312 ส.ส.-ส.ว. ร่อนจดหมายเปิดผนึก ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ กรณีรับคำร้องตีความ ม.68 ชี้ เป็นการทำผิดรธน. ลั่น การแก้ไข รธน.เป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภา แม้แต่ยุบศาล รธน. ก็สามารถทำได้...

วันนี้ (2 พ.ค. 56) เวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล นำโดย นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และ ส.ว.บางส่วน นำโดย นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร ประมาณ 20 คน แถลงเปิดจดหมายเปิดผนึกคัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ ในการรับคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ของสมาชิกรัฐสภา 312 คน

โดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาวิปรัฐบาล กล่าวว่า กลุ่มสมาชิกรัฐสภา 312 คน ได้ทำจดหมายเปิดผนึกจำนวน 10 หน้า เพื่อมอบให้กับองค์กรอิสระต่างๆ ยกเว้นศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งส่งให้คณะผู้พิพากษาศาลทั่วประเทศ และส่งให้กับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้รับทราบการวินิจฉัยรัฐธรรมนูญที่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ยืนยันว่าในฐานะสมาชิกรัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 ที่บัญญัติว่าการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ทำให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามหน้าที่         

ด้านนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากศาลรัฐธรรมนูญ ยังยืนยันและตัดสินให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ต้องผ่านศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ก็จะถือว่าไม่มีฐานรองรับทางกฎหมายและจะไม่ผูกพันรัฐสภา  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จดหมายเปิดผนึกคัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาอ้างถึงมติคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. และ 11 เม.ย. 2556 กรณีรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไว้พิจารณา ระบุว่า ข้าพเจ้าในนามสมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน ขอเรียนว่า การรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณานั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ

ดังเหตุผลดังนี้

...

1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาไว้พิจารณา เนื่องจาก

1.1 เรื่องใดที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้อำนาจไว้โดยชัดแจ้ง ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจ ที่จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา วินิจฉัยได้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนไว้พิจารณา ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

1.2 รัฐสภามีความชอบที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้อย่างกว้างขวาง หรือแม้แต่ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ แล้วจัดตั้งเป็นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ก็ย่อมทำได้ การที่สมาชิกรัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นการกระทำในนามของประชาชน เจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนั้น ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหากไม่อยู่ในข้อจำกัดของการห้ามแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 291 วรรค 2 และการดำเนินการเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 แล้ว ย่อมเป็นอำนาจโดยชอบของรัฐสภา ที่จะดำเนินการได้ องค์กรอื่นใดตามรัฐธรรมนูญรวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจสอบได้

1.3 การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น ได้ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจหรือแบ่งแยกภารกิจในการใช้อำนาจอธิปไตยในทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการออกจากกัน แต่ก็มีกระบวนการถ่วงดุล หรือกำหนดความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจ ระหว่างองค์กรไว้ในบางประการ เฉพาะเท่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น หากกรณีใดรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติถึงความสัมพันธ์ของการใช้อำนาจระหว่างองค์ไว้แล้ว องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะใช้อำนาจหน้าที่ของตนไปกระทบ หรือแทรกแซงการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรอื่นมิได้

ดังนั้น เมื่อรัฐสภาใช้อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาได้ไม่ว่ากรณีใด

1.4 กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเป็นกระบวนการปกติในระบอบรัฐสภา ซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รัฐธรรมนูญก็เคยได้รับการแก้ไขเป็นรายมาตรา และยกร่างทั้งฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว และไม่เคยบัญญัติให้อำนาจแก่องค์ใดเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาเลย ไม่ว่ากรณีใด

1.5 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา ที่จะดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมิใช่เป็นเรื่องของการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด การที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะตรวจสอบได้ตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งนั้น ผลก็จะกลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจเหนือทุกองค์กรในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ การตีความเช่นนี้ เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง อันจะทำให้หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและหลักการแบ่งแยกอำนาจถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง

2. ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 ไว้พิจารณาโดยตรง โดยที่ยังมิได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากอัยการสูงสุดก่อน 2.1 ตั้งแต่แรก ที่มีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 2540 รัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติให้การยื่นคำร้องจ่อศาลรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านองค์กรหรือบุคคลตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติใดให้สิทธิประชาชน ที่จะเสนอคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เช่นเดียวกัน มีเพียงกรณีเดียวที่ประชาชน อาจใช้สิทธิโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้คือ ตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ การใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ก็ต้องเสนอเรื่องผ่านอัยการสูงสุด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน

2.2 สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญนั้น มิใช่สิทธิส่วนบุคคลของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ดังนั้นการจะปล่อยให้ใครมาใช้สิทธิโดยพัง ต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง โดยไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนั้น อาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะได้

