ก้าวไกลสะดุดหัวทิ่ม ติ่งเดือดขุดภาพอดีตม็อบ กปปส. ติดแฮชแท็ก “มีกรณ์ไม่มีกู” ฮือต้านดึง ชพก.ร่วมรัฐบาล รีบแถลงขอโทษ คว่ำทิ้งดีลเทียบเชิญ “พิธา” น้อมรับพรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรคขอโทษ ชพก.ต้องยุติเจรจา “ชัยธวัช” อ้อมแอ้ม 313 เสียงมั่นคงพอแล้ว เชื่อ ส.ว.ได้ดูเอ็มโอยูแล้วจะคิดบวก “สุวัจน์” บอกโนพรอบเบลมดีลล่ม ยังเป็นมิตรที่ดีกับทุกพรรค พรรคใหม่ถอนตัวหาย 1 เสียง “กฤดิทัศ” ยันยังชูมือให้ 2 พรรคหลักขบเหลี่ยมชิงเค้ก ก.ก.แจ้งแบ่งเก้าอี้ รมต.ยึดโยงนโยบายพรรค ยึดกระทรวงหลักทั้ง “กลาโหม-มหาดไทย-คลัง-ศึกษาฯ-ทส.-ดีอี” บิ๊ก พท.กลืนไม่เข้าคายไม่ออก โวยห่างแค่ 10 เสียง ต้องยึดจำนวน ส.ส.เกลี่ยใกล้เคียงกัน เล็งขอเก้าอี้ประธานสภาฯ “โรม” เสียงแข็งตามธรรมเนียมพรรคแกนนำต้องได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ส.ว.ท้าพูดให้ชัดไม่แตะ ม.112 “ทรงเดช” เชื่อเสียงหนุน “พิธา” พรึ่บเต็มสภา แนะอยากได้เสียงเพิ่มต้องใช้ไมตรีแลก “สุณัฐชา-กาญจน์” ดับข่าวลือปชป.ขอร่วมรัฐบาลก้าวไกล ย้ำจุดยืนไม่แก้ ม.112

จากกรณีกลุ่มแฟนคลับผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แสดงความไม่พอใจการที่พรรค ก.ก.ดึงพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) ที่มีนายกรณ์ จาติกวนิช เป็นหัวหน้าพรรค ที่เคยมีความใกล้ชิดกับกลุ่ม กปปส.ในอดีต จนเกิดเป็นกระแสติดแฮชแท็ก “มีกรณ์ไม่มีกู” ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ในที่สุดพรรค ก.ก.ต้องออกมาแถลงขอโทษและยุติการดึงพรรค ชพก.เข้าร่วมรัฐบาล และเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลกลับมาเหลือ 8 พรรค 313 เสียง

ก.ก.ทัวร์ลง “มีกรณ์ไม่มีกู” ฮือต้าน

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ว่า ความคืบหน้าในการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคก้าวไกลว่า หลังจากเมื่อช่วงค่ำวันที่ 19 พ.ค. นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรค ก.ก. ได้ออกมายืนยันว่าพรรคชาติพัฒนากล้าที่มีอยู่ 2 เสียง ตอบตกลงเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มขึ้นเป็น 10 พรรครวม 316 เสียง ทำให้ตั้งแต่ช่วงค่ำต่อเนื่องจนถึงกลางดึกเกิดปรากฏการณ์แฟนคลับรุมถล่ม ก.ก.ในโลกโซเชียลมีเดีย เเฮชเเท็ก “มีกรณ์ไม่มีกู” พุ่งทะยานติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 เนื่องจากไม่พอใจและต่อต้านการดึงพรรค ชพก.ที่มีนายกรณ์ จาติกวนิช เป็นหัวหน้าพรรค ที่เคยเป่านกหวีดร่วมกับการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และเคยโหวตสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯเมื่อปี 62 เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล

...

แกนนำรีบลดโทนอารมณ์เดือดแฟนคลับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเมื่อถูกทัวร์ลงอย่างหนัก บรรดาแกนนำพรรค ก.ก.ที่เดินทางไปร่วมงานสัมมนาว่าที่ ส.ส.และผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ก.ก.อยู่ที่พัฒนากอล์ฟคลับ แอนด์ รีสอร์ท อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ร่วมกับ ส.ส.ทั้งผู้ที่ได้รับเลือกตั้งและไม่ได้รับเลือกตั้งรวม 500 คน ต่างทยอยออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก เพื่อพยายามเบรกอารมณ์เดือดของบรรดาแฟนคลับที่กำลังไม่พอใจอย่างหนัก อาทิ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ว่าที่ ส.ส. กทม. ในฐานะรองเลขาธิการพรรค โพสต์เฟซบุ๊กว่า ใจเย็นๆก่อนนะครับทุกคน ตอนนี้กำลังคุยกันเป็นการภายใน และจะแจ้งทุกคนทราบหลังได้ข้อสรุป ผมก็ตอบอะไรยังไม่ได้ครับ”

แถลงขอโทษทำให้ผิดหวังเลิกดึง ชพก.

จากนั้นเวลา 23.35 น. ของวันที่ 19 พ.ค. เพจพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความว่า พรรคก้าวไกลแถลงขอโทษปมพรรคชาติพัฒนากล้า ยืนยันฟังเสียงประชาชน ไม่ร่วมรัฐบาลชาติพัฒนากล้า สืบเนื่องจากกรณีที่พรรคก้าวไกล ได้เจรจากับพรรคชาติพัฒนากล้า เพื่อตกลงโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯและเข้าร่วมรัฐบาลกรณีดังกล่าว ได้ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากประชาชน เจ้าหน้าที่พรรค คณะทำงานจังหวัดและสมาชิกพรรค ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าไม่สามารถยอมรับการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคชาติพัฒนากล้าได้ นอกจากนี้ในที่ประชุมร่วมของว่าที่ผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล มีมติสอดคล้องกับประชาชนว่าไม่สามารถยอมรับได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้กรรมการบริหารพรรค จึงน้อมรับมติดังกล่าวมาปฏิบัติ เราจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนากล้า และจะเดินหน้าพูดคุยและทำความเข้าใจ เพื่อขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้ได้เสียงพอในการโหวตนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด

“พิธา” น้อมรับ ปชช.ใหญ่กว่าพรรค

พรรคก้าวไกลขอน้อมรับคำวิจารณ์ทั้งหมด และกราบขออภัยประชาชน ที่ทำให้ทุกท่านผิดหวัง พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล จะทำบนพื้นฐานจุดยืนทางการเมือง นโยบายหลักของพรรคตามที่ได้เคยหาเสียงไว้รวมถึงขอโทษพรรคชาติพัฒนากล้า ที่ต้องยุติการเจรจาครั้งนี้ และสุดท้ายนี้ ขอบคุณพี่น้องประชาชน เจ้าหน้าที่พรรคและว่าที่ผู้แทนราษฎรก้าวไกลทุกคน ที่คอยตรวจสอบ ท้วงติงการทำงานของผู้บริหารพรรค เพื่อให้พรรคยืนหยัดในจุดยืน อุดมการณ์เดิมอย่างมั่นคง พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค

ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ขอโทษครับ ผมจะระลึกไว้เสมอ “พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค”

“ชัยธวัช” ยัน 313 เสียงมั่นคงพอ

เมื่อเวลา 11.56 น. ประชาสัมพันธ์พรรคก้าวไกล เผยแพร่ข้อความผ่านไลน์กลุ่มสื่อมวลชนประจำก้าวไกลว่า นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยในฐานะผู้จัดการตั้งรัฐบาลว่า ขณะนี้พรรครวบรวมเสียงได้ 313 เสียง ถือว่ามีเพียงพอและมั่นคงแล้ว ตามหลักการประชาธิปไตยสากลทั่วไป หลังจากนี้จะเดินหน้าคุยกับ ส.ว.ต่อ เพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน แล้วพาบ้านเมืองไปต่อตามครรลองประชาธิปไตย ไม่ไปสู่ทางตัน จากที่ได้พูดคุยกับ ส.ว.จำนวนหนึ่ง หลายท่านกังวลเรื่องทิศทางนโยบายต่างประเทศ การรักษาสมดุลของไทยในเวทีการเมืองโลก และ ส.ว.ไม่ต้องการเห็นรัฐบาลชุดใหม่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้น เมื่อได้พบกัน และอธิบายจุดยืนและแนวทางของพรรค ส.ว.เข้าใจมากขึ้น วันที่ 23 พ.ค. จะมีประชุมวิสามัญวุฒิสภา ทราบว่าหลังการประชุมวุฒิสภาน่าจะมีการประชุมกันอย่างไม่เป็นทางการของ ส.ว. เรื่องแนวทางการโหวตเลือกนายกฯ เชื่อว่าเมื่อ ส.ว.ได้เห็นข้อตกลงร่วม(MOU) การจัดตั้งรัฐบาลในวันที่ 22 พ.ค.แล้ว จะเข้าใจต่อพวกเราดีขึ้น และนำไปสู่การตัดสินใจในเชิงบวก เพื่อผลักดันประเทศไปข้างหน้า

ตื๊อ ส.ว.เห็นเอ็มโอยูแล้วจะคิดบวก

เลขาธิการพรรคก้าวไกลยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระบวนการเจรจาร่าง MOU เดินหน้าไปได้ด้วยดี ทุกพรรคกำลังพิจารณาและนำเสนอวาระสำคัญของแต่ละพรรค มารวมกันเป็นข้อตกลงร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยวันที่ 21 พ.ค.จะพูดคุยกับแต่ละพรรคอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันในวันที่ 22 พ.ค. ยืนยันว่าวาระสำคัญใน MOU จะตอบสนองต่อเสียงประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลงทั้งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเป็นธรรม และปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย มีนิติรัฐ โปร่งใส ปราศจากการทุจริต และแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าไปสู่อนาคตได้

“สุวัจน์” โนพรอบเบลมถูกล้มดีล

เมื่อเวลา 10.30 น. ที่สำนักงานพรรคชาติพัฒนากล้า อ.เมืองนครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) พร้อมนายประสาท ตันประเสริฐ ว่าที่ ส.ส.นครสวรรค์ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ว่าที่ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและนายเทวัญ ลิปตพัลลภ เลขาธิการพรรค ชพก. ร่วมแถลงข่าว โดยนายสุวัจน์กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้เชิญพรรค ชพก.เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรคตอบรับในหลักการ เพื่อสนับสนุนให้พรรคที่ได้รับเสียงอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ และในวันที่ 22 พ.ค. พรรคได้นัดประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อพิจารณาเอ็มโอยูว่าสามารถไปด้วยกันได้หรือไม่ แต่เมื่อพรรคก้าวไกลได้แถลงยุติการเชิญพรรค ชพก.ร่วมรัฐบาล และได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการแล้ว พรรค ชพก.ก็ไม่ได้อะไร และขอบคุณพรรคก้าวไกลที่ได้ให้เกียรติเรียนเชิญพรรค ชพก.เข้าร่วมรัฐบาลทั้งที่เรามีเพียง 2 เสียง เมื่อเป็นเช่นนี้การประชุมกรรมการบริหารพรรคจึงไม่เกิดขึ้น

ยันทุกเวทีดีเบต ชพก.ให้คง ม.112

เมื่อถามว่าจะให้ ส.ส.ของพรรคโหวตให้ใครเป็นนายกฯ นายสุวัจน์กล่าวว่า จะต้องหารือกันก่อนภายในพรรค ที่ผ่านมาพรรค ชพก.ตอบรับในหลักการ แต่เมื่อได้รับแจ้งยุติการเชิญและขอโทษมาเราไม่ได้ผิดหวังอะไร ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ก่อนที่จะตอบรับตนได้แจ้งให้นายกรณ์ จาติกวณิชย์ หัวหน้าพรรคที่อยู่ระหว่างไปเที่ยวที่ประเทศออสเตรเลียทราบแล้ว ยืนยันว่าพรรค ชพก.ไม่ได้น้อยใจหรือผิดหวังอะไร ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด โนพรอบเบลม พรรค ชพก.ยังเป็นมิตรที่ดีต่อกันทุกพรรค ส่วนสาเหตุที่พรรค ก.ก.ยุติการเชิญ ตนไม่ทราบ แต่ยอมรับว่าในทุกเวทีดีเบตพรรค ชพก.ยืนยันมาตลอดว่าจะคงมาตรา 112 ไว้ไม่ไปแตะต้อง และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ส่วนอนาคตพรรค ชพก.จะร่วมรัฐบาลชุดใหม่ หากพรรค การเมืองอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าพรรคอื่นเห็นว่า ชพก.จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ก็พร้อมพิจารณาและจะหารือในกรรมการบริหารพรรคตามขั้นตอนต่อไป

“พรรคใหม่” ถอนตัวแต่ยังชูมือให้

วันเดียวกัน นายกฤดิทัศ แสงธนโยธิน หัวหน้าพรรคใหม่ กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์พรรคใหม่ทางสื่อโซเชียลมีเดีย ภายหลังที่มีหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรคถูกขุดคลิปที่พูดถึงกรณีมาตรา 112 ในทำนองว่าควรมีโทษรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นประหารชีวิตว่า ตามข้อเท็จจริงคลิปดังกล่าวเป็นความเห็นส่วนตัวของคณะกรรมการบริหารคนหนึ่งเท่านั้น พรรคไม่เห็นด้วย เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ได้มีโอกาสพูดคุยกับรองหัวหน้าพรรค ก.ก. ที่เป็นคนประสานให้เข้าร่วมรัฐบาลแล้ว จึงทำให้ตัดสินใจขอถอนตัว เพราะไม่สบายใจในการเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้ แต่เนื่องจากเดินทางมาทำธุระต่างจังหวัด ทำให้ยังไม่มีโอกาสได้แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ขณะที่แฟนเพจเฟซบุ๊กของพรรค ไม่สามารถใช้งานได้ คาดว่าน่าจะถูกกดรีพอร์ต ยืนยันว่าพรรคใหม่จะยังคงสนับสนุนพรรค ก.ก.ในการจัดตั้งรัฐบาล โดยการยกมือโหวตสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. เป็นนายกฯ เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการของประชาธิปไตย สิ่งใดที่ดำเนินการถูกต้องจะสนับสนุนต่อ ส่วนมาตรา 112 พรรคใหม่ยังมีจุดยืนดังเดิม

“ประเสริฐ” ยันแบ่ง รมต.หลังฟอร์ม รบ.

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์กรณีมีกระแสข่าวการพูดถึงโควตารัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลว่า ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้ เพราะขั้นตอนการตั้งรัฐบาล ก่อนไปถึงการแบ่งโควตารัฐมนตรี เราต้องรวมเสียงให้ได้ 376 เสียงก่อน แล้วประเด็นรัฐมนตรีค่อยคิดกันภายหลัง เพื่อแบ่งหน้าที่กันตามความเหมาะสม เมื่อถามว่าแต่มีกระแสข่าวหนาหู นายประเสริฐกล่าวว่า คิดว่าเป็นการโยนหินถามทางของบางกลุ่มบุคคลเท่านั้น แต่ยืนยันในฐานะเลขาฯพรรค พท. รับผิดชอบการจัดตั้งรัฐบาลของ พท. ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องนี้ คงต้องรอให้การฟอร์มรัฐบาลเรียบร้อยก่อน แล้วค่อยมาจัดการเรื่องนี้ เพื่อวางตัวบุคคลให้เหมาะกับงานและ ผลประโยชน์เกิดกับประชาชนมากที่สุด มองว่าคนที่ปล่อยเรื่องนี้ออกมามีนัยส่วนตัวหวังอะไรหรือไม่ อยากให้การตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นก่อนแล้วค่อยมาคุยเรื่องนี้กันภายหลังจะเป็นประโยชน์ที่สุด ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเงื่อนไขการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลที่เราพยายามทำกันอยู่ เมื่อถามอีกว่าตำแหน่งประธานรัฐสภาพูดคุยบ้างหรือยัง นายประเสริฐกล่าวว่า มีการพูดคุยกันบ้าง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป สุดท้ายต้องรอให้การฟอร์มรัฐบาลเสร็จสิ้นก่อน

“ชลน่าน” ชี้ 300 เสียงตั้ง รบ.ได้แล้ว

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่หลายฝ่ายรวมถึงนักวิชาการมองว่าคะแนนเสียงของรัฐบาลก้าวไกลแค่ 313 เสียงเพียงพอแล้ว สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลว่า จริงๆแค่ 300-310 เสียงพอแล้ว สร้างเสถียรภาพแข็งแรงได้ เขากำลังคำนึงอยู่ว่าจุดสมดุลที่สุดอยู่ตรงไหน นั่นคือรัฐบาลควรจะมีเสียงไม่เกินเท่าไหร่ โดยดูเรื่องภาระงาน ความเข้มแข็งของรัฐบาล คำนึงถึงบทบาทของฝ่ายตรวจสอบ และความเป็นไปได้ที่จะได้ 376 เสียง ต้องเอา 2 เรื่องนี้มาชั่งกัน คาดว่าจะเป็นทำนองนี้

อึ้ง ก.ก.เปิดดีลคั่วกระทรวงหลักทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทย ถึงการประสานงานจัดตั้งรัฐบาลว่า ล่าสุดตัวแทนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เริ่มประสานเกี่ยวกับโควตารัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการมายังแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) บางส่วนแล้วว่าพรรคก้าวไกลขอโควตารัฐมนตรีที่ยึดโยงกับนโยบายพรรค ที่เป็นกระทรวงหลักแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม มหาดไทย คลัง ศึกษาธิการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำให้แกนนำพรรค พท.ถึงกับกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากตามหลักการต้องแบ่งกระทรวงตามจำนวน ส.ส. ซึ่งพรรค พท.ห่างจากพรรคก้าวไกลเพียง 10 เสียง และกระทรวงหลัก กระทรวงรองควรเกลี่ยให้ใกล้เคียงกัน ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่งได้กระทรวงหลักไปเกือบทั้งหมด จนขณะนี้แกนนำพรรค พท.ยังคงสงวนท่าที เพราะไม่อยากให้พรรค ก.ก.นำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างว่าพรรค พท.เป็นฝ่ายต่อรองเก้าอี้ จนทำให้การตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป

พท.หวังแบ่งประมุขนิติบัญญัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรค ก.ก.ยังแจ้งความประสงค์มาด้วยว่า อยากให้ตำแหน่งประธานสภาฯเป็นของพรรคก้าวไกล เพราะต้องการคุมเกมในสภาฯ ขณะที่พรรค พท.ไม่เห็นด้วย ยกเหตุผลเพราะพรรค ก.ก.ได้เป็นประมุขฝ่ายบริหารแล้ว พรรค พท.ควรได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ทิศทางขับเคลื่อนงานในสภาฯต้องไปในทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามแกนนำพรรค พท.ที่ได้รับการประสาน จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรคก่อน จะมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยหลังจากนี้กรรมการบริหารพรรค พท.จะมอบหมายให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. ทำหน้าที่ประสานในทุกเรื่องกับพรรค ก.ก.ต่อไป

ดีเทลเอ็มโอยูรอแถลงเป็นนโยบาย รบ.

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับเอ็มโอยูเข้าร่วมรัฐบาลนั้น แกนนำพรรคเพื่อไทยพิจารณาเรียบร้อยแล้ว และได้นำเสนอร่างในส่วนของพรรคเพื่อไทยไปยังพรรคก้าวไกล ให้เป็นผู้รวบรวมประเด็นกับเอ็มโอยูของพรรคอื่นๆแล้ว โดยเนื้อหาที่พรรคเพื่อไทยปรับปรุงนั้น ยืนยันสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ และให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส่วนเนื้อหาอื่นพรรคเพื่อไทยเขียนในภาพกว้างไม่ลงลึกรายละเอียด เช่น ร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน การแก้ไขปัญหาของพี่น้องเกษตรกร แก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกระบวนการตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน ส่วนรายละเอียดอื่นที่อยู่ในร่างของพรรค ก.ก. เช่น ความเสมอภาคของสิทธิมนุษยชน ประเด็นสมรสเท่าเทียม สอดคล้องกับนโยบายของพรรค พท. แต่ไม่ควรอยู่ในเอ็มโอยู รอไว้ใส่ในคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาจะดีกว่า บทสรุปของเอ็มโอยูที่จะลงนามร่วมกันทั้ง 8 พรรคจะหารืออีกครั้งเช้าวันที่ 22 พ.ค. ก่อนแถลงข่าวร่วมกันช่วงบ่าย

