เรื่องที่ไม่น่าเป็นเรื่องกลับกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต กรณีที่ พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือก สว.ชุดใหม่ ได้แสดงหลักฐานว่าเรียนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แต่มีผู้โต้แย้งว่าปริญญาบัตรที่นำมาแสดงไม่ใช่ปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์ เนีย แต่เป็นของหน่วยงานเทียบวุฒิการศึกษาต่างประเทศ
รัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.การเลือก สว.ไม่ได้กำหนดว่าผู้สมัครจะต้องจบการศึกษาขั้นใด หรือได้ปริญญาใดๆ รัฐธรรมนูญระบุว่า สว.มาจากการเลือกกันเองของบุคคลผู้มีความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ อาชีพ ทำงานหรือเคยทำงานด้านต่างๆที่หลากหลายของสังคม มีผู้สมัครบางคนอาจจบแค่ประถมศึกษา
แต่ประเทศไทยเป็นสังคมที่ค่อนข้างเห่อปริญญามาเป็นเวลานานนับร้อยปี ในช่วงต้นๆมีมหาวิทยาลัยเพียง 5 แห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เรียนเพื่อให้ได้ปริญญาบัตร เพื่อรับราชการและเพื่อความก้าวหน้า เมื่อเร็วๆนี้ มีข่าวกล่าวหาซึ่งกันและกัน เรื่องการซื้อขายปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย
แต่ในปัจจุบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นทั่วประเทศเป็นของรัฐประมาณ 80 แห่ง เอกชน 40 แห่ง แต่ยังมีการซื้อขายปริญญากันอยู่ ส่วนทางด้านการเมืองไม่ได้กำหนดวุฒิการศึกษาของนักการเมืองในช่วงต้นๆ เพิ่งจะมีรัฐธรรมนูญ 2489 ฉบับที่ 3 กำหนดวุฒิ สส. สว.
รัฐธรรมนูญ 2489 กำหนดให้ผู้สมัคร สส.ต้องจบประถมศึกษา ส่วนสมาชิกพฤฒสภา (วุฒิสภา) ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี รัฐธรรมนูญ 2521 ที่เรียกกันว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ฉบับแรก ให้นักการเมืองที่สืบเชื้อสายต่างด้าวจะต้องจบมัธยมบริบูรณ์ (ม.8) เป็นอย่างต่ำ บางคนถูกจับได้ว่าซื้อใบสุทธิปลอมต้องพ้นจาก สส.
...
รัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้รับการยอมรับเป็นฉบับปฏิรูปการเมือง หรือฉบับประชาชน น่าจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉบับปริญญาชน” เพราะนายกรัฐมนตรีนอกจากต้องมาจาก สส.แล้ว ยังต้องได้ปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ เช่นเดียวกับผู้สมัคร สส. และ สว. และรัฐมนตรี ส่วนรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่กำหนดคุณวุฒิทั้งนายกฯ สส. และ สว.
รัฐบาลและรัฐสภาที่พึงประสงค์ ไม่ใช่รัฐบาลหรือรัฐสภาปริญญาชน แต่ควรเป็น “ปัญญาชน” ผู้มีความรู้ความสามารถ มองทะลุปรุโปร่งปัญหาของประเทศ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และสามารถแก้ไขปัญหาให้ประเทศและประชาชน โดยยึดมั่นในหลักการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข.