เห็นใครต่อใคร แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “รวมไทยสร้างชาติ” (รทสช.) ออกมาโดดขวางกระทรวงการคลัง ไม่ให้ขึ้นภาษีแวต : VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) แล้วให้รู้สึกหนักใจแทนรัฐบาล และกระทรวงการคลังที่กระเป๋ากำลังแฟ่บลงทุกวัน
ยิ่งบอกว่าในบรรดาประชากร 66 ล้านคน มีคนเสียภาษีอยู่ 11 ล้านคน แต่เสียจริงๆ แค่ 4 ล้านคน (ขอคืนภาษี) ก็ยิ่งหดหู่ใจ เพราะตัวเลขนี้อยู่มานานแล้ว แต่ไม่มีรัฐบาลใดกล้าหาญชาญชัยพอจะแก้ปัญหาเพื่อให้ฐานการจัดเก็บภาษีขยายวงกว้างออกไปอย่างที่ควรจะเป็น
ที่สำคัญคือ ประชากรที่เสียภาษี 4 ล้านคน คือ คนชั้นกลางที่กินเงินเดือนประจำอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ใช่หรือไม่ นั่นแปลว่า ความเหลื่อมล้ำ ยังคงมีอยู่ตลอดเวลา และชนชั้นกลางก็เหมือนไส้ในแซนวิชที่ถูกขนมปังบีบอัดกันเข้ามาจนที่สุดก็อยู่ไม่ได้
ขณะที่การจัดเก็บภาษีโดยรวมของประเทศไทยมีรายได้เข้ามาเพียง 14% ของ GDP ซึ่งจัดว่าต่ำมาก ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ 18 - 20% ต่อ GDP
แนวคิดเรื่องการปรับขึ้นภาษีแวตจึงกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เพราะนี่คือปัญหาเรื้อรังซึ่งมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP ไม่เติบโตเท่าที่ควรจะเป็น ตั้งแต่ก่อน และหลังการระบาดของไวรัสโควิด ซึ่ง GDP ประเทศอื่นโตไปถึง 5% แล้ว แต่ของประเทศไทยยังเตาะแตะไต่ระดับอยู่ที่ 1- 2%
ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นกรณีนี้ และการที่แบงก์ชาติระบุว่า GDP ไทยขยายตัวเต็มที่ได้แค่ 1-2% หรือไม่เกินกว่า 3% เพราะไม่มีการ Re-skill โครงสร้างเศรษฐกิจให้แต่ละสาขาให้มีศักยภาพมานานว่า…
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไม่ได้ทำกันง่ายๆ และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไปกว่าจะเห็นผล การที่ GDP ไม่เติบโต ทำให้ประเทศไทยมีปัญหามาก หนี้สาธารณะ และหนี้ครัวเรือน และปัญหาอื่นๆ ตามมาเป็นลูกโช่ จำเป็นต้องเร่งรีบแก้ไขเพราะถึงเวลานี้ รอไม่ได้แล้ว
...
ในแง่ของกระทรวงการคลัง เราจึงต้องหาเครื่องมือที่ช่วยในการแก้ปัญหาได้เร็วกว่า อย่างงบประมาณรายจ่ายปี 2569 กระทรวงการคลังกำลังขบคิดกันอย่างหนักว่า รายได้หามาได้เท่าไหร่ รายจ่ายต้องจ่ายให้ได้ตามนั้น คือ ถ้าเก็บรายได้ได้ต่ำ รายจ่ายต้องต่ำด้วย ถ้ารัฐบาลไม่มีเครื่องมือทางภาษีอื่นๆ เข้ามาช่วย
“เราไม่ต้องการกู้อีกแล้ว เพราะมันสุดทางแล้วจริงๆ ถึงจะยังไม่เต็มเพดานที่ขยายไว้ 70% แต่ควรจะพอกันทีกับการกู้เงิน และการจัดทำงบประมาณขาดดุลติดต่อกันหลายปี”
เครื่องมือทางภาษีที่สามารถนำมาใช้ภายใต้การปฏิรูปโครงสร้างภาษีชุดใหม่ของกระทรวงการคลังก็คือ ปฏิรูปภาษี 3 รายการ ได้แก่
1.ปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราเดียวคือ 15%
2.ภาษีนิติบุคคลก็ปรับลดลงในอัตราเดียวคือ 15% และ
3.ส่วนภาษีแวต หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเก็บอยู่ปัจจุบันคือ 7% ก็จะขอเพิ่มเป็น 10% ตามที่กฎหมายกำหนดไว้เดิม
แวต หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่มเริ่มจัดเก็บเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค.2535 เดิมอัตราที่ตั้งไว้อยู่ที่ 10% แต่เนื่องจากเห็นว่าเพิ่งนำออกมาใช้ จึงให้จัดเก็บเพียง 7% ก่อน แต่เวลาผ่านมานานหลายปี รัฐบาลก็ยังไม่กล้าตัดสินใจ
ภาษีนี้มีหลักคิดง่ายๆ ว่า ใครบริโภคมากก็จ่ายมาก ไม่ใช่เป็นเครื่องเอาไว้ถอนขนห่านประชาชน หรือ คนมีรายได้ต่ำ แต่มุ่งเก็บจากการบริโภคของกลุ่มคนที่มีกำลังในการบริโภคมากเป็นหลัก รวมถึงเก็บจากการขายสินค้า และบริการเป็นหลัก เรียกว่า ภาษีซื้อ ภาษีขาย ที่มีขนาดฐานที่กว้างมากที่สุด
ใครดื่มไวน์ราคาแพงมาก ก็ต้องเสียภาษีมาก ซื้อสินค้าแบรนด์เนม หรือเสื้อผ้าราคาแพง ใช้ชีวิตในแบบกินหรู อยู่สบาย...ก็ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มที่บวกด้วยค่าบริการลงไปด้วย
เมื่อกระทรวงการคลังมีแนวคิดจะปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล ให้เหลือ 15% เพื่อแลกกับการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งจะเพิ่มรายได้อย่างพอเพียงให้รัฐได้...
ก็น่าจะถึงเวลาเสียทีที่รัฐบาลซึ่งมีหลายพรรค จะกล้าหาญพอในการตัดสินใจปัญหาประเทศที่กำลังสุกงอมพอดีด้วยการให้ปรับอัตราภาษีภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือให้กระทรวงการคลังสามารถดูแลรายรับให้เพียงพอต่อรายจ่ายของคนกลุ่มเปราะบางได้
อนึ่ง อย่าลืมว่า ยังมีภาษีเงินได้แบบติดลบ (Negative Income Tax) ซึ่งจะเป็นนโยบายที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฏหมายกำหนด ที่ไม่ต้องเสียภาษี แต่จะได้รับเงินสนับสนุนการทำมาหาเลี้ยงชีพจากรัฐบาลโดยการยื่นภาษี เหมือนผู้มีรายได้ทั่วไปที่รัฐบาลมีแผนการจะต้องให้ความช่วยเหลือด้วย