2.3 การตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ว่าบุคคลผู้ทราบการกระทำว่ามีการล้มล้างการปกครอง สามารถใช้สิทธิได้ 2 ทางคือ เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้นั้น เป็นการตีความที่ขัดต่อบทบัญญัติและเจตนารมณ์ รวมถึงวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง จะทำให้การทำหน้าที่ของอัยการสูงสุดไม่มีที่ใช้อีกต่อไป เพราะเมื่อผู้ทราบการกระทำสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดอีก หรือเมื่อเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดแล้ว ผู้ร้องกลับมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เองอีกเช่นนี้ สิ่งที่อัยการสูงสุดดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็จะไร้ผล การตีความของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จะทำให้เกิดผลประหลาดที่ไม่มีเหตุผลทางกฎหมายรองรับ เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญ บัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นเองและทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเสียเอง จนอาจทำให้เข้าใจได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขเสียเอง เพราะจะทำให้รัฐสภา ไม่สามารถทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ได้

3. มาตรฐานการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่อาจยอมรับได้ มีการเร่งรัดพิจารณารับคำร้องอย่างผิดปกติวิสัยและขาดหลักความเสมอภาคในการพิจารณารับคำร้อง เมื่อมีผู้มายื่นร้องวันที่ 2 เม.ย. ปรากฏว่าวันที่ 3 เม.ย. มีการพิจารณารับคำร้องทั้งที่มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อยู่เพียง 5 คน และมีมติ 3 ต่อ 2 รับคำร้องดังกล่าวไว้

นอกจากนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน ที่รับคำร้อง ประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล และนายสุพจน์ ไข่มุกต์ เป็นที่ทราบกันดีว่ามีส่วนได้เสียในรัฐธรรมนูญ เพราะเคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในด้านจรรยาบรรณของตุลาการและตามหลักวิชาชีพ ย่อมไม่สมควรที่จะร่วมพิจารณาคำร้องนี้ตั้งแต่แรก

อีกทั้ง นายจรัญเองก็เคยพูดว่า รัฐธรรมนูญมีข้อบกพร่องควรแก้ไข ขณะเดียวกัน การตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สอดคล้องกับหลักการตีความกฎหมายลายลักษณ์อักษรและหลักการตีความรัฐธรรมนูญ ทำให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีความขัดแย้งกันเอง ขาดความเป็นเอกภาพของรัฐธรรมนูญ การตีความขยายเขตอำนาจตนเอง ของศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ นับเป็นอันตรายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะการตีความเพิ่มเติมอำนาจให้กับตัวเองดังกล่าว มีผลเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บัญญัติรัฐธรรมนูญเสียเอง และไม่ต้องผูกพันตนต่อรัฐธรรมนูญ อีกทั้งไม่มีองค์กรใดตรวจสอบถ่วงดุลได้ หากยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ขยายอำนาจของตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ และหลักการสำคัญอื่นในรัฐธรรมนูญโดยสิ้นเชิง

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ในนามของสมาชิกรัฐสภา ขอประกาศยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกันอีกครั้งว่า ขอคัดค้านการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ในการตรวจสอบการใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา และกรณีที่รับคำร้องไว้พิจารณาโดยตรงโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุดเสียก่อน สมาชิกรัฐสภาทุกคนที่เกี่ยวข้อง ขอยืนยันอย่างแน่วแน่ว่า จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ประเทศชาติประชาชน และเพื่อคงไว้ซึ่งหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักการแบ่งอำนาจ และเกียรติภูมิของสภาบันรัฐสภา อันเป็นหลักการและสถาบันที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขต่อไป

อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการรับคำร้องไว้พิจารณา และมีคำวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 และการรับคำร้องไว้พิจารณาในคดีนี้ พวกเราขอแจ้งมายังพี่น้องประชาชนว่า ขอให้ศาลได้ไตร่ตรองและพิจารณาแนวทางการรับคดีเรื่องนี้เสียใหม่ เพื่อให้คงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์และน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญเอง โดยที่พวกเรา มิได้มีอคติหรือเจตนาร้ายใดๆ ต่อศาลแม้แต่น้อย แต่สถานะความเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนไม่อาจทนเห็นและยอมรับความผิดพลาด บกพร่องของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เกิดขึ้น และปล่อยให้เป็นเช่นนี้อีกต่อไปได้ ทั้งที่สมาชิกรัฐสภาได้โต้แย้งและคัดค้านอำนาจศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้มาตลอด ตั้งแต่รับคำวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 18-22/2555 แล้ว จึงพร้อมกันแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินการครั้งนี้ เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจอ้างผลแห่งคำวินิจฉัยที่เป็นเด็ดขาดและผูกพันองค์กรต่างๆ มาใช้ในกรณีนี้ได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นเด็ดขาด และผูกพันองค์กรต่างๆ นั้น ต้องเป็นคำวินิจฉัยที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น หากเป็นการวินิจฉัยที่เกินขอบเขตอำนาจแล้ว ก็ไม่มีผลผูกพันองค์กรอื่น องค์กรต่างๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ จึงชอบที่จะใช้อำนาจหน้าที่ของตนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ต่อไปได้.