“อัครแสนคีรี” สส.พลังประชารัฐ อภิปรายผลกระทบเอลนีโญ จี้ รัฐเร่งรับมือ-บริหารจัดการน้ำ ขอหลายกระทรวงแก้ท่วม-แล้งซ้ำซากใน จ.ชัยภูมิ แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

วันที่ 21 กันยายน 2566 นายอัครแสนคีรี โลห์วีระ สส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายญัตติผลกระทบเอลนีโญ โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมฟังการอภิปรายด้วยตัวเอง เพื่อนำสิ่งที่สมาชิกสะท้อนไปเป็นนโยบายและแผนแก้ไขปัญหากับพี่น้องเกษตรกร ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุรุนแรง ทำให้เกิดสภาวะการขาดแคนอาหารและน้ำ ความมั่นคงด้านอาหาร การเกษตร ซึ่งส่งกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม 

นายอัครแสนคีรี เสนอแนวทางบริหารจัดการด้านภัยแล้ง และผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน จากงบประมาณปี 2567 มีแนวโน้มจะล่าช้า ขอให้นายกรัฐมนตรีใช้งบกลางเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ระดมสรรพกำลังเข้าไปแก้ปัญหาภัยแล้ง และมีระบบติดตามตรวจสอบ กระทรวงมหาดไทยควรส่งเสริมอนุมัติให้ท้องถิ่นมีเครื่องมือที่เพียงพอ เพราะหากรองบอุดหนุนจากรัฐบาลจะไม่ทันการ ขณะเดียวกัน กรมชลประทานควรเร่งศึกษาการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตามที่ ร.อ.ธรรมนัส มีแนวคิดดังกล่าวแล้ว รวมถึงน้ำบาดาล เป็นเรื่องที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถนำน้ำบาดาลขึ้นมาผ่านโครงการต่างๆ ทั้งน้ำดื่มริมทาง น้ำดื่มชุมชน และกระจายน้ำระยะไกล ซึ่งเรื่องการบริหารจัดการน้ำควรให้เอกชนมีส่วนร่วม ทางในการขุด ผลิต และจำหน่ายน้ำประปา เพื่อลดงบประมาณการลงทุนจากภาครัฐ 

สำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อม นายอัครแสนคีรี เสนอว่า ผลกระทบที่เกิดจากไฟป่า รัฐควรจัดหาเครื่องกรองฝุ่นให้สถานที่ต่างๆ ทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน รวมถึงจัดตั้งศูนย์ฉุกเฉินเพื่อดับไฟป่าร่วมกับท้องถิ่น อย่าปล่อยให้เป็นภาระท้องถิ่นฝ่ายเดียวเ พราะงบประมาณไม่เพียงพอ ควรจัดสรรเครื่องมือให้เพียงพอ ออกกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.อากาศสะอาด การจัดเก็บภาษี การปลดปล่อยคาร์บอนที่เป็นธรรม รวมถึงยกระดับตลาดคาร์บอนเครดิตให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เช่น โซลาร์เซลล์ระดับครัวเรือน ผ่านมาตรการภาษีและเงินอุดหนุน และควรส่งเสริมเอกชนลงทุนในนวัตกรรมการจัดเก็บพลังงาน เช่น ดักจับกักเก็บคาร์บอน  

...

พร้อมกันนี้ นายอัครแสนคีรี ยังได้ฝากถึงการแก้ปัญหา จ.ชัยภูมิ ที่พบเจอแต่สภาวะน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซาก ช่วงน้ำหลากไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ส่วนฤดูแล้งต้องวิ่งขนน้ำจนประชาชนว้าวุ่นกันหมด จึงฝากผ่านไปยังรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด.