 ปีขึ้นไปจะต้องใช้พลังงานทดแทนได้มากขึ้น 10-20% สำหรับแผนงานในโครงการปี 58 จะกำหนดแผนงานโครงการที่ชัดเจนให้ทราบภายในต้นเดือน ก.ย." พล.อ.อุดมเดช กล่าว
...
ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เรื่องพลังงานทดแทนเป็นสิ่งสำคัญในอนาคตที่จะลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยทุกวันนี้มีการนำเข้าหลังงาน 1.4 ล้านล้านบาท ในวันนี้เป็นการอนุมัติประมาณปี 57 ที่ได้มีการบอกเลิกไปแล้วนำมาจัดสรรใหม่ เพราะฉะนั้นการดำเนินการของโครงการต้องอยู่บนความพร้อม โดยแบ่งเป็นโครงการด้านขยะเป็นสิ่งที่ คสช. และนโยบายพลังงานแห่งชาติเห็นตรงกันว่าต้องเกิดขึ้น โดยเรื่องโครงการขยะ มีปัญหาสำคัญคือการนำขยะมาผลิตไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงของโรงงานขยะ ขณะนี้ยังจัดการได้ไม่ค่อยดีในพื้นที่ต่างๆ ที่ผ่านมา มีการทำต้นแบบใน 8 หน่วยทหาร แบ่งเป็นกองทัพบก 3 แห่ง กองทัพอากาศ 5 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางและภาคอีสาน เพื่อให้รู้ถึงการบริหารจัดการขยะร่วมกับท้องถิ่น เป็นต้นแบบให้เพื่อจะได้พลังงาน ซึ่งจะส่งผลให้ประหยัดงบประมาณและการจ่ายค่าไฟของส่วนราชการลงไป
"ขอเรียกร้องให้ชุมชนลุกขึ้นมาดำเนินการในเรื่องของการกำจัดขยะ ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นการช่วยเรื่องรายได้ของชุมชนด้วย เชื่อว่าภายใน 1 ปีน่าจะดำเนินการได้ สำหรับโรงงานขยะของหน่วยทหารทั้ง 8 แห่ง ส่วนที่ 2 คือโครงการในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีแสงไฟส่องสว่างตั้งแต่ อ.หาดใหญ่ จนถึง จ.นราธิวาส โดยใช้แอลอีดี ในภาคใต้มีปัญหาเรื่องขาดกำลังไฟ การประหยัดพลังงานภาคใต้จะเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงาน นอกจากนี้ ยังมีโครงการเพิ่มแสงสว่างให้กับชุมชนที่มีแผงโซลาร์เซลล์บนเสาไฟ เพื่อให้ชุมชนมีแสงไฟจะได้มีความปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งโครงการพระราชดำริจะใช้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ตามชุมชนชาวเขาต่างๆ รวมประมาณ 10 กว่าแห่ง"
ทั้งนี้ นายอารีพงศ์ กล่าวต่อว่า หัวหน้า คสช. ได้เน้นย้ำกับ พล.อ.อุดมเดช ว่าการดำเนินการต้องมีความชัดเจนเรื่องราคา การที่จะพิจารณาในวันนี้ได้มีการปรับปรุงราคากลางรอบหนึ่งให้เป็นราคาที่เป็นปัจจุบันมากที่สุด วันนี้เป็นเพียงการอนุมัติหลักการ จะใช้เงินได้ก็ต่อเมื่อมีความพร้อมในทุกด้านจึงจะเบิกจ่ายเงินได้ โดยกรมพลังงานทดแทนจะเป็นหัวหน้าโครงการในการดูความพร้อม รวมถึงอนุมัติเงิน 20 ล้านบาทเพื่อติดตามประมวลผล.