“นายกฯ อิ๊งค์” สั่ง ตร.-สคบ. และทุกหน่วยงาน เร่งตรวจสอบบังคับใช้กฎหมาย “คดีดิไอคอนกรุ๊ป” ไม่อยากให้มีผู้เสียหายเพิ่มอีก ไม่นิ่งนอนใจปมโยงเจ้าหน้าที่รัฐ “สมศักดิ์” แจง อย. เอาผิดฐานโฆษณาเกินจริงไปแล้ว
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 15 ตุลาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า สืบเนื่องจากที่เกิดกรณีที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้จากการขายตรงและสินค้าออนไลน์ (The iCon Group) เรื่องดังกล่าวได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จัดให้มีช่องทางที่ประชาชนจะสามารถเข้าแจ้งเรื่องของเบาะแสและการแจ้งความได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เร่งกำหนดมาตรการและการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงให้ความรู้กับประชาชนด้วย เพราะบางคนเข้ามาในธุรกิจนี้แต่ไม่ทราบว่าการขายตรงต้องมีอะไร อย่างไรบ้าง จะได้ไม่เกิดปัญหาต่อไป ป้องกันไม่ให้มีการหลอกลวงเช่นนี้ขึ้นอีก
พร้อมกันนี้ ยังได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองมาวางจำหน่ายในระบบขายตรงหรือออนไลน์ และยังสั่งการให้กระทรวงการคลังเข้าไปตรวจสอบและกำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดการทำธุรกิจในลักษณะแชร์ลูกโซ่
...
เมื่อถามว่าประเด็นดิไอคอนกรุ๊ปมีกระแสข่าวบานปลายว่าเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องรับสินบน จะตรวจสอบอย่างไร นายกรัฐมนตรีระบุว่า คดีนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ถือเป็นเรื่องใหญ่ รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ต้องมีการสอบสวนต่อว่าใครทำอะไรบ้าง ซึ่ง ผบ.ตร. จริงจังในเรื่องนี้ และคดีนี้หากเป็นคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องเข้ามาช่วย และอาจจะมีการขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาร่วมทำคดี เพื่อจะได้ทำงานให้ดียิ่งขึ้น ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ามีการรับส่วยนั้น เรื่องนี้ตนได้บอกไปยัง ผบ.ตร. แล้วว่าให้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง เพราะไม่อยากให้มีผู้เสียหายเพิ่มเติมอีก
ส่วนประเด็นการพูดถึงเทวดาใน สคบ. จะตรวจสอบอย่างไร นายกรัฐมนตรีเผยว่า กรอบกว้างๆ เราไม่อยากให้ธุรกิจที่หลอกลวงประชาชนเกิดขึ้นอีก เพราะความเสียหายมันใหญ่ จึงต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตนได้สั่งการไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ทำเรื่องนี้อย่างจริงจังเร็วที่สุด แล้วนำผลที่ได้มาแถลงต่อประชาชนเพื่อให้เกิดความสบายใจ เพื่อจะได้ทราบว่าหากต่อไปใครทำธุรกิจแบบนี้ เราต้องมีข้อมูลอย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้ถูกหลอก สำหรับคำถามว่ามีการปล่อยข่าวถึงขั้นสามารถวิ่งเต้นไม่ให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรสั่งการแล้ว
ทางด้าน สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงที่ สคบ. ระบุว่ายังไม่ได้รับการตอบรับเรื่องผลิตภัณฑ์สินค้าของดิไอคอนกรุ๊ปจาก อย. ว่า ข้อเท็จจริงได้มีการตรวจสอบแล้ว โดยปี 2562 ได้มีหนังสือตอบไปที่ สคบ. และ สคบ. รับทราบแล้ว ข่าวที่ออกมาในช่วงแรกอาจจะคลาดเคลื่อน สำหรับผลิตภัณฑ์สินค้าของดิไอคอนกรุ๊ป เท่าที่ตนได้ติดตามดูสัดส่วนการตรวจสอบของ อย. กับสินค้าต่างๆ เหล่านี้ ดูแล้วไม่มีปัญหาอะไร มีเพียงปัญหาเรื่องของฉลากที่อวดอ้างสรรพคุณเกินความเป็นจริง ฝ่าฝืนมาตรา 40 และ 41 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 โดยมีการดำเนินการคดีฐานจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้องไปเรียบร้อยแล้ว มีการปรับไปเรียบร้อยแล้ว แต่ในส่วนของโทษอาญามีอยู่คดีหนึ่ง ตอนนี้อยู่ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจและศาล อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของ อย.