"กมธ.ที่ดิน สภา" เห็นชอบใช้แผนที่ One Map ปี 2543 ที่ดิน "ทับลาน" เรียกร้อง "กรมอุทยานแห่งชาติ" แจงสังคม 2.65 แสนไร่ ไม่ได้มีสภาพป่าแล้ว 

วันที่ 17 ก.ค. 67 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ. แถลงภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีปัญหาที่ดินอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา ตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กองทัพภาคที่ 2 ผู้ตรวจการแผ่นดิน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร รวมถึงตัวแทนประชาชนในพื้นที่

นายพูนศักดิ์ กล่าวว่า กมธ.ได้ข้อสรุปที่ดี และเป็นที่น่าพอใจสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน แบ่งออกเป็น 2 ข้อ คือ 1.ที่ประชุมเห็นชอบเรื่องการใช้มติตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ซึ่งเห็นชอบให้ทาง สคทช. ใช้เส้นปรับปรุงตามการสำรวจแนวเขตปี 2543 หรือ One Map เพื่อใช้ในการจัดการพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และเป็นข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าจะใช้ One Map ในการแก้ไขปัญหาตรงนี้

2.ทุกคนเห็นชอบเช่นเดียวกันว่า ควรใช้แนวทางในการรักษาสิทธิ์ของพี่น้องประชาชนในแต่ละกลุ่ม อาทิ กลุ่มพี่น้องที่ได้รับสิทธิ์ ส.ป.ก. หรือ กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งประชาชนส่วนนี้สมควรได้รับการตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการพิสูจน์สิทธิ และถือว่าเป็นแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่ทับลานต่อไป

ขณะเดียวกันเรายังมีข้อถกเถียงในประเด็นที่จะต้องดำเนินการต่อไปเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง รวมถึงการดำเนินการให้ภาคประชาสังคมได้รับทราบข้อเท็จจริงในบางประเด็น ต่อไปนี้ด้วย

...

เรื่องแรกคือ กมธ.จะมีการเชิญ ส.ป.ก.มาชี้แจงอีกครั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องการพิจารณาแนวทางการแจกจ่ายที่ดินให้กับประชาชนผู้ที่สมควรได้รับสิทธิ ซึ่งในที่สุดแล้วเรามองว่าอาจจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

เรื่องที่สอง สิ่งที่เราได้ให้ความเห็นไปคือ การดำเนินการในส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชน จากการแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีประชาชนร่วมกันลงชื่อกว่าหนึ่งล้านคน ซึ่ง กมธ.จะทำการขอข้อมูล โดยเฉพาะระเบียบของในส่วนการมีส่วนร่วมของประชาชน จากการแสดงความคิดเห็นในการเปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชนในการกำหนดพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลานตามมติ ครม.ของกรมอุทยานฯ เข้ามาพิจารณาอีกครั้ง และมีความเป็นไปได้ว่า จะมีการส่งเรื่องให้กับ กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาอีกครั้งด้วย เนื่องจากกรณีข้างต้นเราพบว่าอาจจะมีข้อครหา หรือคำถามที่อาจสร้างความซับซ้อนให้กับผู้ลงคะแนนเสียงได้

เรื่องที่สาม ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรจะต้องเร่งรัดการดำเนินการของคณะกรรมการฯ กรมอุทยานฯ เพื่อรับรองแนวเขต ONe Map โดยกระบวนการถัดไป คือต้องให้รับการรับรองแผนที่ตรงนี้เช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการรับรองโดยเร็ว

นอกจากนี้ กมธ.ยังได้ขอเอกสารเพิ่มเติม เช่น บันทึกการประชุมของอนุกรรมการ One Map รวมถึงบันทึกการประชุมของ สคทช.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในแต่ละประเด็นที่มีข้อคิดเห็นและการถกเถียงระหว่างการประชุม

ส่วนเรื่องคดีที่ยังคงค้างอยู่กว่า 500 คดีนั้น เราต้องขอข้อมูลการตรวจสอบทางคดีว่า มีรายละเอียดอย่างไรบ้างจากกรมอุทยานฯ โดย สคทช.ได้แจ้งในที่ประชุมว่า สำนักงานกฤษฎีกามีความเห็นว่าจะไม่มีผลต่อรูปคดีในการเปลี่ยนแปลงเขตที่ดินจากอุทยานฯ เป็น ส.ป.ก. ซึ่งเราก็ได้ขอเอกสารเพื่อให้เกิดความชัดเจนเช่นเดียวกัน

นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะเลขานุการ กมธ. กล่าวเสริมในส่วนของความกังวลและข้อครหาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น จากการชี้แจงของกรมอุทยานฯ ยอมรับแนวเขต One Map ที่ ครม.เห็นชอบไปแล้ว ซึ่งมีเป็นแผนที่ที่ใกล้เคียงกับแผนที่ 2543 และกระบวนการต่อไป คือการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ซึ่งมีปัญหาอยู่ส่วนกระบวนการในการเพิกถอน เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ต้องรับฟังความเห็น

“การดำเนินการกรมอุทยานฯ ทำให้สังคมเข้าใจว่า พื้นที่ 2.65 แสนไร่ มีสภาพป่าสมบูรณ์ ทำให้คนลงชื่อคัดค้านในการครั้งนี้ ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริง เพราะพื้นที่ 2.65 แสนไร่นี้ไม่มีสภาพป่า แต่เป็นชุมชน”

นายเลาฟั้ง กล่าวอีกว่า ตนจึงขอเรียกร้องไปยังฝ่ายการเมืองของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้แสดงความกระจ่างต่อสังคมว่า พื้นที่ 2.65 แสนไร่ ความจริงคืออะไร เพราะนี่ไม่ใช่การออกเอกสารสิทธิ์ แต่เป็นการคุ้มครองสิทธิ์ของคนที่อยู่มาก่อนแล้ว ส่วนสิทธิ์จะเป็นแบบใดก็ว่ากันไปตามกฎหมายที่เกิดขึ้น

นายเลาฟั้ง ยังเรียกร้องไปยัง ส.ป.ก. ในส่วนที่ทางกรมอุทยานฯ กังวลว่า ส.ป.ก. อาจไม่มีศักยภาพเพียงพอในการจัดการพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหา และข้อครหามากมาย ทำให้สังคมตั้งคำถามกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ป.ก.เช่นเดียวกัน

ดังนั้น ส.ป.ก.จึงควรแสดงให้กรมอุทยานฯ และสังคมเชื่อได้ว่า หากมีการเพิกถอน และส่งมอบที่ดินให้ ส.ป.ก.แล้ว ส.ป.ก.จะสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ให้พื้นที่เหล่านี้ตกไปอยู่ในมือของคนที่มีคุณสมบัติจริงๆ ไม่ใช่อยู่ในมือของนายทุน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่ากรมอุทยานฯ ชี้นำการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งอาจทำให้การเปิดรับฟังความคิดเห็นไม่เป็นกลาง เนื่องจากความเห็นของประชาชนในพื้นที่จริงมีน้อยกว่า ทาง กมธ.จะใช้ช่องทางใดเพื่อชะลอ หรือแขวนไว้ก่อน เพื่อให้กรมอุทยานฯ ดำเนินการอย่างเป็นกลางได้บ้าง นายเลาฟั้ง กล่าวว่า กมธ.จะขอระเบียบ เพื่อให้ทราบถึงขั้นตอนและกระบวนการ และต้องมีการตรวจสอบว่าทำถูกต้องหรือไม่อย่างไร และจะสื่อสารกับ กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ เพื่อตรวจสอบว่ามีความสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่อย่างไร.