“เดียร์ วทันยา” ซัดผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ อ้างเหตุผลจะร่วมรัฐบาล ก้าวข้ามความขัดแย้งหรือก้าวข้ามหัวประชาชน ชี้ ทำลายศรัทธาที่สร้างมาอย่างสิ้นเชิง ลั่น เมื่อแพ้เลือกตั้ง ก็ต้องเป็นฝ่ายค้านตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 29 สิงหาคม 2567 น.ส.วทันยา บุนนาค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงท่าทีหลังพรรคเพื่อไทยมีหนังสือเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมเป็นรัฐบาล โดยตั้งคำถามว่า ก้าวข้ามความขัดแย้ง หรือก้าวข้ามหัวประชาชน พร้อมระบุต่อไปว่า การร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ที่อ้างว่าคนรุ่นนี้ไม่รับมรดกความขัดแย้งของรุ่นก่อนหน้า ฟังดูเป็นการตัดตอนอย่างง่าย เพื่อให้ได้มาซึ่งความชอบธรรมในการขึ้นสู่อำนาจหรือไม่
น.ส.วทันยา เผยต่อไปว่า แท้จริงแล้วภาพความขัดแย้งที่ผู้บริหารชุดนี้เหมารวม มันคือการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเต็มกำลังมาทุกยุคทุกสมัย ไม่อ่อนข้อหรือล้มมวยเพื่อเห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์ต่างตอบแทน เพราะผู้แทนประชาชน คือตัวแทนประชาชนที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ให้เข้ามาทำหน้าที่เพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชน ดังนั้น ผู้แทนประชาชนที่ดี จึงต้องกล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง และกล้าต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมเมื่อขัดแย้งกับประโยชน์ส่วนรวม ให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจ ไม่ใช่การเข้ามาทำหน้าที่เพื่อสู้รบหรือรักกับใครเพราะการแบ่งผลประโยชน์ส่วนตนนั้นลงตัว
...
แม้ตลอดกว่าช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ชนะการเลือกตั้ง การเมืองเผชิญความวุ่นวาย จนพรรคได้รับบทเรียนเหลือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จำนวน 25 คน แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยสูญเสียเกียรติและความภาคภูมิใจ เพราะสมาชิกพรรคต่างตระหนักรู้ดีว่า การตัดสินใจของสมาชิกไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำประโยชน์เพียงเพื่อคนไม่กี่คนหรือใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้น การกอบกู้วิกฤติพรรคที่วันนี้พ่ายแพ้การเลือกตั้ง คือการทำหน้าที่เพื่อประชาชนในฐานะฝ่ายค้าน ตรวจสอบถ่วงดุลอย่างสุดกำลังความสามารถ ไม่ใช่การสบช่องหาโอกาสเพื่อเข้าสู้อำนาจโดยก้าวข้ามความรู้สึกประชาชนที่ยังคงให้ความไว้วางใจในพรรคประชาธิปัตย์
ในตอนท้าย น.ส.วทันยา ยังระบุด้วยว่า “การตัดสินใจของผู้บริหารพรรคชุดนี้ ไม่เพียงซ้ำเติม ทำลายวิกฤติศรัทธาของพรรคที่ชาวประชาธิปัตย์ในอดีตเพียรสร้างมาอย่างสิ้นเชิง หากแต่คือการทำลายวิกฤติศรัทธาของการเมืองไทย ที่สุดท้ายนักการเมืองไม่อาจเป็นความหวัง การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรม ให้นักการเมืองเข้ามาร่วมกันแสวงหาประโยชน์ของตนเอง”