มติของคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา ยืนยันด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 13 ต่อ 9 ให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มตินี้จะทำให้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทันในรัฐบาลนี้ เพราะจะต้องรอเวลาไปอีก 180 วัน เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรยืนยันให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว และต้องจัดทำร่าง ก.ม.อีกหนึ่งเดือน

มติที่ให้ใช้เสียงข้างมากสองชั้น เป็นไปตามมติวุฒิสภา ชั้นที่ 1 ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง และเสียงข้างมากชั้นที่ 2 ผลการออกเสียงต้องมีคะแนนเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกเสียง นายนิกร จำนง กมธ.ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่าถ้าต้องรออีก 7 เดือน รัฐสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ทันแน่

ทั้งยังมีปัญหาสำคัญที่ฝ่าย สส.กังวล นั่นก็คือ ม.256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าวุฒิสภาจะไม่ยอมแก้ไข เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้า เพราะสถานการณ์นี้ถึงขั้นแตกหักกันแล้ว ม.256 ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขั้นรับหลักการ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 67 เสียงขึ้นไป มิฉะนั้นร่างแก้ไขจะตกไป

การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ตัดสินกันด้วยเสียงข้างมาก แต่ชี้ขาดด้วยเสียงข้างน้อยของ สว. แทนที่จะชี้ขาดด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภา คือ 351 เสียงขึ้นไป แต่กลับชี้ขาดด้วยเสียง สว.แค่ 67 เสียง เชื่อกันว่าเสียงข้างมากในวุฒิสภาอยู่ภายใต้บางกลุ่ม มี สว.อิสระไม่น่าจะถึง 67 คน

เห็นได้ชัดว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้รับการขนานนามว่า “ฉบับสืบทอดอำนาจ” คณะรัฐประหาร บางคนวิจารณ์ว่าเป็นฉบับพิสดาร นอกจากวางกลไกให้สืบทอดอำนาจ โดยให้ สว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มีสิทธิเลือกหัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ยัง “มัดตราสัง” เอาไว้ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยากหรือแทบจะแก้ไขไม่ได้

...

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาข้างต้น คือเหตุผลสำคัญที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะขัดต่อหลักการประชาธิปไตยมากมาย แม้แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าพรรคการเมืองบางพรรคคุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา ก็อาจจะมีทั้งฝ่ายที่เชื่อและไม่เชื่อ และถ้าเป็นเรื่องจริง จะถือว่าเป็นเพราะอภินิหารของรัฐธรรมนูญฉบับพิสดารหรือไม่

ไม่มีใครตรวจสอบปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้แต่ในหมู่ “นักร้อง” ทั้งหลาย ก็ไม่สนใจ พรรคการเมืองอื่นๆก็อาจถูกเป็นเรื่องปกติ เป็นอภินิหารของระบอบเทวดาธิปไตย สอดคล้องกับผลการสำรวจความเห็นประชาชน ของโพลสำนักหนึ่ง ที่คนส่วนใหญ่ระบุว่าประเทศไทยมีผู้มีอิทธิพลที่ควบคุมการเมือง 2 คน ชี้ว่าไม่ยึดหลักนิติธรรม.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม