ต้องถือว่าเป็นการประลองพลังทางการเมืองอีกครั้ง ระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา เมื่อที่ประชุมวุฒิสภามีมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 167 ต่อ 21 งดออกเสียง 9 เห็นด้วยกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องส่งร่างกลับไปสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอีกครั้ง

ที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 30 กันยายน พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาลงมติให้แก้ไขเพียงมาตราเดียว โดยกำหนดให้การออกเสียงที่ถือว่าเป็นข้อยุติในการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะประเด็นที่ว่าต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง และต้องมีผู้เห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง

มี สว.บางคนอภิปรายคัดค้านการแก้ไขของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา และขอให้ยืนยันตามมติของสภาผู้แทนราษฎร คือใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวก็พอ ไม่ต้องใช้ ถึง 2 ชั้น นายนิกร จำนง กรรมาธิการเสียงข้างน้อยในสัดส่วนของรัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น เพราะเป็นห่วงว่าจะผ่านยาก

ถ้าเห็นด้วยกับเสียงข้างมาก 2 ชั้น จะต้องส่งเรื่องกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎรอีก จะทำให้เสียเวลาอีกมาก ถ้าหากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ จะถูกแขวนไว้ถึง 180 วัน จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงจะลงมติ มีผู้เป็นห่วงว่าถ้าเนิ่นช้าออกไปอาจจะจัดทำประชามติไม่ทัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 วันเดียวกับการเลือกตั้ง อบจ.

ถือว่าเป็นการประลองพลังทาง การเมืองครั้งสำคัญ ระหว่าง สส. 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนกับ 200 สว.ที่มาจากการเลือกกันเองของตัวแทน 20 กลุ่มอาชีพ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าอาจลงประชามติไม่ทันในวันเลือกตั้ง อบจ.เดือนกุมภาพันธ์

ทางออกที่ดีที่สุด คือ การเชิญบรรดาผู้นำพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อหารือกัน ว่าสุดท้ายทางออกคืออะไร แต่ดูเหมือนว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่สำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ หรือพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีใครเอาด้วยกับพรรคเพื่อไทย ในเกมการเมืองเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้ามีการดึงดันอาจก่อความขัดแย้ง

...

ความขัดแย้งระหว่างพรรค เพื่อไทย กับพรรคการเมืองที่เล่าลือกันว่าคุมเสียงข้างมากในวุฒิสภา ที่นำไปสู่การมีอำนาจยิ่งใหญ่ ทั้งในการตั้งกรรมการองค์กรอิสระต่างๆ และคุมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าไม่มี สว. เห็นด้วยกับการแก้ไขอย่างน้อย 67 เสียง ร่างแก้ไขจะตกไป ความขัดแย้งรออยู่ข้างหน้า.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม