นายกฯ เผย ครม. อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.จัดทำเหรียญเฉลิมพระเกียรติ-เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

วันที่ 25 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ต่อมา นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการ 2 ฉบับ ได้แก่ 

1. ร่างพระราชกฤษฎีกาเหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พ.ศ. .... และ

2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พ.ศ. .... 

ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2567 คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ กค. จัดทำเหรียญเฉลิมพระเกียรติ (เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ) เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลนี้ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร ทำด้วยเงิน 

...

กรมธนารักษ์ กค. เห็นสมควรจัดทำเหรียญเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสดังกล่าว โดยในคราวประชุมคณะกรรมการเหรียญเฉลิมพระเกียรติและเหรียญที่ระลึกครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบการมีเหรียญเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 กค. จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาฯ มาเพื่อดำเนินการ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดรายละเอียดของลักษณะเหรียญ บุคคลผู้มีสิทธิประดับเหรียญ วิธีการประดับเหรียญ การสร้างเหรียญ และกิจการอื่นที่จำเป็นของเหรียญ

ส่วนร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พ.ศ. .... กรมธนารักษ์ กค. เห็นสมควรจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลดังกล่าว และได้เสนอร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดชนิด ราคา โลหะ อัตราเนื้อโลหะ น้ำหนัก ขนาด อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ลวดลาย และลักษณะอื่นๆ ของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รวม 5 ชนิด ดังนี้  (1) เหรียญกษาปณ์ทองคำ ชนิดราคาสองหมื่นบาท (ราคาจำหน่ายเหรียญละ ห้าหมื่นบาท) (2) เหรียญกษาปณ์เงิน ชนิดราคาหนึ่งพันบาท (ราคาจำหน่ายเหรียญละ สามพันบาท) (3) เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคาห้าสิบบาท (ราคาจำหน่ายเหรียญละ ห้าสิบบาท) (4) เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคายี่สิบบาท ประเภทขัดเงา (ราคาจำหน่ายเหรียญละ สองร้อยบาท) (5) เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคายี่สิบบาท ประเภทธรรมดา (ราคาจำหน่ายเหรียญละ ยี่สิบบาท)

ทั้งนี้ กค. ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำเหรียญเฉลิมพระเกียรติ (เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ) และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก ตามแบบที่นำความกราบบังคมทูลประกอบพระบรมราชวินิจฉัยแล้ว สำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดทำดังกล่าวมาจากเงินทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของรัฐและการทำของ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567