มรณกรรมของ น.ส.เนติพร เสน่ห์ สังคม หรือ “บุ้ง” นับเป็นโศกนาฏกรรมอีกครั้งของสังคมไทยที่เกิดขึ้น เพราะความขัดแย้งทางการเมือง เนื่องจากในทศวรรษที่ผ่านมาคนไทยมีความเห็นต่างในทางการเมือง เริ่มต้นด้วยการแบ่งแยกเป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา วิวัฒนาการมาเป็นกลุ่มเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง

วิวัฒนาการมาเป็นความขัดแย้ง ระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายอำนาจนิยม ระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการหรือประชาธิปไตยครึ่งใบ ความเห็นต่างทางการเมืองนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงถึงนองเลือดหลายครั้ง เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการเมืองนองเลือด

ตามด้วยเหตุการณ์ที่ฝ่ายซ้ายเรียกว่า “การล้อมปราบ” เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เนื่องจากเป็นการล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย จากนั้นมีเหตุการณ์ทั้งที่รุนแรงมาก และรุนแรงน้อยอีกหลายครั้ง เช่นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

ยังมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง จากการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มคนเสื้อเหลือง และกลุ่ม กปปส. เป็นความขัดแย้งที่เริ่มต้นด้วยการชุมนุมปิดกรุงเทพมหานคร เพื่อขับไล่รัฐบาลและนำไปสู่การยึดอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช. ในเดือนพฤษภาคม 2557

ส่วนการชุมนุมทางการเมืองในช่วงรัฐบาล คสช. ส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่เรียกกันว่า “คนรุ่นใหม่” ส่วนใหญ่ไม่นำไปสู่ความรุนแรงแต่มีการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อจับกุมคุมขังผู้ชุมนุม และมีข้อหาใหม่ๆ เช่น การกระทำผิด ป.อาญา ม.112

มักจะมีปัญหาการประกันตัวของผู้ต้องหา อาจเพราะว่าผู้ชุมนุมบางกลุ่ม ตั้งเป้าหมายการชุมนุมคือการแก้ไข ม.112 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยกรณีพรรคก้าวไกลว่าเป็นการล้มล้างการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข “บุ้ง” เป็นคนหนึ่งที่ได้รับประกันตัว และประท้วงด้วยการอดอาหาร

...

ความเห็นต่างหรือความขัดแย้ง เป็นเรื่องปกติในทางการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้ เพื่ออำนาจและผลประโยชน์ ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกมีความเห็นต่าง จึงตั้งพรรคการเมืองเพื่อต่อสู้ แต่ยึดหลักการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ยึดแนวทางสายกลางไม่สุดโต่งไม่รุนแรง คนไทยก็น่าทำได้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม