“อ.เจษฎ์” ชี้ กับดักรัฐธรรมนูญ ชนชั้นใดเขียนมักมีประโยชน์กับชนชั้นนั้น มองไม่สามารถเขียนให้ไม่มีรัฐประหารได้ ระบุ ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เกิดจาก รธน. ปี 40 ด้าน “อ.ปริญญา” มองเรื่องยากเขียน รธน.ให้เป็นฉบับสุดท้าย หวัง สว.ชุดใหม่จะเปิดหน้าต่างแก้ รธน.
วันที่ 4 ก.พ. 2567 ที่ True space สยามสแควร์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย และประธานหลักสูตรนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย ร่วมงานเสวนาวิชาการ “กับดักรัฐธรรมนูญ กับการพัฒนาประชาธิปไตย” ดำเนินรายการโดย นางสาววทันยา บุนนาค อดีต สส.บัญชีรายชื่อ
โดย ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวถึงปัญหาในรัฐธรรมนูญ ว่า หากจำเป็นจะต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่ จะต้องหาวิธีการอย่างไรเพื่อทำให้เป็นฉบับสุดท้าย แต่เห็นว่าเป็นไปได้ยาก เพราะจะต้องให้สังคมเห็นพ้องร่วมกัน ซึ่งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ก็มีการใช้กลไกนอกรัฐธรรมนูญ หรือการรัฐประหาร มาแก้ปัญหาทางการเมือง จนขณะนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันในมาตรา 256 ยังทำได้ยาก เพราะจะต้องใช้เสียง สว. 1 ใน 3 และกลไกอื่นๆ อีก ดังนั้นจึงเห็นว่าเมื่อ สว.ชุดนี้ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญจะหมดวาระ โอกาสที่ สว.ชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ จะทำให้หน้าต่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปิดขึ้น และทำให้คนไทยได้มาตกลงกติกาใหม่กันอีกครั้ง
...
ส่วนการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อหยุดยั้งรัฐประหาร และทำให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายนั้น ผศ.ดร.ปริญญา เห็นว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญจะต้องให้ประชาชนเจ้าของประเทศออกแบบ และให้สมดุลระหว่างประชาชน และนักวิชาการ แม้จะเห็นต่างกันในสังคม แต่สังคมก็จะต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเกิดปัญหาการเมืองใดๆ จะต้องแก้กันตามระบบ เพราะไม่เช่นนั้นไม่ว่าจะเกิดปัญหาทางการเมืองใดๆ ก็จะต้องกลับมาใช้วิธีการรัฐประหาร และทางการเมือง รัฐธรรมนูญถือเป็นกติการ่วมกันภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทุกฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติ จบที่การเลือกตั้ง และรัฐบาลต้องสามารถถูกตรวจสอบได้ ผ่านกลไกการถ่วงดุลอำนาจ และการรัฐประหารในประเทศไทยจะไม่สามารถสำเร็จหากประชาชนไม่ยินยอม พรรคการเมืองไม่ตกต่ำ หรือเสียความชอบธรรม เพราะที่ผ่านมาการรัฐประหารเกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลเสื่อมความนิยม และเสียความชอบธรรม โดยเฉพาะการรัฐประหาร 2557
ผศ.ดร.ปริญญา ยังเห็นว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลที่พยายามดำเนินการ หากพยายามทำแล้ว แต่ทำไม่ได้ ก็ต้องชี้แจงต่อสังคมว่าไม่สามารถทำได้ ไม่ใช่อ้างว่า หาเสียงเอาไว้ จนนโยบายอื่นๆ ที่สามารถทำได้ แต่ไม่ถูกดำเนินการ
ผศ.ดร.ปริญญา ยังกล่าวถึงระบบการเลือกตั้ง โดยเสนอว่า ระบบเลือกตั้งบัญชีรายชื่อแบบแบ่งเขต บัตรใบเดียว เพื่อสะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน เหมือนประเทศเดนมาร์ก และสวีเดน รวมถึงมีบัญชีรายชื่อเขตประเทศ มาเติมจำนวน สส.บัญชีรายชื่อแบบแบ่งเขต ในกรณีที่ยังไม่ครบจำนวน แก้ปัญหาผู้อาวุโสในพรรคว่า จะลงเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ หรือแบบแบ่งเขต
ด้าน รศ.ดร.เจษฎ์ ในฐานะอดีตที่ปรึกษากรรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 ว่า ไม่อาจโทษ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. ได้ทั้งหมด และประเทศไทยไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะชนชั้นใดตรากฎหมายก็เพื่อประโยชน์ชนชั้นนั้น ซึ่งกลไกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการเมืองปัจจุบัน โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญก็เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด รวมถึงการออกฤทธิ์เดชของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันด้วย พร้อมมั่นใจว่าแม้ สว.ชุดปัจจุบันจะไม่มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยก็จะยังคงเป็นรัฐบาล เพราะพรรคก้าวไกลแม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่เสียง สส.ของพรรคก้าวไกลไม่ได้เกินกึ่งหนึ่งที่จะตั้งรัฐบาลได้ และในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทหาร และนักการเมือง ก็จับมือกันทางการเมือง ดังนั้นหากต้องการจะให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนก็จะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม และกฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ไม่ว่าจะต้องยุบพรรคก้าวไกล หรือนายทักษิณจะต้องเข้าคุก ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด
ส่วนการออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้มีการรัฐหารนั้น รศ.ดร.เจษฎ์ มองว่า ไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญให้ไม่มีรัฐประหารได้ แต่ต้องขึ้นกับประชาชนที่จะต้องทำให้นักการเมืองเกรงใจ มีโครงสร้างสังคม และโครงสร้างประชาธิปไตยที่ลงตัว จึงจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ พร้อมเห็นว่าในอดีตหากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยอมลาออก หรือมวลชนที่มาชุมนุมยอมกลับบ้าน เงื่อนไขการรัฐประหารก็ไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นแต่จะต้องมีภาวะการณ์กลไกเดินไปสู่อนาคตร่วมกัน ไม่คิดเพียงว่าตัวอักษรในกฎหมายจะใช้บังคับได้เพียงอย่างเดียว หากยังมีการละเมิดกฎหมาย และบ่อยครั้งที่ประชาชนถามหาทหาร เพราะประชาชนรู้สึกอุ่นใจว่ามีทหารช่วยเหลือในยามประสบภัย ไล่จับโจรได้ ช่วยรักษาความสงบในพื้นที่ชายแดนใต้ มากกว่านักการเมือง
ทั้งนี้ ภายหลังการเสวนาเสร็จสิ้น ผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนายังได้ร่วมกัน Work Shop “ออกแบบรัฐธรรมนูญ สู่อนาคตที่ดีกว่า” ทั้งในกลไกองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ, ระบบการเลือกตั้ง, ระบบสภา, การปกครองท้องถิ่น และการปฏิรูปประเทศ เพื่อร่วมกันออกแบบสถาบันการเมือง ทั้งที่มา, อำนาจ และการถอดถอน เป็นต้น.