ปช.จี้ปรับสมรสเท่าเทียม–สุราเสรี

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) ให้สัมภาษณ์ว่า การตั้งรัฐบาลไม่น่ามีปัญหา มีพรรคเล็กๆเพิ่มมาเรื่อยๆ ส่วน ส.ว.มีเสียงว่ายอมยกมือให้พรรคเสียงข้างมากเพิ่มขึ้น เมื่อตั้งรัฐบาลแล้วจะมีกลไกคอยตรวจสอบการทำหน้าที่ต่อ ส่วนตำแหน่งต่างๆยังไม่ได้คุยกัน ถ้าแย่งกันมากๆ ประชาชนจะยี้ รัฐบาลที่ถือเป็นรัฐบาลคนรุ่นใหม่จะเสียภาพไปด้วย ส่วนเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลว่า ในเอ็มโอยูมีการพูดถึงหลักการกว้างๆหลายเรื่อง แต่สิ่งที่พรรค ปช.ต้องการให้ปรับมี 2 ประเด็นหลัก คือสุราเสรีที่กระทบกับหลักศาสนา อยากให้ปรับถ้อยคำลงไม่ให้กระทบกับศาสนาใด อีกประเด็นคือเรื่องให้ความเคารพความหลากหลายทางเพศ สื่อโยงไปถึงนโยบายสมรสเท่าเทียม ประเด็นนี้พรรค ปช. ไม่สามารถยอมรับให้มีในเอ็มโอยูได้โดยไม่มีข้อยกเว้น เราขัดข้องเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น ได้เสนอให้คณะทำงานร่างเอ็มโอยูดูว่าเรื่องนี้จะทำอย่างไรได้บ้าง ได้เสนอไปว่าอย่างน้อยที่สุดในเอ็มโอยูหรือกฎหมายที่จะเดินหน้าต่อจากนี้ ต้องบอกว่าเรื่องดังกล่าวต้องไม่มีผลบังคับไปถึงผู้นับถือศาสนาอิสลาม เพราะขัดกับหลักศาสนา รวมถึงศาสนาอื่นที่เรื่องนี้ขัดหลักศาสนาเขาด้วย

ค่ายสีส้มถอดบทเรียนบิ๊กแลนด์สไลด์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค. พรรคก้าวไกล ยังคงจัดการประชุมสัมมนาว่าที่ ส.ส.ของพรรค และผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค รวม 500 คน ที่พัฒนากอล์ฟคลับ แอนด์ รีสอร์ท อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นวันที่สอง โดยยังคงปิดลับเป็นการประชุมภายใน ไม่เปิดเผยกำหนดการและไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าทำข่าว โดยช่วงเย็น นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงบรรยากาศการจัดประชุม ว่าที่ ส.ส. และผู้สมัคร ส.ส.ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งรวม 500 คนว่า การประชุมวันที่สองมีวิทยากรบรรยายหลายท่าน อาทิ นายเกษียณ เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกาใบตองแห้ง พิธีกรวิเคราะห์ข่าววอยซ์ทีวี และ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ก.ก.ฝ่ายนโยบาย เป็นต้น หัวข้อที่พูดคุย เช่น เรื่องการถอดบทเรียนว่าการเมืองในแบบก้าวไกล ช่วงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ช่วงการเมืองระยะเปลี่ยนผ่านเป็นอย่างไร มีการชวนคุยถึงการเมืองหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาสร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงคุยกันเรื่องรัฐบาลก้าวไกลมีวาระสำคัญอย่างไรที่เราจะต้องดำเนินการทำไปด้วยกัน

ถอดปลั๊ก ชพก.ไม่ใช่คนกลุ่มเดียวเคาะ

เมื่อถามถึงบรรยากาศเมื่อคืนวันที่ 19 พ.ค.ถกเถียงกันมากน้อยแค่ไหน ก่อนจะมีมติว่าไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรค ชพก.แล้ว และเถียงกันดุเดือดหรือไม่ นานกี่ชั่วโมง กว่าจะมีมติดังกล่าว โฆษกพรรคก้าวไกล ตอบว่า เรื่องนี้เป็นแบบเดียวกับเนื้อหาสาระที่พรรคได้ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กว่าสุดท้ายมันผ่านกระบวนการหารือกันอยู่ คิดว่ามันจะเป็นกระบวนการหารือแบบธรรมชาติ แบบที่ก้าวไกลเป็น ไม่อยากคอมเมนต์ว่าเป็นการพูดคุยที่รุนแรงหรือไม่รุนแรงอย่างไร เนื้อหาสาระจะเป็นไปอย่างที่เราได้แถลงไปว่า เมื่อเราได้พูดคุยแล้วจึงเป็นมติที่ทุกคนได้ทราบ เมื่อถามว่ามติดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ได้ออกมาจากคนกลุ่มเดียวตัดสินใจใช่หรือไม่ นายรังสิมันต์ตอบว่าใช่

โยนถามเลขาฯ–พท.ขอรื้ออื้อเอ็มโอยู

เมื่อถามถึงกรณีมีรายงานข่าวจาก พท. เตรียมตีกลับเอ็มโอยู ที่แก้ไขส่งให้ก้าวไกล โดยยังยืนหนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. เป็นนายกฯ ส่วนรายละเอียดในร่าง ก.ก. เช่น เรื่องความเสมอภาคของสิทธิมนุษยชนสมรสเท่าเทียมนั้น พท.มองว่าสอดคล้องกับ พท. แต่ตัดออกเพราะไม่ควรอยู่ในเอ็มโอยู นายรังสิมันต์ตอบว่า คนที่จะตอบคำถามเรื่องนี้ได้ดีคือ เลขาธิการ ก.ก. ทีนี้มันก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ต้องพิจารณาพูดคุย เจรจาต่อไป ทั้งนี้ ตนยังไม่ได้เห็นตัวรายละเอียดที่ทาง พท.ส่งมา จึงยังให้ความเห็นลำบาก ยังให้ความเห็นไม่ได้ตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ตรงนี้เรามีกระบวนการ เดี๋ยวคณะกรรมการคงคุยกันซึ่งมันเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการเห็นหรือไม่เห็นตรงกันบ้างเพื่อปรับปรุง ถึงที่สุดเอ็มโออยู่ก็เป็นเหมือนข้อตกลงร่วมว่าอะไรคือสิ่งที่เราจะทำร่วมกัน

เสียงแข็ง ปธ.สภาฯต้องเป็นของแกนนำ

เมื่อถามว่า มีรายงานจาก พท.ว่า ก.ก.ประสานโควตารัฐมนตรีไม่เป็นทางการกับ พท.หลายเก้าอี้ เช่น คลัง ศึกษาฯ ทรัพยากรธรรมชาติฯ มหาดไทยดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จนฝ่าย พท.กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และจะขอตำแหน่งประมุขนิติบัญญัติด้วย นายรังสิมันต์ตอบว่า ในมุม ก.ก. เรายังไม่ได้พูดคุยหรือไปคิดเรื่องกระทรวง ก.ก.คิดถึงภารกิจร่วมกันว่า เราจะทำอย่างไร เพื่อทำให้ภารกิจของประเทศจะผลักดันไปข้างหน้าเป็นสิ่งที่ ก.ก.ให้ความสำคัญมากที่สุด เรื่องตำแหน่งประธานสภาฯเหมือนกับที่หลายครั้ง ก.ก.เราย้ำว่าตามธรรมเนียมที่ผ่านมาพรรคอันดับหนึ่งต้องครองตำแหน่งประธานสภาฯอยู่แล้ว จะต่างกันออกไปมีแค่ยุคที่แล้วปี 2562 จริงๆคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ประธานสภาฯ พรรคเสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง ต้องได้ตำแหน่งนี้ เพื่อกำหนดวาระการประชุมสภาฯ ให้เกิดการผลักดันกฎหมายและนโยบายไปข้างหน้าตามแนวนโยบายที่พรรคชนะอันดับหนึ่งจะวางเอาไว้

เมื่อถามว่าย้ำว่า ก.ก.ขอโควตาเก้าอี้ไปยังพท.ตามที่เป็นข่าวจริงหรือไม่ นายรังสิมันต์ตอบว่า เดี๋ยวคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจะตอบคำถามได้ดีกว่าแต่เท่าที่ทราบยังไม่ได้มีการไปคิดถึงการแบ่งกระทรวง เราต้องวางภารกิจก่อนเป็นเรื่องหลัก

ถ้าไม่แตะ ม.112 หนุน “พิธา” เต็มสภา

ขณะที่ท่าทีของ ส.ว. วันเดียวกัน นายทรงเดช เสมอคำ ส.ว.กล่าวถึงกระแสข่าวขั้วการเมืองฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลเดินสายล็อบบี้ ส.ว.กลุ่มอิสระ 50 คน จากกลุ่มอาชีพต่างๆให้เลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก.เป็นนายกฯ ว่า ยอมรับมีฝ่ายการเมืองติดต่อมาพูดคุยทำความเข้าใจ แต่ไม่ใช่เชิงล็อบบี้ขอคะแนนให้นายพิธา ส่วนตัวพร้อมโหวตสนับสนุนให้พรรคเสียงข้างมากได้เป็นนายกฯ แต่ไม่ทราบว่า ส.ว.สายอาชีพคนอื่นๆจะคิดเหมือนกันหรือไม่ ส.ว.ทุกคนทุกกลุ่มเห็นตรงกัน ไม่เห็นด้วยกับการแตะต้องมาตรา 112 ไม่ว่าจะยกเลิกหรือแก้ไข ห้ามทำเด็ดขาด กฎหมายเดิมดีอยู่แล้ว ถ้าพรรค ก.ก.ประกาศชัดเจนจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับมาตรา 112 เชื่อว่าเสียง ส.ว.พร้อมยกมือให้นายพิธาเต็มสภา ต้องรอดูเอ็มโอยูฝ่ายพรรค ก.ก. วันที่ 22 พ.ค. จะชัดเจนเรื่องมาตรา 112 อย่างไร

อยากได้เสียง ส.ว.ต้องใช้ไมตรีแลก

นายทรงเดชกล่าวว่า ส่วนที่ ส.ว.สาย 2 ลุง ประเมินว่า จะมี ส.ว.ลงมติเห็นชอบนายพิธาเป็นนายกฯ ประมาณ 20 เสียงนั้น ส่วนตัวยังเชื่อว่ามีเกิน 20 เสียง แต่จะไปถึง 60 กว่าเสียงตามจำนวนที่ยังขาดอยู่ในการโหวตนายกฯ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการประสานงาน จะต้องมาคุยแบบมิตรไมตรี เหมือนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกปรารถนาสารพัดในปฐพี เอาไมตรีแลกได้ดั่งใจจง ไม่ใช่มาด่าตลอดใครจะเลือกให้ ยังมีเวลาอีกยาวไกลกว่าจะโหวตเลือกนายกฯ ยังมีเวลาทำความเข้าใจกันได้ ส่วนกระแสข่าวแกนนำ ส.ว.สาย 2 ลุง จะให้ ส.ว.โหวตงดออกเสียงนายพิธาเป็นนายกฯ ก็ได้ยินมาเช่นกัน แต่ไม่รู้ว่า ส.ว.จะทำตามหรือไม่ ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากพรรคก้าวไกลแสดงความชัดเจนไม่แตะต้องมาตรา 112 อาจมีเสียง ส.ว.เห็นชอบเกิน 60 กว่าเสียง แต่ถ้าไม่มีความชัดเจนก็ไม่มีทางได้เสียงถึงแน่นอน ฝากบอกพรรค ก.ก. ต้องพูดให้ชัดเจน ยกเลิกความคิดแก้ไขมาตรา 112 อย่าอ้ำๆอึ้งๆตอบไม่ชัดเจน จะแก้ไขลดโทษมาตรา 112 ก็ไม่ได้ ห้ามแตะต้องมาตรา 112 แม้แต่นิดเดียว ถ้าทำได้ ส.ว.พร้อมให้ความเห็นชอบนายพิธา แต่ถ้าไม่ยกเลิกเรื่องนี้ยังเป็นสายล่อฟ้า

“นิอาแซ” รอชี้ขาดนโยบายอบายมุข

นายนิอาแซ อุเซ็ง ส.ว.กล่าวว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องการโหวตเลือกนายกฯ ขอดูนโยบายฝ่ายที่จะมาเป็นรัฐบาลใหม่ก่อนจะมีรายละเอียดอย่างไร จะให้ตัดสินใจโดยยังไม่เห็นนโยบายคงไม่ได้ ตนเป็นมุสลิมคงต้องพิจารณานโยบายที่เกี่ยวกับอบายมุข ถ้าปล่อยให้เกิดเสรี เกิดขึ้นได้เยอะๆก็คงโหวตให้ไม่ได้ ส่วนเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 นั้น เชื่อว่า พรรคก้าวไกลคงไม่กล้าเสนอมาเป็นนโยบายรัฐบาลแน่นอน ถ้าเสนอเข้ามาคงลุกฮือทั้งประเทศ

รอตั้งวงคุยนอกรอบก่อนโหวต

นายปัญญา งานเลิศ ส.ว. กล่าวว่า ยังไม่ได้ ตัดสินใจเช่นกัน จะโหวตนายกฯออกมาในแนวทางใด อยากเห็นเอ็มโอยูที่จะประกาศเป็นนโยบายในวันที่ 22 พ.ค.ของฝ่ายที่จะมาบริหารประเทศก่อนแล้วมาตัดสินใจ ขณะที่วันที่ 23 พ.ค. ที่จะมีการประชุมสมัยวิสามัญวุฒิสภา เพื่อพิจารณาเลือกผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระนั้น เชื่อว่า ส.ว.คงนำเรื่องการโหวตเลือกนายกฯมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นนอกรอบอย่างไม่เป็นทางการกัน แต่คงไม่เกี่ยวกับการประชุมวุฒิสภา

2 ส.ส.ตรังดับข่าวลือ ปชป.ดีล ก.ก.

วันเดียวกัน น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ว่าที่ ส.ส.ตรัง เขต 3 และนายกาญจน์ ตั้งปอง ว่าที่ ส.ส.ตรัง เขต 4 พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวความเคลื่อนไหวของ 16 ว่าที่ ส.ส.พรรค ปชป.ติดต่อไปยังพรรคก้าวไกล เพื่อขอเข้าร่วมรัฐบาลว่า ขอชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง โดยพรรค ปชป.จะนัดประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดรักษาการ ในวันที่ 24 พ.ค. เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 100 ปี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ณ ที่ทำการพรรค ปชป. ถนนเศรษฐศิริ ทั้งนี้ เราขอย้ำชัดถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะไม่แก้ ไม่เปลี่ยนแปลงมาตรา 112 เป็นสิ่งที่พรรคได้พูดมาโดยตลอดว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขนั้นมีความเหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทยของเรา

คนอีสานแฮปปี้สูตรตั้ง รบ. “พิธา 1”

เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายสุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล เปิดเผยว่า คณะทำงานอีสานโพลได้สำรวจความคิดเห็นคนอีสานจากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,100 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัดว่าอยากให้พรรคใดมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล อยากให้ใครเป็นนายกฯ พรรคใดควรเป็นฝ่ายค้าน แม้คนอีสานส่วนใหญ่จะสนับสนุนพรรค พท.มากกว่าพรรค ก.ก. แต่พอเห็นผลการเลือกตั้งมีการสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้เป็นนายกฯ เป็นอันดับ 1 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นอันดับ 2 และนายเศรษฐา ทวีสิน ตามมาห่างๆเป็นอันดับ 3 ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลหลังพรรค ก.ก.เชิญพรรคต่างๆ มาร่วมรัฐบาลถูกใจคนอีสานกว่าร้อยละ 90 รู้สึกพอใจ

ห่วง ก.ก.ขอเสียง ส.ว.ไม่พอหนุน “ทิม”

นายสุทินกล่าวต่ออีกว่า ส่วนฝ่ายรัฐบาลชุดเดิมคนอีสานอยากให้ไปเป็นฝ่ายค้านรอบนี้ เมื่อถามถึงการที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจากสภาร่างรัฐธรรมนูญจากการเลือกตั้ง พบว่าส่วนใหญ่อยากให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แบ่งเป็นควรจะเสร็จภายใน 2 ปี กับอีกส่วนมองว่าไม่จำเป็นต้องรีบภายใน 4 ปี ให้เสร็จ ที่เหลือร้อยละ 20 บอกว่ายังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนภายใน 4 ปีนี้ แต่ร้อยละ 80 เห็นว่าควรต้องได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ในคำถามว่าพรรค ก.ก.และพรรค พท.จะรวบรวมเสียง ส.ว.ได้เพียงพอหรือไม่ ร้อยละ 60 คิดว่าไม่น่าจะได้เสียง ส.ว.เพียงพอ ร้อยละ 40 ยังมีความหวังว่าน่าจะมี ส.ว. มาช่วยโหวตให้พอจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่วนคำถามเรื่องการซื้อเสียงพบว่าร้อยละ 40 บอกว่า ไม่พบการซื้อเสียงด้วยตัวเอง แต่คนในชุมชนมาเล่าให้ฟังว่าได้เงิน ร้อยละ 30 บอกว่าได้เงินจากการซื้อเสียงเจอมากับตัว ร้อยละ 20 บอกว่าไม่พบเจอและคนในชุมชนไม่ได้พบเห็นการซื้อเสียง

คนสัตหีบค้านย้ายหีบบัตรเขต 10

ที่ จ.ชลบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีหน่วยนับคะแนนรวม ส.ส.ชลบุรี เขต 10 อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีบัตรเขย่งหลายพันใบ ทำให้เกิดข้อกังขาของพี่น้องประชาชน ขอให้ กกต.ชลบุรี เขต 10 ชี้แจง แต่ กกต.ประจำ จ.ชลบุรีไม่สามารถชี้แจงได้และกำหนดให้มีการขนย้ายหีบบัตรไปเก็บรักษาไว้ที่ กกต.ชลบุรี ทำให้ผู้สมัคร ส.ส.เขต 10 พรรคพท. ภูมิใจไทย (ภท.) และ ก.ก. พร้อมชาวบ้านนับร้อยคน ชุมนุมประท้วงไม่ให้เคลื่อนย้ายหีบบัตรคะแนนพร้อมตะโกนให้นายเพ่ง บัวหอม ประธาน กกต.เขต 10 ออกมาชี้แจง มีเพียง พล.อ.จำนงค์ จันพร เลขานุการ กกต.ชลบุรี มารับเรื่องและให้รถขนาดใหญ่ของกองทัพเรือ พื้นที่ อ.สัตหีบมาขนหีบบัตรไปเก็บไว้ที่ จ.ชลบุรี แต่ประชาชนขัดขวางไว้จนต้องกลับไป ต่อมาเวลา 13.00 น. น.ส.วิชชุดา เมฆานุวงศ์ ผอ.กกต.ชลบุรี พร้อม พล.อ.จำนงค์ จันพร ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำ จ.ชลบุรี เชิญผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ที่ห้องศูนย์ปฏิบัติการ สภ.สัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และมีมติ 1.ให้เก็บรักษาหีบบัตรและบัตรเลือกตั้ง ส.ส.ชลบุรี เขต 10 ที่ลงคะแนนแล้วไว้ที่ห้องประชุมเล็กข้างศาลาประชาคม ที่ว่าการ อ.สัตหีบ 2.ให้เก็บวัสดุอุปกรณ์ ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งที่เหลือและเอกสารอื่นๆของเขต 10 ไว้ที่สำนักงาน กกต.จ.ชลบุรี 3.แบบ สส.1/3 ให้คืนสำนักทะเบียน อ.สัตหีบ โดยให้พนักงานสอบสวน สภ.สัตหีบ ลงบันทึกประจำวันและให้ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จนเป็นที่พอใจจึงแยกย้ายกันกลับไป

“กรณ์” บ่นถูกด่าฟรีเซ็งกระทบครอบครัว

ค่ำวันเดียวกัน นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.)ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์ยุติการเจรจาดึงพรรค ชพก.ร่วมรัฐบาลหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงหลักการของพรรค ก.ก.ที่เคยระบุไว้ว่าจะไม่จับมือกับพรรคที่ไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตย โดยนายกรณ์ระบุว่า “นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น หลังการเลือกตั้ง ผมมาอยู่กับลูกที่ออสเตรเลีย จนเมื่อวานบ่ายคุณสุวัจน์โทร.แจ้งว่า ก้าวไกลชวนเข้าร่วมรัฐบาล คุณสุวัจน์กับผมสรุปกันว่าจะคุยกันวันจันทร์ในที่ประชุม กก.บห. เพราะมีประเด็นสำคัญสำหรับเราคือ นโยบาย โดยผมไม่เคยติดต่อร่วมรัฐบาลกับใครเลย เพราะเรามีเพียง 2 เสียงและไม่ได้แม้แต่จะคิดจะมีเงื่อนไขต่อรองอะไร มีสื่อโทร.มาหาผมที่เมลเบิร์นว่า เราเข้าร่วมรัฐบาลแล้วเหรอ ผมก็ตอบไปว่าเรายังต้องคุยเรื่องนี้กันในวันจันทร์ ผมยืนยันเหมือนเดิมว่า พรรคที่รวมเสียงข้างมากได้ ถึงจะมีความชอบธรรมในการตั้งรัฐบาล นี่คือหลักประชาธิปไตยที่เป็นจุดยืนของผม ชาติพัฒนากล้า พร้อมทำงานกับทุกพรรค แต่เราไม่แตะ 112 และเราต้องการเน้นแก้ปัญหาราคาพลังงาน”

“ผมโดยด่าฟรีจากทั้งขวาและซ้าย ผมรับได้ทุกข้อกล่าวหา ทุกคำหยาบ ทุกข้อมูลเท็จ แต่ที่ผมเสียใจคือ ผลกระทบที่มีต่อครอบครัวและคนที่ผมรัก การเมืองที่ผมสร้าง ผมไม่ได้สร้างบนความเกลียด ความกลัว แต่ผมทำบนความเชื่อ เชื่อที่อยากเห็นความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย” นายกรณ์ระบุ